วิธีการทำหนังสั้นอย่างไรให้ปัง ตามสไตล์เต๋อ นวพล

เต๋อ นวพล

ทำภาพยนตร์สั้นอย่างไรให้ปัง ตามสไตล์ “เต๋อ-นวพล” ผู้กำกับและนักเขียนบทชื่อดัง ตั้งแต่การแปลบทเป็นภาพและเสียงให้ได้ เทคนิคการแคสต์นักแสดง การเลือกโลเกชั่น การตัดต่อ สิ่งสำคัญคือศิลปะที่ดีจะเกิดจากการจัดการที่ดี

จากกิจกรรมเวิร์กช็อปใน “Add to Life Project” โดย “ลาซาด้า” (Lazada) เวทีประกวดภาพยนตร์สั้นแนวตั้งที่ให้คนรุ่นใหม่ผู้มีความรักในการทำหนังมาปล่อยไอเดียและต่อยอด Brand Proposition ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Add to cart Add to life : ช้อปสิ่งที่ชอบ เพิ่มสิ่งที่ใช่ให้ชีวิต”

ผู้ชนะจะได้ร่วมสร้างภาพยนตร์สั้นแนวตั้งครั้งแรกกับลาซาด้า พร้อมโอกาสในการทำงานร่วมกับ “เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์” ผู้กำกับขวัญใจวัยรุ่น และเป็นตัวแทนจากประเทศไทยไปบอกเล่าเรื่องราวของลาซาด้าภายใต้คอนเซ็ปต์ “Add to Life : ค้นหา…สิ่งที่เติมเต็มทุกช่วงเวลาของชีวิต” เพื่อนำไปฉายใน 6 ประเทศอาเซียน โดยมีมูลค่าโปรเจ็กต์รวมกว่า 1 ล้านบาท

งานนี้ลาซาด้าผนึกกำลังผู้เชี่ยวชาญในวงการภาพยนตร์มากมายมาร่วมถ่ายทอดเทคนิคและแรงบันดาลใจในการทำภาพยนตร์สั้น นำโดยเต๋อ นวพล, อั๋น-วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร, กอล์ฟมาเยือน และโรส พวงสร้อย

“ประชาชาติธุรกิจ” เก็บวิธีการและเทคนิคดี ๆ ในการทำภาพยนตร์สั้นตามสไตล์เต๋อ นวพล มาฝากกัน ซึ่งอาจนำไปประยุกต์ใช้ ปรับเปลี่ยน หรือเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังเริ่มทำหนังสั้นได้ไม่มากก็น้อย

เต๋อ นวพล

แปลบทเป็นภาพและเสียงให้ได้

เต๋อ นวพล เริ่มด้วยปัญหาว่า “ทำไมเมื่อทำหนังออกมาแล้วคนดูไม่รู้สึกเท่าที่เราคิดตอนเขียนบท” คำตอบคือ “บางครั้งเมสเสจที่ตั้งใจจะเล่านั้นคนดูมองไม่เห็นหรือไม่ได้ยิน” เช่นความรู้สึกลึก ๆ บางอย่างของตัวละคร เราอาจจะเขียนออกมาเป็นภาพหรือเสียงน้อยไป

หลักการเขียนบทคือต้องเขียนภาพและเสียงออกมาให้ได้ เช่น ความเหงาหรือเศร้า จะพูดออกมาอย่างไร อาจไม่จำเป็นต้องพูด, นั่งริมหน้าต่าง, นั่งเฉย ๆ, นอนไม่หลับ หรือนอนหลับแต่แป๊บเดียวตื่น ต้องคิดเป็นพฤติกรรมออกมาให้ได้เพื่อจะเล่าความรู้สึก

คนดูจะเห็นภาพและได้ยินเสียงเวลาดูหนัง ดังนั้น ตอนเขียนบทหรือเขียนความรู้สึก “อย่าเขียนว่าฉันเหงา” มันใช้ไม่ได้ ต้องแปลให้ได้ว่าเหงาคืออะไร การรอคอยต้องทำท่าไหน รักโดยที่ไม่ต้องพูดว่ารักทำอย่างไร อยากแสดงออกว่ารักเขาทำอย่างไรได้บ้าง

อันที่จริง สิ่งเหล่านี้สามารถเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ถ้าหา “ฉันเหงา” ในหลาย ๆ เวอร์ชั่นได้ก็จะดี อาจนำไปใช้ได้ในหลายโอกาส เพราะเราก็ยังไม่รู้หรอกว่าหนังของเราจะออกมาเป็นแบบไหน เช่น ถ้าทำหนังเกี่ยวกับบุรุษไปรษณีย์ ต้องเหงาแบบไหน ซึ่งอาจจะไม่เหมือนนักเรียนเหงาก็ได้

หรืออยากเล่าว่า ที่นี่คือโรงเรียนโดยไม่ต้องถ่ายโรงเรียน สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ควรฝึกหัด ถ้าอยากเล่าสถานที่แต่ไม่ต้องเห็นภาพควรทำอย่างไร เล่าผ่านเสียงได้หรือไม่โดยใช้เสียงออด “ต้องหยิบตัวหนังสือออกมาเป็นภาพให้ได้ เพราะภาพและเสียงคือสองสิ่งที่จะถูกบรรจุอยู่ในหนังของเรา”

เทคนิคนี้จึงสรุปได้ว่า เป็นการฝึกสังเกตและบันทึกด้วยการมอง ฟัง หรือจดไดอะล็อก ทั้งคนและสิ่งแวดล้อม แม้แต่การดูสเตตัสเฟซบุ๊กของคนอื่นเพราะมันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และส่วนมากคนเขียนบทก็เอามาจากประสบการณ์จริงทั้งนั้น แต่จะทำอย่างไรให้น่าสนใจ

“ปกติพูดว่าฉันรักเธอมันก็ซึ้งแหละ แต่เราได้ยินบ่อยแล้ว เราสามารถทำให้คนพูดว่าฉันไม่รักเธอ แต่เรารู้สึกว่าเขารักกันได้มั้ย คนเรามีความหลากหลายมาก”

เต๋อ นวพล

แคสต์นักแสดง อย่ายึดติด

เต๋อ นวพล เริ่มด้วยปัญหาอีกครั้งว่า “การหาตัวแสดง เมื่อแคสต์มาแล้วแต่เล่นไม่ได้ต้องทำอย่างไร” คำตอบคือ “เราอาจยึดติดเกินไปกับการทำแคสติ้ง”

โดยปกติเมื่อเขียนบทเสร็จก็ต้องหานักแสดง เต๋อ นวพล กล่าวว่า เทคนิคที่อยากแนะนำให้ใช้คือ นักแสดงอาจแคสต์ตามบทได้ประมาณหนึ่ง ต้องให้เขาลองแคสต์แบบที่ตนเองเข้าใจดู ลองเล่นเองดู ซึ่งอาจดีกว่า ทำให้เราได้ของดีกว่าที่คิด

บางทีอาจให้เขาเล่นอีกทางไปเลย เช่น ฉากนี้เป็นฉากตลก เขาเล่นกี่ทีก็ไม่ตลก เราลองให้เขาเล่นฉากเศร้า ปรากฏว่าเล่นเศร้าแล้วกลับตลก ทำให้เห็นผลอีกแบบหนึ่ง นั่นคือการเปิดตัวเลือกในการแคสต์

สำหรับใครที่เพิ่งเริ่ม แนะนำว่ากำกับการแคสต์ด้วยตนเอง จะทำให้ได้ลองอะไรหลายอย่าง บางทีประสบการณ์ของตัวละครที่มาแคสต์อาจจะเติมเต็มอะไรให้เราได้ เช่น เราเขียนบทผู้ใหญ่ที่โตกว่า ถ้าไม่ยอมเปิดโอกาสให้นักแสดงลองเสริมในแนวทางเขาบ้าง เราอาจจะพลาดรายละเอียดของคนวัย 50 ปีที่เราไม่เคยรู้มาก่อนก็ได้

“แม้จะทำอินเสิร์ชมากก็ไม่เท่าคนจริง ๆ ที่มาเเสดงต่อหน้า เราจะได้รายละเอียดที่คิดไม่ถึงตอนเขียนบท ดังนั้น การแคสติ้งไม่ใช่แค่หาว่าคนนี้เล่นได้หรือเปล่า แต่มันคือ เขามีของอะไรบ้าง เรามีของอะไรบ้าง และมาเเลกเปลี่ยนกัน”

เต๋อ นวพล เผยว่า หนังของเขาเองหลายเรื่องที่เป็นนักแสดงเสริมให้ แต่ไม่ถึงขั้นด้นสด (improvise) หรือต่อให้ด้นสดก็เกิดจากการทำงานร่วมกันก่อนหน้า ไม่ใช่พูดอะไรก็ได้ สุดท้ายมันคือการจูนให้ตรงกัน นักแสดงจะรู้ดีว่าเสริมได้ระดับไหนเพื่อไม่ให้หลุดแคแร็กเตอร์ที่สร้างไว้

