ถอดรหัสความสำเร็จ เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม

ถอดรหัสความสำเร็จ เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา กับความมุ่งมั่นสร้างยอดขาย 1.5 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 จากที่เซ็นทรัล รีเทล ประกาศโรดแมป 5 ปี อัดงบฯลงทุน 50,000 ล้านบาท เพื่อสร้างยอดขาย 150,000 ล้านบาท พร้อมขยายอาณาจักรด้วยการเพิ่มจำนวนร้านค้าเป็น 600 สาขา ครอบคลุม 57 จังหวัด จาก 63 จังหวัดทั่วประเทศ และก้าวเป็นเบอร์ 1 ด้านออมนิแชนเนลในกลุ่มฟู้ด และอันดับ 2 ในกลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ของเวียดนาม ภายในปี 2570

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ถอดรหัสความสำเร็จของเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงการเดินทางสู่เป้าหมายที่วางไว้

เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม

โครงสร้างธุรกิจ

เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC ก่อตั้งขึ้นในปี 2533 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลภาพรวมกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและเปิดให้บริการห้างสรรพสินค้าเซน (ปัจจุบันคือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแอทเซ็นทรัลเวิลด์) ต่อมาในปี 2538 บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ในห้างสรรพสินค้าโรบินสัน และได้เปิดท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกในปี 2539 ซึ่งปัจจุบันเป็นเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

จากนั้นในปี 2540 เซ็นทรัลเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกหลากหลายประเภทอย่างเต็มรูปแบบ โดยเปิดร้านขายสินค้าเฉพาะทาง ได้แก่ เพาเวอร์บาย และซูเปอร์สปอร์ต ปี 2553 เปิดไทวัสดุ และเปิดโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์แห่งแรกในจังหวัดตรัง

ต่อมาในปี 2554 เซ็นทรัล รีเทล ได้เข้าซื้อกิจการรีนาเชนเต ซึ่งเป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้าหรูในอิตาลี นับเป็นการเข้าสู่ตลาดยุโรปครั้งแรก

ปี 2555 เข้าร่วมลงทุนกิจการแฟมิลี่มาร์ทในประเทศไทย และก้าวเข้าไปดำเนินธุรกิจที่เวียดนามในปีเดียวกัน ก่อนที่จะร่วมลงทุนในกิจการเหงียนคิม และลานชี มาร์ท ธุรกิจท้องถิ่นเวียดนามในปี 2558

เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม

ซึ่งในปีเดียวกันนี้ ทศ จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารรุ่นที่ 3 ได้มีการจัดระเบียบและจัดกลุ่มธุรกิจภายในบริษัทใหม่ทั้งหมด ส่งผลให้กลุ่มเซ็นทรัลลดความสำคัญของเซ็นทรัล รีเทลลง เหลือเพียงบริษัทโฮลดิ้งในการถือหุ้นโรบินสันเท่านั้น และได้เข้าซื้อกิจการบิ๊กซีที่เวียดนามในปี 2559

กระทั่งปี 2562 กลุ่มเซ็นทรัล ได้ปรับโครงสร้างอีกครั้ง โดยฟื้นฟูสภาพของ เซ็นทรัล รีเทล กลับมาใหม่ และรวมกลุ่มธุรกิจหลักที่ยังไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯให้อยู่ภายใต้การดูแลของ เซ็นทรัล รีเทล ทั้งนี้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในตลาดทุนระดับนานาชาติ

โดยบริษัทได้แปรสภาพเป็นบริษัท (มหาชน) จำกัด และได้ทำการเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) (ROBINS) และเพิกถอนหุ้นของ ROBINS ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากนี้ ได้เข้าซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดในธุรกิจเหงียนคิมประเทศเวียดนาม

หน่วยธุรกิจของเซ็นทรัล รีเทล

ภายหลังการปรับโครงสร้างครั้งสำคัญในปี 2562 เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในกิจการอื่นกว่า 130 บริษัท โดยแบ่งประเภทการประกอบธุรกิจออกเป็น 5 ด้าน ดังนี้

