ย้อนกรุงธน ดูกรุงเทพฯ จากโบราณคดีและแผนที่

รศ.ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์-ดร.รัชดา โชติพานิช
รศ.ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์-ดร.รัชดา โชติพานิช
ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

แกะรอยกรุงธน-กรุงเทพฯ กับหนังสือ “โบราณคดีกรุงธนบุรี” และ “เขตคลองมองเมือง” ในงาน “Knowledge Book Fair เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม” ที่มิวเซียมสยาม โดยสำนักพิมพ์มติชนและพันธมิตรชั้นนำ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา

หนังสือโบราณคดีกรุงธนบุรี และเขตคลองมองเมือง ทั้ง 2 เล่มมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำความเข้าใจร่องรอยของอดีตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีวิธีการศึกษาที่แตกต่างและมีส่วนร่วมในเวลาเดียวกัน นั่นคือ วิธีการทางโบราณคดี และการใช้แผนที่ ซึ่งเป็นการเปิดเผยเรื่องราวของกรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ ในแง่มุมที่ใครหลายคนไม่เคยรู้

จากทะเลตมสู่กรุงธน ใต้ดินคือชีวิตในอดีต

รองศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ ผู้เขียนโบราณคดีกรุงธนบุรี กล่าวว่า ไม่เคยมีใครได้ยินคำว่า โบราณคดีเมือง ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเมือง ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันทุกคนเห็นเมืองที่มีระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ มากมาย ซึ่งตั้งอยู่บนอดีตที่ทับซ้อนกันและลึกลงไปหลายชั้นดิน ยิ่งเก่า ยิ่งลึก

งานขุดค้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเมืองสำคัญอย่างกรุงเทพฯ ว่ามีหลักฐานมากมายที่สามารถบ่งบอกเรื่องราวของเมืองได้ไม่แพ้กับเอกสารทางประวัติศาสตร์

ตัวอย่างที่สำคัญ คือ กำแพงเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ ที่อยู่ริมทางเท้า ตั้งแต่ท่าช้างไปจนถึงท่าพระจันทร์ และบริเวณโดยรอบ เพียงขุดลึกลงไป 50 เซนติเมตรก็สามารถพบได้แล้ว

นอกจากนี้ยังมีหลุมฝังศพจากโครงกระดูก บริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ซึ่งเป็นป่าช้าเดิมตั้งแต่สมัยอยุธยา

สองอย่างนี้เป็นตัวแทนของสิ่งที่ทับซ้อนกันอยู่ใต้เมือง ซึ่งผู้คนที่ใช้ชีวิตประจำวันอยู่บนดินไม่เคยรู้หรือคิดมาก่อนว่ามีสิ่งเหล่านี้ จนกระทั่งกลายเป็น บางกอก หรือกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน

รศ.ดร.กรรณิการ์เผยว่า หนังสือเล่มนี้ใช้โบราณคดีในการเล่าอดีตกรุงธนบุรีเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการเล่าถึง “รากของกรุงเทพฯ” ที่ส่วนมากมักเริ่มจากประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ย้อนไปมากสุดก็สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินเท่านั้น

แต่วิธีการทางโบราณคดีสามารถเริ่มด้วยทะเลตม ตั้งแต่ 4,000-5,000 ปีก่อน อย่างที่ทราบกันดีว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นทะเล จนเมื่อ 800 ปีที่แล้วเริ่มเกิดเป็นป่าชายเลน ค่อย ๆ พัฒนา มีดิน มีโครงสร้างเป็นแม่น้ำและลำคลองขึ้นมา จนกระทั่งมีการตั้งถิ่นฐาน

แถวโรงพยาบาลวชิรพยาบาล บริเวณสะพานกรุงธน (ซังฮี้) มีการขุดค้นพบป่าชายเลนโบราณ ซึ่งอยู่ใต้ชั้นดิน ผ่านการร่วมมือกับนักพฤกษศาสตร์

การวิเคราะห์ทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และการสำรวจทางศิลปกรรม รวมทั้งหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดี จึงเกิดเป็นโบราณคดีกรุงธนบุรีที่เพิ่งสร้าง

แม่น้ำเจ้าพระยาเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ และมีคูคลองมากมายที่เป็นเส้นเลือดฝอย กรุงเทพฯจึงเป็นร่างกาย ซึ่งไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากแม่น้ำลำคลอง

ดังนั้น ชีวิตของผู้คนและวัดวาอารามเก่าแก่ต่าง ๆ จึงอยู่ตามริมคลอง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ ถ้าศาลาหรือตัวโบสถ์หันเข้าสู่แม่น้ำที่เป็นเส้นทางสัญจรจะรู้ได้ทันทีว่าเป็นวัดโบราณ

หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าแม่น้ำเจ้าพระยาที่เห็นกันในปัจจุบันไม่ได้มีภูมิลักษณ์เช่นนี้เมื่อครั้งอดีต ในสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 21 ชาวต่างชาติอย่างโปรตุเกสเข้ามาค้าขาย จึงเกิดการขุดคลองลัดให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นตรง เพื่อการคมนาคมที่สะดวกขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บริเวณท่าช้าง โรงพยาบาลศิริราช จนถึงคลองบางกอกใหญ่ กรมอู่ทหารเรือ แถวนี้เป็นคลองลัดทั้งหมด

ทุกคนรู้ว่าวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นอย่างน้อย ถ้าพิจารณาจากรูปแบบทางศิลปกรรม แต่หากดูตามภูมิศาสตร์แล้ว วัดอรุณฯอาจจะสร้างตั้งแต่เริ่มมีการขุดคลองลัดเหล่านี้ อย่างน้อยตั้งแต่ช่วง ปี 2077 ก็เป็นได้ เพียงแต่ก่อนหน้าไม่เคยมีใครวิเคราะห์ในมุมนี้มาก่อน

