วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค. “บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม” ส่องมาตรการทั่วโลก

ภาพ: Pawel Czerwinski/unsplash

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นในวันงดสูบบุหรี่โลก “บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม” ไทยเดินหน้าห้ามสูบบุหรี่บนพื้นที่ชาดหาด ต่างประเทศส่งเสริมผลิตภัณฑ์การสูบทางเลือก

วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 วันงดสูบบุหรี่โลก ตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) เริ่มจัดงานสร้างความตระหนักให้ประชากรโลกเล็งเห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ ต่อทั้งสูบบุหรี่ และผู้ไม่สูบบุหรี่ที่เป็นผู้รับควันบุหรี่มือสอง มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1988

สำหรับปี 2565 องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นในการรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก คือ Tobacco: Threat to our environment (บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม) ที่เกี่ยวข้องวัฏจักรการผลิตยาสูบตั้งแต่การ ทำไร่ยาสูบ การบ่มใบยาสูบ ขบวนการผลิตภัณฑ์ยาสูบ วัสดุหีบห่อยาสูบ การบริโภคยาสูบ และขยะจากยาสูบ

ห้ามสูบบุหรี่พื้นที่ชาดหาด

ปีนี้ในประเทศไทย มูลลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับองค์การอนามัยโลก ประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่าย จัดเสวนาชวนคนไทยตระหนักถึงอันตรายจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ ทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

โดย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ประเทศไทยได้นำวาระที่องค์การอนามัยโลกเรื่องบุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาขยายผล โดยออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่บนพื้นที่ชาดหาดเพื่อป้องกันขยะจากก้นบุหรี่ ที่มีมากถึง 4.5 ล้านล้านชิ้นทั่วโลก ก้นบุหรี่ที่ถูกทิ้งทั่วโลก 4.5 ล้านล้านชิ้น จะมีจำนวนกว่า 2.5 พันล้านชิ้นที่ถูกพบในประเทศไทย ขยะเหล่านี้มีส่วนทำให้นกทะเลหนึ่งล้านตัวและสัตว์ทะเลกว่าหนึ่งแสนตัวต้องตายจากพลาสติก

บุหรี่ทำลายป่า

พญ.โอลิเวีย นีเวอราส ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาชวนคนไทยตระหนักถึงอันตรายจากผลิตภัณฑ์ยาสูบว่า ปีนี้ WHO ให้ความสำคัญกับประเด็นการทำลายป่าเพื่อทำไร่ยาสูบ เพราะทั่วโลกมีการทำลายผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ไปแล้วกว่า 9,375 ล้านไร่ กระทบต่อการเข้าถึงความมั่นคงทางอาหาร

การผลิตยาสูบยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 84 ล้านเมตริกตันต่อปี ใช้น้ำในการเพาะปลูก ผลิต กระจายผลิตภัณฑ์ 3.7 ลิตรต่อบุหรี่หนึ่งมวน ที่สำคัญก้นบุหรี่เป็นขยะปนเปื้อนสารเคมี นอกจากนั้น ยังสร้างความเสี่ยงทางด้านสุขภาพต่อเกษตรกรในไร่ยาอีกด้วย ปัญหาทั้งหมดนี้สามารถประมาณเป็นรมูลค่าความสูญเสียทางสุขภาพและเศรษฐกิจ 3.5 แสนล้านบาทต่อปี

พฤติกรรมสูบบุหรี่ของคนไทย

จากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของประชากรชาวไทยในปี พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) แสดงให้เห็นว่า ผู้สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ 5.1 ล้านคน ไม่เคยหรือไม่อยากเลิกบุหรี่ ขณะที่ 4.7 ล้านคนพยายามเลิกบุหรี่อย่างน้อย 1 ครั้งไปจนถึง 5 ครั้งขึ้นไป โดยราว 60% มีความตั้งใจที่จะเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม การศึกษาโดยกรมควบคุมโรค ของแคนาดาในปี พ.ศ. 2559 ชี้ให้เห็นว่าผู้สูบบุหรี่อาจต้องพยายามเลิกบุหรี่มากถึง 30 ครั้งก่อนที่จะประสบความสำเร็จ จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้สูบบุหรี่ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อให้พวกเขาเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ หรือมีผลิตภัณฑ์อื่นที่มาทดแทนการสูบบุหรี่ได้

ยุโรปส่งเสริมผลิตภัณฑ์สูบไร้ควัน

ในฝั่งของต่างประเทศ คณะกรรมการพิเศษด้านการป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง (Special Committee on Beating Cancer (BECA) ของรัฐสภายุโรปเรียกร้องให้สหภาพยุโรป (EU) มีการดำเนินการที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีการป้องกันโรคมะเร็ง ซึ่งรวมถึงการพิจารณาบทบาททางเลือกของผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบไร้ควันในการช่วยให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่ได้

ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้มีขึ้นหลังได้มีการศึกษารายงานของ Public Health England ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขชั้นนำของสหราชอาณาจักร ที่แสดงให้เห็นว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่

รัฐสภายุโรปจึงถือเป็นสภานิติบัญญัติแห่งแรกในโลกที่ยอมรับอย่างเป็นทางการว่า การลดอันตรายจากยาสูบ (Tobacco Harm Reduction) เป็นกลยุทธ์ด้านสาธารณสุข และเป็นมาตรการล่าสุดจากฝั่งยุโรปที่ให้ความหวังแก่ผู้สูบบุหรี่ที่พยายามลดอันตรายจากบุหรี่ให้กับตัวเอง

ต่างประเทศลดเข้มงวด ผลิตภัณฑ์ทางเลือก

ความสำเร็จของสหราชอาณาจักรและประเทศอื่น ๆ ในการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ ส่งผลให้สถาบันเศรษฐกิจ (IEA) ไม่สนับสนุนการใช้กฎระเบียบเข้มงวดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยความเสี่ยงให้กับผู้สูบบุหรี่ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน และบุหรี่ไฟฟ้า โดยทาง IEA ให้เหตุผลว่าผลิตภัณฑ์ทางเลือกเหล่านี้เป็นตัวช่วยที่ทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดน้อยลง

ประเด็นสำคัญจากรายงานนี้คือ การไม่ควรใช้แนวทางการควบคุมที่เข้มงวดจนเกินไป เช่น ในประเทศออสเตรเลียที่ต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้นหากต้องการซื้อบุหรี่ไฟฟ้า และไม่ได้หมายความว่าควรให้ปล่อยให้มีการใช้อย่างเสรีได้ แต่ควรมีการควบคุมอย่างเหมาะสม และควรมีการประเมินความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงทางตรงและทางอ้อมให้มีความสมดุลมากขึ้น

มูลนิธิวิจัยโรคมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร (Cancer Research UK) ยอมรับว่า ความอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้ามีความใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์สำหรับการให้นิโคตินทดแทน (NRT)

ความขัดแย้งเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในไทย

ในประเทศไทยยังมีการถกเถียงกันว่าบุหรี่ไฟฟ้าควรถูกกฎหมายหรือไม่ เมื่อยังมีความคิดเห็นและงานวิจัยจากทั้งสองฝ่ายที่ไม่สอดคล้องกัน สหภาพยุโรปจึงอาจเป็นตัวอย่างและใช้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก เพื่อรวมกลยุทธ์การลดอันตรายจากยาสูบไว้ในกฎหมายควบคุมยาสูบ ด้วยกฎระเบียบที่เหมาะสม แทนการออกกฎหมายสั่งห้าม

เพราะทางเลือกเหล่านี้จะเป็นโอกาสด้านสาธารณสุขที่มีคุณค่าสำหรับผู้สูบบุหรี่ ไม่เช่นนั้นเราต่องเห็นคนไทยกว่า 70,000 คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรทั้งที่เราสามารถช่วยผู้สูบบุหรี่เหล่านั้นให้มีทางเลือกทีดีกว่าการสูบบุหรี่ต่อไปได้ถ้าเขาเหล่านั้นยังตัดสินใจที่จะไม่เลิกสูบบุหรี่และยังจะสูบบุหรี่ต่อไป