1.กลุ่มแฟชั่น ได้แก่ เซ็นทรัล และโรบินสัน ภายใต้บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด, ซูเปอร์สปอร์ต ภายใต้บริษัท ซี อาร์ ซี สปอร์ต จำกัด, เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป ภายใต้บริษัท เซ็นทรัล เทรดดิ้ง จำกัด และห้างสรรพสินค้ารินาเชนเตในอิตาลี

2.กลุ่มฮาร์ดไลน์ ได้แก่ ไทวัสดุ บีเอ็นบี โฮม และ go! WOW ภายใต้บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด, เพาเวอร์บาย และ go! Power ภายใต้บริษัท เพาเวอร์บาย จำกัด, เหงียนคิม ร้านจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม, ออฟฟิศเมท ภายใต้บริษัท ออฟฟิศเมท (ไทย) จำกัด, บีทูเอส

และธิงค์สเปซ บีทูเอส ภายใต้บริษัท บีทูเอส จำกัด, เมพ คอร์ปอเรชั่น ภายใต้บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และออโต้วัน ภายใต้บริษัท ออโต้วัน จำกัด

 

3.กลุ่มฟู้ด ได้แก่ ท็อปส์ ภายใต้บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด, แฟมิลี่มาร์ท ภายใต้ บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด, go! Lifestyle Mal ภายใต้บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน), บิ๊กซี go! Mini go! และท็อปส์ มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตหลักในเวียดนาม และลานชีมาร์ท ไฮเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่ชานเมืองและชนบทของเวียดนามตอนเหนือ

4.กลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ ได้แก่ โรบินสัน ไลฟ์สไตล์, ท็อปส์ พลาซ่า, บิ๊กซี และ GO! เวียดนาม

5.กลุ่มเฮลธ์แอนด์เวลเนส ได้แก่ ท็อปส์แคร์ ร้านขายยาและผลิตภัฑณ์เพื่อสุขภาพ จำหน่ายยาสามัญประจำบ้าน ยาใช้ภายนอก อาหารทางการแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์, ท็อปส์วีต้า ร้านจำหน่ายวิตามินและอาหารเสริมทั้งในและต่างประเทศ และเพ็ทแอนด์มี ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ ของใช้สุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงทุกชนิด

เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม

ส่องอาณาจักรเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม

เซ็นทรัลก้าวเข้าไปลงทุนในเวียดนามเมื่อปี 2555 โดยเริ่มจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายแบรนด์สินค้าแฟชั่น ซึ่งสร้างรายได้ราว 300 ล้านบาทในปี 2557 และเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจ ในปี 2558 เซ็นทรัลจึงร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นอย่างเหงียนคิม ผู้นำธุรกิจจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

และลานชี มาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ตในต่างจังหวัด จากนั้นปี 2559 ได้ซื้อกิจการบิ๊กซีที่เวียดนาม พร้อมทั้งเปิดตัวแบรนด์ค้าปลีก Look Kool และ Kubo ในปี 2560-2561

ต่อมาปี 2561 ได้ introduced แบรนด์ GO! ซึ่งเป็นช็อปปิ้งมอลล์ แล้วรีแบรนด์บิ๊กซีเป็น GO! และถือหุ้นเหงียนคิม 100% ในปี 2562 จากนั้นในปี 2563 ได้รีโนเวตศูนย์การค้า GO! ทั้งหมด 5 สาขา พร้อมเปิด GO! เพิ่มอีก 4 แห่ง และเปิดตัวแบรนด์ Mini go!

ปี 2564 รีโนเวต GO! 8 สาขา และเปิดเพิ่ม 3 สาขา อีกทั้งยังได้นำแบรนด์ Tops Market ที่ประสบความสำเร็จในไทยมาสู่เวียดนาม พร้อมกับเปิดตัว GO! App

และล่าสุดปี 2565 เซ็นทรัลได้ขยายสาขาศูนย์การค้า GO!, Tops Market และ Mini go! ทำให้ปัจจุบันเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม มีจำนวนร้านค้ามากกว่า 340 แห่ง พื้นที่รวมกว่า 1,200,000 ตารางเมตร ใน 40 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งคิดเป็น 85% ของ GDP เวียดนาม

เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม

กลยุทธ์เจาะตลาดค้าปลีกเวียดนาม

จากจุดเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจของเซ็นทรัลในเวียดนามที่นำแบรนด์แฟชั่นในเครือเข้าไปทำการค้าก่อน แต่ยังไม่ทำให้บริษัทแข็งแรงมากพอ จึงใช้วิธีร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นเพื่อเสริมแกร่งให้กับธุรกิจ แล้วเมื่อแข็งแรงพอจึงเข้าซื้อกิจการอย่างบิ๊กซีเวียดนามแล้วรีแบรนด์เป็น GO! ในเวลาต่อมา รวมถึงนำแบรนด์ท็อปส์ มาร์เก็ต ที่ประสบความสำเร็จในไทยเข้าไปขยายในเวียดนาม

นอกจากนี้ ในปี 2566 เซ็นทรัลเตรียมนำ Loyalty Platform ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่เปลี่ยนให้ลูกค้าทั่วไป กลายมาเป็นลูกค้าขาประจำ กลับมาพัฒนาใหม่ หลังจากเลิกใช้ไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน ในชื่อ “บิ๊กซู” เนื่องจากมีการรีแบรนด์บิ๊กซีเป็น Go!

โดยนำความเชี่ยวชาญของบัตร The 1 ที่ประสบความสำเร็จในไทยมาช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มให้ดีขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการกว่า 66 ล้านคน พร้อมยกระดับ Loyalty Platform ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะเข้าใจอินไซด์ของลูกค้า

โดยปัจจุบันฐานลูกค้าที่เข้าซื้อผ่านหน้าร้าน Go! มีจำนวน 47 ล้านคน/ปี, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และลานชี มาร์ท 15 ล้านคน/ปี และเหงียนคิม 1.7 ล้านคน/ปี ซึ่งยังไม่รวมอีก 3 ล้านคนในเหงียนคิมที่จะสามารถนำดาต้าเบสมาใช้เพื่อทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้กลับมาซื้อซ้ำได้

ส่วนในออมนิแชนเนลใน GO! App มีลูกค้าอยู่อีก 1.1 ล้านคน Top online user มีลูกค้า 1.2 แสนคน และ เหงียนคิม 3 ล้านคน ซึ่งดาต้าเบสดังกล่าวนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้เซ็นทรัลสามารถนำไปทำกลยุทธ์เพิ่มยอดขาย หรือทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำได้

เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม

โอกาสในการเติบโต

เนื่องจากขณะนี้มูลค่าตลาดโมเดิร์นเทรดในเวียดนามอยู่ที่ 11% และคาดว่าในปี 2570 จะอยู่ที่ 13% ขณะที่ Euromonitor คาดการณ์ภาพรวมตลาดโมเดิร์นเทรดเวียดนามมีมูลค่า 49,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นเทรดดิชั่นนอลเทรด 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และโมเดิร์นเทรด 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่ามูลค่าตลาดโมเดิร์นเทรดยังน้อย สะท้อนว่าผู้เล่นในตลาดมีไม่มาก ทำให้เซ็นทรัลมีโอกาสสูงในการรุกตลาดโมเดิร์นเทรด

อีกทั้งภาพรวมการเติบโตของประเทศเวียดนามยังแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนและไม่แน่นอน ทั้งนี้ ในปี 2566 คาดว่า GDP เวียดนาม จะโตอยู่ที่ 6.7% ซึ่งขยายตัวสูงเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเติบโตเป็น 2 เท่าของไทยในเร็ว ๆ นี้

เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม

ประกอบกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรในเมืองซึ่งในปี 2562 อยู่ที่ 34% และคาดว่าจะเติบโต 50% ในปี 2572 ขณะเดียวกันเซ็นทรัลมีคอนเซ็ปต์ที่เหมาะกับเมืองในแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตในเมืองหลักที่มีความซับซ้อนของการซื้อสินค้า หรือการใช้ชีวิตในเมืองรอง

โดยเซ็นทรัลมีฟอร์แมตหลากหลายที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มต่าง ๆ ทั้งยังมีเน็ตเวิร์ก รวมถึงอัตรานักท่องเที่ยว และการลงทุนของชาวต่างชาติในเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น