บนผืนดินที่เราใช้ชีวิตกันอยู่นี้ ลึกลงไปประมาณ 80 เซนติเมตร คือ แผ่นดินในสมัยอยุธยา

ดูกรุงเทพฯ จากแผนที่ เล่าอดีต เขต คลอง เมือง

ด้าน ดร.รัชดา โชติพานิช ผู้เขียน เขตคลองมองเมือง เสนอว่า ร่องรอยทางประวัติศาสตร์นั้นปรากฏอยู่ในแผนที่ เเม้จะมีใช้ในช่วงไม่กี่ร้อยปีมานี้ก็ตาม

แผนที่สามารถใช้ทำความเข้าใจอดีตได้เป็นอย่างดี จุดเริ่มต้นจากการใช้แผนที่ในการศึกษาและเกิดเป็นหนังสือเล่มนี้มาจาก ทุกวันนี้ผู้คนใช้แผนที่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอยู่ในรูปแบบ google map บ่งบอกถึงความสำคัญของแผนที่ได้เป็นอย่างดี

หากย้อนไปในอดีต ชาวต่างชาติใช้แผนที่มานานแล้วก่อนประเทศไทย ระบบแผนที่ในประเทศไทยจึงเพิ่งเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 เท่านั้น กล่าวได้ว่า คนไทยกับแผนที่ไม่ค่อยรู้จักกันเท่าไรนัก

ทั้ง ๆ ที่เป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสถานที่ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ยิ่งถ้านำแผนที่ในแต่ละยุคสมัยมาเปรียบเทียบกัน ยิ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพได้อย่างมีนัยสำคัญ

ตัวอย่างเช่น วัดพระยาไกร ที่ปัจจุบันตัววัดไม่เหลืออยู่แล้ว แต่สามารถพบได้ในแผนที่สมัยโบราณ ซึ่งพบว่าคือ เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ ในปัจจุบัน

วัดพระยาไกร อาจมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และมีเศรษฐีมาบูรณะสมัยรัชกาลที่ 3 จนกระทั่งในรัชกาลที่ 5 ลูกหลานได้ทิ้งร้างไป และมีการเปลี่ยนแปลงให้ชาวต่างชาติมาเช่าเป็นออฟฟิศทำงาน สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แผนที่นั้นบอกเล่าเรื่องราวในอดีตได้

ดร.รัชดากล่าวต่อว่า เส้นต่าง ๆ ในแผนที่โบราณ คือ คลอง ซึ่งสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งกับวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ทั้งด้านคมนาคมและการเกษตร โดยจุดมุ่งหมายเริ่มแรกในการขุดคลอง คือ เพื่อการทำนาปลูกข้าว

ปัจจุบันกรุงเทพฯมี 50 เขต เมื่อพิจารณาดูแล้ว เป็นชื่อคลองถึง 28 เขต เช่น พญาไท บางกะปิ บางซื่อ บางเขน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ เป็นต้น

แผนที่บริเวณกรุงเทพฯ พ.ศ. 2464 แสดงถึงแนวคลองและวัดต่าง ๆ ซึ่งใช้สีเขียวแสดงพื้นที่สวน และสีเหลืองแสดงไร่นา

ฝั่งธนบุรีแต่ก่อนเป็นพื้นที่ทำนา และโครงข่ายของแม่น้ำคูคลอง ซึ่งเชื่อมกันไปจนถึงแม่น้ำท่าจีน เกิดเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนที่ติดต่อค้าขายกัน

วังเจ้านายใต้มิวเซียมสยาม

สำหรับ มิวเซียมสยาม พื้นที่จัดงานเทศกาลอ่านเต็มอิ่ม ที่เดิมทีเป็นกระทรวงพาณิชย์ และได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2548 ให้เป็นมิวเซียมสยาม ตอนนั้นจึงได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีเป็นบริเวณกว้างทั่วพื้นที่

ลานหน้าทางเข้ามิวเซียมสยาม ที่ปัจจุบันเป็นทางขึ้นลงของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน พบกองอิฐมากมายที่เรียงกันเป็นแนว ซึ่งเป็นฐานรากของอาคารแห่งหนึ่ง และจะไม่อาจรู้ได้เลยว่าสิ่งก่อสร้างแห่งนี้คืออาคารใดหากปราศจากแผนที่

เมื่อตรวจสอบแผนที่กรุงเทพ พ.ศ. 2430 พบว่า ลานด้านหน้ามิวเซียมสยามเคยเป็นท้องพระโรงของพระราชวังเจ้านายโบราณ ซึ่งมีถึง 5 วังในบริเวณโดยรอบ คือ วังท้ายวัดพระเชตุพน โดยมิวเซียมสยาม คือ วังของกรมหลวงอดิศรอุดมเดช ต้นสกุลสุขสวัสดิ์

ส่วนประตูด้านหลังที่ติดกับโรงเรียนราชินี ขุดพบป้อมปราการขนาดใหญ่ในสมัยอยุธยา คือ ป้อมวิไชยเยนทร์ ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ ครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้าง ซึ่งใหญ่กว่าป้อมวิไชยประสิทธิ์ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำเจ้าพระยาค่อนข้างมาก

แผนที่จึงเป็นการบอกเมือง บอกเรื่องของคน ไปจนถึงวัฒนธรรมและพัฒนาการต่าง ๆ นอกจากนี้ลำคลองและแม่น้ำในกรุงเทพฯ ยังสามารถอธิบายภูมินาม หรือที่มาของชื่อต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และโบราณคดีก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่อยู่ใต้ดินที่เราใช้ชีวิตกันทุกวันนี้เพียงไม่กี่เซนติเมตรเท่านั้น