ไข่ผำ-จิ้งหรีด เคล็ดไม่ลับ สร้างรายได้จากซูเปอร์ฟู้ดธรรมชาติ

ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

“ไข่ผำ” และ “จิ้งหรีด” ตัวแทนจากพืชและแมลงที่ถูกยกย่องให้เป็น ซูเปอร์ฟู้ดจากธรรมชาติ โปรตีนแห่งอนาคต แหล่งอาหารชั้นดี ที่สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยง และมีประโยชน์มากกว่าที่คิด “ประชาชาติธุรกิจ” เก็บบางช่วงบางตอนในงานสัมมนา “เทรนด์อาหารแห่งอนาคต ไข่ผำ-จิ้งหรีด ซูเปอร์ฟู้ดจากธรรมชาติ” โดย “เทคโนโลยีชาวบ้าน” เครือมติชน มาฝากกัน

เต็มอิ่มกับความรู้และเคล็ดไม่ลับไปกับ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง, นางสาวกมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงไข่ผำ จ.กาญจนบุรี, นายบัญชร นามธรรม เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดแนวตั้งรายแรก จ.ปทุมธานี, ดร.รุจิเรข น้อยเสงี่ยม ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายระหว่างประเทศที่ 1 กองนโยบาย มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และ ดร.สมบัติ สิงห์สี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย และพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอุดรธานี กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยง กรมประมง

ดร.รุจิเรข น้อยเสงี่ยม
ดร.รุจิเรข น้อยเสงี่ยม

ดร.รุจิเรขกล่าวว่า อาหารแห่งอนาคตมีคีย์เวิร์ด 2 ประการคือ ต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชากรโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอด และต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ตอนนี้มีประชากรโลกราว 8 พันล้านคน ยูเอ็นคาดการณ์ว่าอีก 5 ปีจะเป็น 8.5 พันล้านคน และอาจแตะ 1 หมื่นล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่พื้นที่และทรัพยากรเรามีจำกัด โจทย์คือจะผลิตอาหารให้เพียงพอได้อย่างไร อาหารแห่งอนาคตต้องตอบโจทย์ตรงนี้ได้

องค์ประกอบของอาหารแห่งอนาคตคือ 1) มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เสริมภูมิคุ้มกัน เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ 2) ตอบโจทย์และช่วยแก้ปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร 3) มีกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 4) มีการนําเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม

โปรตีนจากพืชและแมลงเป็นหนึ่งในโปรตีนทางเลือก ซึ่งโปรตีนทางเลือกก็เป็นหนึ่งในอาหารแห่งอนาคตที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ทำไมจิ้งหรีดถึงมีศักยภาพและได้รับความสำคัญ เพราะเขามีวงจรชีวิตสั้น ใช้ทรัพยากรน้อยในการเลี้ยง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน

ถ้าเป็นแบบสดมีโปรตีนเท่าเนื้อวัว ส่วนแบบแห้งสูงกว่าเนื้อวัวกว่า 3 เท่า แคลเซียมสูงกว่านมวัว ธาตุเหล็กสูงกว่าผักโขม วิตามินบี 12 สูงกว่าแซลมอน 10 เท่า และยังบริโภคได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งสด แห้ง และผง เป็นต้น

จิ้งหรีดหรืออาหารประเภทแมลงอาจจะเป็นที่คุ้นชินของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ถ้าเราจะส่งออกไปให้ชาวตะวันตก มันคืออาหารใหม่สำหรับเขา เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เขา ว่ากินได้ ไม่มีสารตกค้าง ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ ดร.รุจิเรขกล่าว

บัญชร นามธรรม
บัญชร นามธรรม

อดีตวิศวะ สู่เกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีด

นายบัญชร นามธรรม กล่าวว่า เดิมทีมีอาชีพเป็นวิศวกรสร้างเครื่องจักร เมื่อโควิด-19 ระบาดทำให้ออกไปใช้ชีวิตไม่ได้ เราเห็นข่าวเกี่ยวกับแมลงและสนใจ ยิ่งเป็นเรื่องการผลิตยิ่งชอบอยู่แล้ว จึงเริ่มศึกษากับทีมงานอย่างจริงจังว่าจิ้งหรีดเลี้ยงกันยังไง ทำไมประเทศไทยถึงส่งออกและได้รับความสนใจจากต่างประเทศ