เต๋อ นวพล

โลเกชั่นคือเรื่องสำคัญ

ต่อคำถามที่ว่า “ทำไมบ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงานของตัวเอกจึงไม่น่าสนใจ” เต๋อ นวพล ตอบว่า “เพราะเราคิดเอาเองหรือจำสถานที่มาจากหนังเรื่องอื่น”

หลายคนคิดว่าห้องนักดนตรีต้องแปะโปสเตอร์ ซึ่งก็อาจจะมี แต่เป็นสิ่งที่เราเห็นจนคุ้นตาและรู้สึกว่าก็คล้ายกับเรื่องที่ผ่าน ๆ มา ถ้าทำให้คนดูรู้สึกว่าไม่เคยเห็นโลกของตัวละครแบบนี้ที่ไหนมาก่อน จะทำให้หนังมีความน่าสนใจมากขึ้น

แต่ความพิเศษที่ว่าก็ไม่ใช่เขียนบทอะไรขึ้นมาก็ได้ ต้องมีพื้นฐานมาจากตัวละครที่สร้างขึ้น หากคำนึงแต่ความสวยของฉากหรือห้องก็อาจทำให้ไม่ตรงกับแคแร็กเตอร์ของตัวละครได้

ต้องทำรีเสิร์ชให้มาก หรือออกไปข้างนอก ไปหาเพื่อน ไปหาอะไรดู จะทำให้ได้ไอเดียต่าง ๆ มาเสริมมากกว่าคิดขึ้นมาเอง เช่น ทำหนังเกี่ยวกับนักเรียน อาจไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียน เราอาจเจออะไรเกี่ยวกับนักเรียนที่ดีในรถไฟฟ้าก็ได้ หรืออยากตรงเป้าหมายก็ไปโรงเรียน ซึ่งต้องอยู่ให้นานพอ เป็นไปไม่ได้ที่วันเเรกจะได้ข้อมูลใหม่ ต้องไปสังเกต 3-4 วัน

“วันแรกเราอาจจะเห็นแค่นักเรียนทั่ว ๆ ไป วันที่ 4 เราจะเริ่มดูถุงเท้า ทำไมย่นแบบนั้น เดี๋ยวนี้ทุกคนไม่ต้องใส่ถุงเท้าขาวหรอ เขาไม่เหยียบส้นรองเท้าหรอ เราจะเริ่มได้รายละเอียดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนได้ตัวละครที่มีความน่าสนใจและอยู่บนพื้นฐานความจริง”

ย้ายโลเกชั่นคือความเสี่ยง

เต๋อ นวพล บอกว่า โลเกชั่นถ่ายทำต้องเอาที่สะดวก และต้องวางแผนให้ดี เราเคยถ่ายโฆษณาในเรื่องต้องมี 3 สถานที่ที่ไม่เหมือนกัน คือ ออฟฟิศ บ้านคน มหาวิทยาลัย แต่มีเวลาถ่ายวันเดียว สิ่งที่ทำตอนนั้นคือเลือกโลเกชั่นเป็นโรงงานยาเก่าที่มีบ้านคนอยู่ข้างใน ที่เดียวอยู่ทั้งวันและถ่ายได้ 3 เซตอัพ การย้ายสถานที่เป็นสิ่งที่อันตรายและกินเวลามาก ถ้ามีเวลาถ่ายแค่วันเดียว ถ้าจำเป็นต้องย้ายจริง ๆ ก็ไม่ควรเกิน 1-2 ครั้ง

ถ้าอยากได้สถานที่สวย ๆ และเหมาะกับแคแร็กเตอร์ ต้องชั่งน้ำหนักเอาว่าคุ้มไหม ถ่ายทันไหมที่จะย้าย ถ้าถ่ายไม่เยอะก็ย้ายได้ บางทีโลเกชั่นภาพกว้างสวย แต่ถ่ายจริงเอาแค่มุมเดียว เราจะโดดโลเกชั่นหลอก ในเรื่องเราอาจไม่ได้ใช้สถานที่พวกนั้นทั้งหมด

