ฟู้ด อินกรีเดียนท์ เอเชีย 2022 ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

ฟู้ด อินกรีเดียนท์
ผู้เขียน : ปนัดดา ฤทธิมัต

อินโดนีเซียส่งไม้ต่อให้กับประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน “ฟู้ด อินกรีเดียนท์ เอเชีย 2022” ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อสร้างโอกาสในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มภายในประเทศสู่การแข่งขันบนเวทีโลก

เมื่อวันที่ 7-9 กันยายน 2565 ที่จาการ์ตา อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็กซ์โป กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้จัดงาน “ฟู้ด อินกรีเดียนท์ เอเชีย 2022” หรือ “Fi Asia 2022” ครั้งที่ 25 ซึ่งตลอดงานทั้ง 3 วัน มีผู้เข้าชมงานจากหลายประเทศทั่วโลกกว่า 12,000 คน สะท้อนการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในอาเซียนที่เติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยอินโดนีเซียและไทยเติบโตสูงสุดในภูมิภาค พร้อมส่งไม้ต่อมายังประเทศไทย

นวัตกรรมกระตุ้นการเติบโต

นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารในอาเซียนยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการเติบโตนั้น นอกจากความต้องการของตลาดและการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคแล้ว การพัฒนานวัตกรรมและกระบวนการการผลิตใหม่ ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้มูลค่าโดยรวมของอุตสาหกรรมเติบโต

ซึ่งส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มก็มีความสำคัญกับอุตสาหกรรมอาหาร เพราะช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อาทิ ส่วนผสมที่ช่วยปรุงรสแต่งกลิ่น สี ส่วนผสมที่ช่วยยืดอายุของอาหารให้เก็บรักษาได้นานขึ้น จะสามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหาร ถือว่าเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภค

การจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นการกลับมาจัดแบบเต็มรูปแบบอีกครั้งในรอบ 3 ปี โดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากนักธุรกิจ นักลงทุน และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

เนื่องจากอินโดนีเซียพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศจากประชากรกว่า 270 ล้านคน และมีการเติบโตด้านเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทำให้เป็นตลาดที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก

นอกจากการจัดแสดงนวัตกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มการเจรจาทางธุรกิจแล้ว นิทรรศการยังจัดในรูปแบบสมาร์ทอีเวนต์เป็นครั้งแรกของเอเชีย โดยมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาสร้างประสบการณ์ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ร่วมงานแบบครบวงจร ภายในงานยังมีการจัดแสดง pavilion นานาชาติ อาทิ สหรัฐอเมริกา อินเดีย มาเลเซีย และไทย

ภายในงาน Fi Asia 2022 มีเทคโนโลยีส่วนผสมอาหารที่เปิดตัวครั้งแรกภายในงานจำนวนมาก รวมถึงนวัตกรรมส่วนผสมอาหารใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด อาทิ ส่วนผสมอาหารสำหรับแต่งสี กลิ่นและรส ที่สกัดจากธรรมชาติ (flavor and fragrance), ผลิตภัณฑ์นมทางเลือก (alternative milk),

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีหน้าที่เฉพาะเจาะจงในการส่งเสริมสุขภาพ เช่น จุลินทรีย์พรีและโปรไบโอติกส์ ไฟเบอร์ และส่วนผสมอาหารที่ช่วยลดผลกระทบจากความเครียด นอกจากนี้ ยังมีส่วนผสมอาหารที่ช่วยพัฒนาเนื้อสัมผัส ความคงตัว รวมถึงลดต้นทุนในการผลิตและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สร้างโอกาสที่ดีบนเวทีโลก

ผลสำเร็จจากนักธุรกิจที่เข้าชมงานและร่วมเจรจาธุรกิจภายในงานนั้น เป็นผลจากความตื่นตัวของผู้ประกอบการที่กำลังมองหาโอกาส และส่วนผสมอาหารใหม่เพื่อสร้างจุดเด่นให้ผลิตภัณฑ์ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ซึ่งงาน Fi Asia 2022 ที่จะจัดขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย

ความพิเศษคือ เป็นการเปิดตัว Vitafoods Asia 2022 งานแสดงสินค้าด้านโภชนเภสัช นวัตกรรมการผลิตอาหารเสริม การรับจ้างผลิต บรรจุภัณฑ์ และบริการด้านโภชนาการต่าง ๆ ครั้งแรกในประเทศไทย สร้างโอกาสที่ดีในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มภายในประเทศให้แข่งขันบนเวทีระดับโลกได้ต่อไป

สงครามกระทบความมั่นคงทางอาหาร

ขณะที่องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2565 ทั่วโลกจะมีประชากรประมาณ 8 พันล้านคน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร นำมาสู่ปัจจัยด้าน “ความมั่นคงทางอาหาร” ซึ่งเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากผู้นำประเทศทั่วโลกหลังได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มโลก เนื่องจากทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเป็นผู้ส่งออกอาหารและวัตถุดิบอาหารลำดับต้น ๆ ประกอบกับการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร-เกษตรเพิ่มขึ้น

ปี 2564 ประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรและวัตถุดิบอาหาร 506,970 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 2563 ร้อยละ 25.5 ขณะที่กลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปมีมูลค่าส่งออก 600,480 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารอันดับที่ 13 ของโลก โดยมีมูลค่ากว่า 1.25 ล้านล้านบาท ขณะที่การส่งออกอาหารในไตรมาส 1/2565 มีมูลค่า 286,022 ล้านบาท เติบโต 28.8% เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว และการที่ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 5 ปี ทำให้ราคาอาหารโลกพุ่งสูงขึ้น ส่งผลดีต่อสินค้าเกษตรและอาหารของไทย

ดันกรุงเทพฯเป็น “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์”

สินค้าส่งออกกลุ่มอาหารของไทยที่น่าสนใจและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ ผัก ผลไม้สด น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ไขมัน และน้ำมันจากพืชและสัตว์ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งในปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนมุ่งส่งเสริมยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนา (R&D) ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้พัฒนา และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน

และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ การเชื่อมโยงงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคต และมีความพยายามจากหลายหน่วยงานผลักดันให้กรุงเทพฯเป็น “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์” หรือ “ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมอาหารของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระดับโลก”