สุจิตต์ วงษ์เทศ ชี้ ศาสนาผีเป็นสากล แต่สังคมไทยไม่ยอมรับ

“สุจิตต์ วงษ์เทศ
สุจิตต์ วงษ์เทศ กวี นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักประวัติศาสตร์ และนักปราชญ์

สุจิตต์ วงษ์เทศ ชี้ ศาสนาผีเป็นศาสนาสากลที่ทั่วโลกยอมรับ แต่ในไทยกลับนิยามเป็นความเชื่อชุดหนึ่งเท่านั้น

วันที่ 2 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักพิมพ์มติชนจัดเสวนาในหัวข้อ “ศาสนาผี ในไทยหลายพันปี ก่อนประวัติศาสตร์ ถึงปัจจุบัน” บรรยายโดย “สุจิตต์ วงษ์เทศ” กวี นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักประวัติศาสตร์ และนักปราชญ์ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวทางวัฒนธรรมตลอดจนวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

ภายในงานมีกิจกรรม Special Talk และการอ่านบทกวี “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ขบคิดสังคมไทยผ่านโคลงกลอน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ พร้อมเปิดตัวหนังสือ “ข้างขึ้นข้างแรม” ผลงานเล่มใหม่ของขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ

ดร.ป๋วย อุ่นใจ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ ในงานเสวนาในหัวข้อ “ศาสนาผี ในไทยหลายพันปี ก่อนประวัติศาสตร์ ถึงปัจจุบัน” จัดโดยสำนักพิมพ์มติชน

สุจิตต์กล่าวว่า คนส่วนมากมักอ้างตามประเพณีว่านับถือศาสนาพุทธและไม่ได้นับถือศาสนาผี แต่หากพิจารณาแล้ว ศาสนาผีล้วนอยู่ในสังคมรอบตัว ที่เห็นได้ชัด คือ ศาลผีในบ้านหรือศาลพระภูมิ ที่เรียกว่า “พระภูมิเจ้าที่” พิธีบายศรีสู่ขวัญ การทำขวัญนาค งานมหรสพในงานศพ การเก็บอัฐิคนตายไว้ในบ้านและในวัด รวมถึงการลอยกระทงขอขมาผีน้ำผีดิน เป็นต้น

ศาสนาผีเป็นจุดเริ่มต้นและยาวนานกว่าทุกศาสนาใด ๆ เพียงแต่คนไทยและนักวิชาการไทยจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับและนับเป็นแค่ความเชื่อชุดหนึ่งเท่านั้น

ศาสนาผีเป็นศาสนาสากล มีครั้งแรกพร้อมกับมนุษย์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว และมีศาสนสถานขนาดใหญ่โต ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เช่น พีระมิดในอียิปต์ สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ในจีน เป็นต้น

ความเชื่อเรื่อง ขวัญ และหญิงเป็นใหญ่ในศาสนาผี

ศาสนาผีเชื่อเรื่อง “ขวัญ” เป็นสำคัญ ซึ่งไม่เหมือนและต่างกันมากกับวิญญาณในศาสนาพราหมณ์-พทุธ โดยวิญญาณในศาสนาพราหมณ์-พุทธ มีดวงเดียวในมนุษย์ทุกคน เมื่อคนตายวิญญาณจะออกจากร่างและไปเกิดใหม่ในทันที ส่วนขวัญในศาสนาผีนั้นมีนับไม่ถ้วน แม้คนจะตายแต่ขวัญไม่ตาย และจะถูกเรียกว่า “ผี”

ทั้งนี้ การเรียกขวัญทำขึ้นจากฐานคิดที่ว่า ขวัญนั้นหลงทางและต้องตีกลองกล่าวร้องเพลง เพื่อให้ขวัญกลับมาถูกที่ เป็นที่มาของปี่พาทย์และมหรสพของงานศพในปัจจุบัน

นอกจากนี้ สุจิตต์ยังกล่าวอีกว่าการสวดอภิธรรมศพในปัจจุบันก็มาจากศาสนาผี และเริ่มมีขึ้นไม่นานในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งปรับมาจากการรำสวดของศาสนาผีซึ่งมีมาแต่โบราณ แต่มีความคึกคะนองมากเกินไป ดังนั้นการสวดพระอภิธรรมจึงมาจากเสียงเรียกขวัญในศาสนาผี ซึ่งไม่มีในพุทธศาสนาที่อินเดียและลังกา

ทั้งนี้การทำพิธีต่าง ๆ ในศาสนาผีจะกระทำโดยผู้หญิง เนื่องจากศาสนาผียกย่องหญิงให้มีอำนาจเหนือชาย ซึ่งในตะวันตกจะถูกเรียกว่าเทพี ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเรียกว่า แม่ หรือ เจ้าแม่ โดยศาสนาผีมีความเชื่อว่าการเข้าทรงคือการติดต่อกันระหว่างผีกับคน และร่างทรงต้องเป็นผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าชุมชนเท่านั้น ซึ่งจะมีฐานะเป็นเจ้าของพิธีกรรม

สำนักพิมพ์มติชน
สำนักพิมพ์มติชนจัดเสวนาในหัวข้อ “ศาสนาผี ในไทยหลายพันปี ก่อนประวัติศาสตร์ ถึงปัจจุบัน” บรรยายโดย “สุจิตต์ วงษ์เทศ”