กลับไปดูชอตที่เราต้องถ่าย เช่น ถ้ามีเซตอัพบ้าน แต่สิ่งที่ต้องถ่ายคือหน้าคนและไม่เห็นห้อง แปลว่าถ่ายตรงไหนก็ได้ ไม่ต้องหาห้องจริง หรือถ้ามุมกว้างมาหน่อย ถ่ายเป็นบ้านแต่แค่เตียงนอน วิธีการคือถ่ายห้องไหนก็ได้และยกเตียงมา ดูว่าเหมือนห้องนอนหรือยัง นี่คือการประหยัดโลเกชั่น เต๋อ นวพล กล่าว

ทำไมโลกตัวละครดูเก้ ๆ กัง ๆ

เรื่องนี้ยังคงเกี่ยวกับโลเกชั่น เต๋อ นวพล กล่าวว่า เราเคยเป็นคนที่ดูหนังญี่ปุ่น ยุโรป หรืออเมริกันมาก่อน และรู้สึกว่าทำไมบ้านเมืองเขาสวย เป็นเหลี่ยม เจ๋งดี ซึ่งความเป็นจริงในประเทศไทยมีแต่สายไฟ อะไรที่เราเห็นในหนังต่างประเทศจึงไม่มีจริง

“เวลาหา reference บ้านหรือโรงเรียนของตัวเอก แนะนำให้ดูที่ประเทศไทย เพราะนั่นคือสิ่งที่เรามี และเซตอัพเราคือประเทศไทย อย่าดูแคลนของไทย แม้จะดูเละเทะ แต่สวย ๆ ก็มี”

ห้องพักที่นิวยอร์ก ญี่ปุ่น ฮ่องกง หรือไทย ล้วนแตกต่างกันไป การอ่านเรื่องสถาปัตยกรรมและการสังเกตสิ่งที่มีจึงจำเป็น เมื่อเข้าใจแล้วเราจะบรีฟทีมงานได้ดีขึ้น เช่น ทำไมห้องของฮ่องกงแน่นมาก เพราะที่จำกัด เป็นเกาะ ประชาชนจึงอยู่ในแนวสูงและเล็กมาก เตียง 2 ชั้นจึงเป็นพร็อปประจำของฮ่องกง เป็นต้น

ถ้าชอบสไตล์จากต่างประเทศ ต้องตอบให้ได้ว่าชอบเพราะอะไร เราอาจไม่ต้องเอามาทั้งหมด เอาแค่วิธีแต่งหรือสีบางอย่าง เป็นต้น เต๋อ นวพล เผยว่า ตอนเขาทำภาพยนตร์เรื่อง “ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” ก็ชอบโตเกียวสไตล์ ซึ่งรู้ว่าในไทยไม่ได้มีแบบนั้น แต่ก็พยายามหาจนเจอ เป็นตึกแถวย่านสวนมะลิ ซึ่งไม่ได้เหมือนญี่ปุ่นมากขนาดนั้น แต่ยังมีความเรียบ ถ่ายออกมายังได้ตามฟีลที่เราต้องการ

ดังนั้นต้องหา reference ในไทย ซึ่งยากที่จะเจอในวันเดียว บางทีสถานที่สวยแต่อาจไม่ตรงกับตัวละคร แนะนำให้ลงพื้นที่เอง เพราะดีกว่าดูในกูเกิลที่ส่วนใหญ่เป็นภาพที่เราเคยเห็นแล้ว

เต๋อ นวพล

ศิลปะที่ดีเกิดจากการจัดการที่ดี

ไม่แปลกที่หลายคนรู้สึกว่าการทำหนังคือศิลปะ แต่ครึ่งหนึ่งที่ศิลปะจะเกิดได้คือการบริการจัดการทั้งเวลาและสิ่งที่ต้องถ่ายให้ได้จนได้ศิลปะที่เราต้องการ

เมื่อทำไปถึงจุดหนึ่งเราจะเริ่มรู้จักการบริหารเวลาหรือสิ่งที่ต้องถ่าย และจะทำให้สร้างงานออกมาได้ดียิ่งขึ้น ถ้าวางแผนให้มากขึ้น เล่าเรื่องที่เหมือนกันในจำนวนชอตที่น้อยลง ก็จะมีเวลาบริหารการถ่ายแต่ละชอตมากขึ้น มีเวลาแต่ละเทคมากขึ้น ไม่ต้องรน ไม่ต้องรีบร้องไห้ ถ้านักแสดงทำได้ก็โชคดีไป แต่ถ้าทำไม่ได้ งานที่ออกมาก็ไม่ดีตามต้องการ ต้องถ่ายไปเรื่อย ๆ จนกินเวลาชอตอื่น ซึ่งจะเกิดเป็นโดมิโนกระทบไปเรื่อย ๆ

ถ้าเป็นฉากที่ไม่ได้ใช้เยอะและมีตัวละครสมทบ ต้องพยายามหาคนที่มีพื้นฐานการแสดง เล่นได้เลย ทำให้ไม่ต้องเสียเวลา ถ้าเสียเวลากับบทตัวประกอบมากไป จะทำให้กำกับพระเอก นางเอกได้น้อยลง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่แย่กว่า

ต้องคำนวณว่าสิ่งที่ถ่ายจะอยู่ในเรื่องมากหรือน้อย เป็นผู้กำกับต้องช่างน้ำหนัก วิเคราะห์ว่าอะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็นอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งต้องคำนึงถึงการใช้อุปกรณ์ด้วย เพราะแต่ละฉากมีความยากง่ายในการเซตอัพต่างกันไป ซึ่งล้วนใช้เวลาทั้งสิ้น

ต้องฝึกฝนบ่อย ๆ ความเร็วแต่ละคนไม่เหมือนกัน สุดท้ายเราจะรู้ว่าตัวเองถ่ายได้กี่ชอตในหนึ่งวัน ทำให้ไม่ต้องไปตัดเรื่องให้ส้้นลงหรือไม่ต้องรีบถ่าย

ทั้งหมดนี้ย้อนกลับไปเรื่องภาพและเสียง บทสามารถทำให้เวลาในการถ่ายทำน้อยลงได้ ถ้าฉันรักเธอต้องถ่ายรับหน้าผู้หญิง ผู้ชาย และภาพกว้างจับมือกัน ก็ 3 ชอตแล้ว จะดีกว่าหรือไม่ถ้าถ่ายฉากจับมือกันแล้ว Dolly in ความรู้สึกอาจได้เท่ากันและประหยัดชอตแค่ครั้งเดียว

“บางคนชอบคิดเอาหน้างาน เน้นฟีล วันจริงยืนถึง 9 โมงยังไม่รู้เลยว่าจะถ่ายอะไร ควรวางไปหน่อยก็ได้ว่าจะถ่ายอะไร อย่างน้อยไปยืนหน้ากองแล้วไม่ฟีลแต่ยังได้ฟุตเทจกลับบ้านไปตัด ยิ่งวางแผนดี ยิ่งมีเวลากำกับนาน” เต๋อ นวพลกล่าว

เคล็ดลับของการตัดต่อคือการพักผ่อน

เต๋อ นวพล แนะนำเป็นทริกว่า การตัดต่อทุกครั้ง การพักถือเป็นหนึ่งในกระบวนการทำงาน ถ้าตัดต่อติดกันนาน ๆ หลายวันตัวเราเองจะดูไม่รู้เรื่อง แต่กลับคิดว่ามันดีขึ้นเรื่อย ๆ เอาทุกอย่างที่มีใส่เข้าไป ลองหยุดพักสัก 3 วันแล้วกลับมาดู จะเห็นความจริงว่าเรื่องยืดยาวไปหมด ทำไมถึงเล่าจุดนี้ซ้ำ ๆ ซึ่งจะทำให้เรื่องจมได้

“ดังนั้นต้องพัก พักแบบพักแบบไม่ต้องกลับไปเช็กอะไร การพักทำให้ลืมทุกสิ่งอย่าง หลังพักมาเราดูรู้เรื่องไหม มันยาวไปหรือเปล่า เราคิดไปเองหรือเปล่า เมื่อกลับมาดูเราจะกลายเป็นคนดูจริง ๆ และนั่นคือสิ่งที่ยากที่สุด คือ เราไม่รู้เลยว่าคนดูคิดอะไรอยู่”

เต๋อ นวพล ทิ้งท้ายว่า อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือลิขสิทธิ์ของเพลงที่ใช้ในหนัง ควรมีการแจ้งเจ้าของก่อน แม้จะทำเพื่อการศึกษาก็ตาม แต่ในอนาคตถ้างานเราถูกนำไปใช้ต่อ มันจะเป็นปัญหาอีกขั้นทันทีหากต้องตัดเพลงออก งานของเราอาจจะดูไม่รู้เรื่องเลยก็ได้ ต้องศึกษากฎหมายลิขสิทธิ์ด้วย