พลังคนสร้างสรรค์โลก เชฟรอนตามรอยพ่อของแผ่นดินปี 9

ดำเนินโครงการเข้าสู่ปีที่ 9 สำหรับ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ภายใต้การนำของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการน้อมนำศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคนในลุ่มน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นหนทางรอดที่ยั่งยืนในทุกวิกฤต

ตลอดระยะเวลา 9 ปีผ่านมา “ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” หรือ “อาจารย์ยักษ์” ผู้ก่อตั้งสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เป็นผู้นำ และเชิญชวนสังคมให้หันมาทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง และจัดผังการเกษตรแบบ “โคก หนอง นา” ซึ่งเป็นรูปแบบช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม แล้ง ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยทุกปี พร้อมทั้งส่งเสริมให้คนหันมาทำเกษตรตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

โคก หนอง นา ฝ่าวิกฤต

“ดร.วิวัฒน์” กล่าวว่า ปัจจุบันทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศให้โลกพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการทำเกษตรแบบโคก หนอง นา ตามศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่น นับเป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้

เพราะในโคก หนอง นา จะมีป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งเป็นตัวสร้างสมดุลของระบบนิเวศในพื้นที่จนนำมาสู่ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) จากสิ่งมีชีวิตที่อยู่ทั้งในน้ำ ใต้ดิน บนดิน หรือในป่า อันไม่เพียงช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และแก้ปัญหาภัยพิบัติอย่างยั่งยืน แต่ยังช่วยให้มีอาหารการกินสมบูรณ์ เกิดความมั่นคงทางอาหาร เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของสหประชาชาติในการขจัดความอดอยาก (zero hunger) ด้วย

การทำเกษตรแบบโคก หนอง นา จึงเกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และช่วยโลกไปพร้อม ๆ กัน

ที่สำคัญคือหลักกสิกรรมธรรมชาติ คือการทำเกษตรแบบพอเพียง ทำเกษตรแบบอินทรีย์ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนของภาคเกษตรได้ จากข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ระบุว่า ภาคการเกษตรมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนสูง ส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ก๊าซมีเทนเกิดมากในการทำเกษตรเชิงเดี่ยว หรือเลี้ยงสัตว์ประเภทเดียวที่เป็นฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ และใช้ยาปฏิชีวนะก็จะทำให้กระบวนการย่อยสลายเกิดก๊าซมีเทนขึ้น ไม่ว่าจะในลำไส้ของสัตว์ หรือมูลสัตว์ที่ถ่ายทิ้งออกมา

แม้แต่กระบวนการหมักของฟาง กิ่งไม้ ใบไม้ที่มีสารเคมีอยู่ด้วย ก็สามารถแก้ได้ด้วยการใช้น้ำสมุนไพรรสจืด เพื่อกระตุ้นกลไกการทำงานของจุลินทรีย์ให้สามารถย่อยสลายอย่างรวดเร็ว โดยไม่เกิดก๊าซมีเทน ในทางตรงกันข้ามกลับกระตุ้นให้เกิดออกซิเจนขึ้นมาด้วยซ้ำ

“ดร.วิวัฒน์” กล่าวต่อว่า “ตอนนี้สังคมเริ่มตอบรับและให้ความสนใจกับโคก หนอง นา โมเดลมากขึ้น ถึงกับมีธุรกิจรับขุด รับทำโคก หนอง นา เกิดขึ้น ซึ่งผมหวังว่าคนรุ่นใหม่จะช่วยกันเผยแพร่ และสานต่อศาสตร์พระราชาให้ยั่งยืนต่อไป เพราะเป็นคู่มือสำคัญที่จะช่วยให้คนรอดพ้นทุกวิกฤต มีกินมีใช้”

ตามรอยพ่อฯปี 9 สู่ลุ่มน้ำป่าสัก

“อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาโครงการตามรอยพ่อฯเดินหน้าเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด 9 ปี แห่งพลังสามัคคี ฟันฝ่าทุกวิกฤต สู่ทางรอดที่ยั่งยืน ผ่านกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของโครงการทั้งเว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลิปวิดีโอคู่มือสู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติ ที่ให้ความรู้พื้นฐานแก่ผู้สนใจลงมือทำการเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่น

“เนื่องจากเราพบว่าตอนนี้มีคนสนใจทำเรื่องโคก หนอง นา จำนวนมาก ซึ่งเราพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจ เนื่องจากระหว่างทางที่เราดำเนินโครงการมาสู่ปีที่ 9 เราพบว่ายังมีหลายคนเข้าใจผิดว่าทำแล้วรวย จนทำให้เกิดเกษตรกรตาโต หรือเกษตรกรที่ทำเพราะหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว

สิ่งที่ผมกังวลคือถ้าทำแบบไม่มีความเข้าใจมากพอจะหลงทาง กลายเป็นว่าทำแล้วเจ๊ง พอผลลัพธ์ไม่ดี สุดท้ายทำให้ชื่อของโครงการด้อยค่าลงไป เพราะเราพยายามบอกเสมอว่า ถ้าจะเริ่มทำ ต้องเริ่มจากพื้นที่เล็ก ๆ ค่อย ๆทำ ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนเรียนรู้กันไป เพราะการทำโคก หนอง นา คือการทำเกษตรแบบพอเพียง พอใจในสิ่งที่มีอยู่”

ถ้าเปรียบการทำเกษตรเหมือนการทำธุรกิจก็คือการลดค่าใช้จ่าย และสิ่งที่จะได้กลับคืนมาคือกำไร

“อาทิตย์” กล่าวต่อว่า สำหรับปีนี้กลับมาจัดกิจกรรมในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการตามรอยพ่อฯเมื่อ 9 ปีที่แล้วอีกครั้ง ซึ่งเป็นพื้นที่แรกจากเป้าหมายที่เราตั้งไว้ 3 แห่งภายในปีนี้ โดยเลือกพื้นที่เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี ขนาด 6 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัวกลาง ต.จักราช อ.จักราช จ.นครราชสีมา ของ “คุณสุณิตา เหวนอก” ซึ่งเป็นหนึ่งในคนต้นแบบ “คนหัวไวใจสู้” ของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ

“สำหรับกิจกรรมที่ทำประกอบครั้งนี้ เราทำแปลงปลูกผักอินทรีย์ ขุดปรับคลองไส้ไก่รอบแปลงนาและหนองน้ำ ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ห่มฟาง ใส่ปุ๋ยแห้ง ปุ๋ยน้ำ พร้อมกับทำเครื่องกรองน้ำถัง 200 ลิตร ทำเครื่องสูบน้ำพลังงานโซลาร์เซลล์ แปรรูปผลผลิต อาทิ สบู่ฟักข้าว แชมพูดอกอัญชัน กล้วยหมัก ชาตะไคร้ ไข่เค็ม โดยดำเนินมาตรการความปลอดภัยทางสาธารณสุข และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้จะลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นลำดับต่อไป”

โมเดลเสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี

“สุณิตา เหวนอก” เจ้าของพื้นที่เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี กล่าวว่า “ดิฉันเป็นคนโคราชโดยกำเนิด มีพี่น้อง 4 คน ตัวเองเป็นลูกคนที่ 2 ครอบครัวเป็นเกษตรกรที่ทำงานหนัก มีแต่หนี้สิน เมื่อจบ ป.6 ก็ทำสวน ทำนา กับที่บ้าน พออายุ 16-17 ปี พ่อแม่ให้ไปทำงานโรงงานจึงแอบเรียน กศน. โดยทำงานส่งตัวเองเรียน และส่งเงินให้ที่บ้านด้วย จึงต้องทำงานหนักมาก ในที่สุดก็เรียนจนจบปริญญาตรี พออายุ 29 ปี สอบติดราชการ และเรียนต่อจนจบนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน อายุ 30 ปีกว่าทำงานเป็นนิติกรที่รังสิต ปัจจุบันย้ายมาอยู่ที่อำเภอจักราช”

“จุดเปลี่ยนคือหลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และมีโอกาสดูรายการสารคดีโทรทัศน์แสงจากพ่อสู่ความยั่งยืนทุกคืน ทำให้เกิดคำถามกับตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ จนมีโอกาสพบอาจารย์เข้ม (ไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ) จึงได้ชวนให้มาเป็นจิตอาสาช่วยโครงการท่องเที่ยวตามศาสตร์พระราชาของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา

จากนั้นจึงไปอบรมการทำเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ อบรมออกแบบโคก หนอง นา โมเดล ที่วัดหนองสองห้อง จ.นครนายก และอบรมศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก จ.ลพบุรี ก่อนที่จะตัดสินใจกลับบ้านเพื่อลงมือทำงานบนที่ดินของตัวเอง โดยปลูกพืชต่าง ๆ เช่น กล้วย ละมุด อ้อยพันธุ์สุพรรณ 50 ถั่วลิสง เป็นต้น”

“ช่วงแรกที่ลงมือทำ แม่ไม่เห็นด้วย เพราะเสียดายที่ดิน แต่พอปีนี้ สิ่งที่เราทำเริ่มผลิดอกออกผล แม่ก็เข้ามาดูเกือบทุกวัน รู้สึกว่าตัวเองคิดถูกแล้วที่เดินตามรอยพ่อ แม้จะต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก แต่ก็คุ้มค่า จนทำให้ครอบครัวยอมรับได้ ทั้งยังสร้างความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่น สร้างความมั่นคงปลอดภัยทางอาหารให้ครอบครัว จนทำให้ตัวเองรู้สึกภูมิใจ และรู้สึกว่าตัวเองเป็นแรงบันดาลใจให้กับเพื่อน ๆ ทำตามอีกด้วย โดยหลังจากนี้อยากทำสวนสมุนไพรเพิ่มในพื้นที่เพื่อดูแลสุขภาพของคนในครอบครัว”

นับว่ามาถูกทางอย่างยิ่ง