โลกหลังความตายในศาสนาผี

ประเด็นสำคัญที่สุดของศาสนาผีคือเรื่องหลังความตายซึ่งจะไม่มีโลกหน้า เพียงแต่ไปอยู่ในโลกของผี ทั้งนี้การปฏิบัติต่อคนตายจะถูกแบ่งตามชนชั้นของคนในสังคม ชาวบ้านธรรมดาจะไม่มีพิธีกรรมอะไรมากนัก แต่ชนชั้นนำหรือหัวหน้าเผ่าพันธุ์จะมีพิธีกรรมที่ยุ่งยากกว่า มีการทำพิธีในลานกลางหมู่บ้าน ซึ่งสุจิตต์เปรียบเทียบว่าเหมือนกับสนามหลวง ซึ่งมีอุดมคติเดียวกันเพียงแต่เป็นระดับที่ใหญ่กว่าในสมัยหลัง

หลังจากตายแล้วและเรียกขวัญกลับมาไม่ได้ จะต้องมีการส่งขวัญขึ้นสู่ฟ้าเพื่อไปอยู่กับผีฟ้า โดยหมอขวัญ หมอแคน จะร้องพรรณนาสั่งเสียและฟ้อนรำเป็นบทเพลงที่บอกเส้นทางขึ้นสู่ฟากฟ้า

อีกวิธีหนึ่งคือการส่งขวัญด้วยเรือ ซึ่งอยู่บนฐานคิดที่ว่าบนท้องฟ้ามีผืนน้ำกว้างใหญ่อยู่ ดังนั้นจึงต้องใช้เรือนำทางขวัญ ซึ่งพบหลักฐานเป็นรูปเรือโบราณบนกลองมโหระทึกราว 2,500 ปีมาแล้ว

สุจิตต์มีความคิดเห็นว่าอีกหนึ่งผู้นำทางขวัญ คือ สุนัข เนื่องจากเป็นผู้รู้ทิศทางและนำทางให้มนุษย์ในการล่าสัตว์ โดยจะพบรูปเขียนสุนัขหลายแห่งในถ้ำและหน้าผ้า อีกทั้งยังมีการฆ่าสุนัขเพื่อให้ขวัญของสุนัขนำทางขวัญของคนตายด้วยเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว

หลังจากส่งขวัญขึ้นฟ้าแล้วกระดูกจะถูกใส่ไว้ในภาชนะดินเผาและนำไปฝังดิน โดยเรียงให้มีโครงร่างเหมือนมนุษย์ แล้วนำไปไว้ใต้บ้านที่ทำไว้เพื่อคนตายซึ่งเรียกว่า “เฮือนแฮ่ว”

ภาพชนะดินเผาใส่กระดูกคนตายจึงกลายเป็นต้นแบบโกศ และการเก็บกระดูกคนตายเป็นต้นแบบของการเก็บอัฐิไว้ในบ้านและในวัด ซึ่งไม่ได้มาจากพุทธศาสนา เนื่องจากทางอินเดียนั้นไม่มีพิธีกรรมดังกล่าว นอกจากนี้พิธีบังสุกุลหรืออุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนเจ้าของอัฐิในวันสงกรานต์ก็มีที่มาจากศาสนาผีดังกล่าวด้วยเช่นกัน ไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธเลยแม้แต่น้อย

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ศาสนาผี ประเพณี และวิถีชีวิต

สุจิตต์กล่าวว่า ไทยนำศาสนาพุทธมาครอบงำศาสนาผี จึงทำให้ผู้คนหลงลืมและคิดว่าประเพณีทุกอย่างที่เกิดขึ้นในแต่ละปีนั้นมาจากศาสนาพุทธ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เริ่มจากการขึ้นปีนักษัตรใหม่ในช่วงเดือนอ้าย (ธันวาคม) ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีตามจันทรคติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มาจากศาสนาผี ซึ่งพุทธจากอินเดียนั้นไม่มี

ถัดมาในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ จะเป็นช่วงเกี่ยวข้าว นวดข้าว และทำขวัญข้าว ซึ่งก็เป็นการบูชาผีทั้งสิ้น

ถัดมาจนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นหน้าแล้ง ก็จะมีพิธีกรรมเลี้ยงผีและขอฝนเนื่องจากไม่มีน้ำ ดังนั้นจึงต้องทำพิธีให้ฝนตกเพื่อเตรียมทำนาต่อไป

จากนั้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม ที่เป็นช่วงหน้าฝน ก็จะมีพิธีนาตาแฮกสู่การเริ่มทำนา ซึ่งเป็นที่มาของพิธีแรกนาขวัญในปัจจุบัน

ถัดมาจนถึงปลายปีก็จะเป็นช่วงขอขมาดินและน้ำที่ทำให้พืชผลทางการเกษตรงอกงามและให้ผู้คนได้อุปโภคบริโภคตลอดปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นประเพณีการแข่งเรือและลอยโคม (ลอยกระทงในปัจจุบัน) และเพื่อขอให้น้ำลดลงโดยเร็วเพื่อจะได้เกี่ยวข้าวในช่วงต้นปีต่อไป

พิธีที่เกิดขึ้นในรอบปีเหล่านี้เริ่มต้นจากศาสนาผี จากนั้นจึงค่อยถูกปรับเป็นพระราชพิธีในสมัยที่เริ่มมีรัฐและบ้านเมืองขึ้นในสมัยหลัง สุจิตต์กล่าว

คนในดินแดนไทยหลายชาติพันธ์ุนับถือศาสนาผีมากว่า 3,000 ปี แล้ว เพราะในสมัยนั้นยังไม่ได้ติดต่อและรับศาสนาพุทธหรือพราหมณ์มาจากอินเดีย

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าแท้จริงแล้ว คนไทยยังคงนับถือศาสนาผีควบคู่ไปกับการนับถือพุทธและพราหมณ์ ศาสนาผีจึงยังคงดำรงอยู่ในไทยมาแล้วหลายพันปี จวบจนปัจจุบัน