เราเป็นวิศวกร รู้ว่าการทำปศุสัตว์ให้สำเร็จมันต้องเป็นแมส ต้องมีปริมาณที่เหมาะสมถึงจะคุ้ม ถ้าเขาเลี้ยงกันแบบบ่อ ทำอย่างไรให้คุ้มกว่า เราอยู่ในเมืองมีพื้นที่จำกัด ดังนั้น ต้องใช้สอยให้คุ้มค่าที่สุด นั่นคือ “แนวสูง”

ทดลองไปเรื่อย ๆ แต่ผลดีเกินคาด ทุกอย่างจึงรอช้าไม่ได้ เราเริ่มสร้างฟาร์มทันทีในเนื้อที่เพียง 100 ตร.ว. เอาระบบที่ทดลองอยู่ไปใช้จริงเลย ค่อย ๆ เก็บข้อมูล ศึกษาจากชาวบ้าน และหาข้อมูลจากต่างประเทศ จนปัจจุบัน 2 ปี สิ่งที่ประสบความสำเร็จคือ เราได้ความสม่ำเสมอของปริมาณและคุณภาพจากจิ้งหรีด

เคล็ดลับคือ เราไม่ต้องเลี้ยง แต่สร้างเครื่องจักรมาเลี้ยงโดยเฉพาะ สิ่งที่ต้องทำคือการรองไข่ ฟักไข่ อนุบาล และเอาตัวจิ้งหรีดไปเข้าตู้เลี้ยง ให้เขาออกไข่อีกครั้ง ก่อนที่เราจะนำไปใช้ ตอนนี้เรามี 160 ตู้ ให้ผลผลิตจิ้งหรีด 2-2.5 ตันต่อเดือน เป็นเงิน 2 แสนบาท

“สิ่งสำคัญต้องทำให้ตู้ระบายอากาศได้ดีที่สุด ต้องแยกมูลจิ้งหรีดออกจากที่พักเขาได้ การให้น้ำให้อาหารไม่ต้องเปิดตู้ เรามีท่อให้ โดยตั้งเวลา และปล่อยน้ำใหม่เข้าไปทุก 20 นาที จิ้งหรัดเราจะไม่กินน้ำที่ค้างท่อตู้ ต้องไม่เก็บแก๊สจากมูล เราให้เขาถ่ายลงแผงไข่ ทำให้แห้งไวและไม่มีกลิ่น ตั้งแต่เลี้ยงมาเราไม่เคยพบจิ้งหรีดเป็นโรคเลย สิ่งที่ได้คือคุณภาพและปริมาณที่คงที่”

ประสบการณ์บอกเราว่า จิ้งหรีดชอบแสงสว่าง เราเลี้ยงตอนกลางวันเท่านั้น กลางคืนเราไม่มีแสงไฟในโรงเรือน เพราะกลัวว่าจะทำให้เกิดแมลงจากที่อื่นเข้ามาในโรงเรือน

ถ้าต้องการจิ้งหรีด 1 ตันต่อเดือน ต้องลงทุนราว 1.5-1.7 ล้านบาท สำหรับระบบการเลี้ยงไม่รวมโรงเรือน ถ้าขายผ่านพ่อค้าคนกลางราคาอาจจะ 100 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าแปรรูปได้อยู่ที่ 200-250 บาท บัญชรกล่าว

กมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์
กมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์

ไข่ผำ ขุมทรัพย์จากธรรมชาติ

กมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ เล่าว่า เธอเป็นรุ่นที่ 2 ต่อจากคุณแม่ เดิมทีก็เป็นเกษตรกรธรรมดาจากบ้านที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ปลูกข้าว และผลไม้ต่าง ๆ แต่เวลาไปออกบูทขายสินค้า เราก็เหมือนกับอีก 10 บูท ทำให้เกิดการแข่งขันเรื่องราคา ถ้าอยากขายได้ก็ต้องลดราคาลง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราอยากทำให้แตกต่าง เพราะไม่ชอบทำตามคนอื่น และต้องเป็นผู้นำเท่านั้น

ผลจากที่พ่อแม่เราทำเกษตรทฤษฎีใหม่มาตั้งแต่ปี 2542 โดยไม่เคยใช้สารเคมีเลย ทำให้ไข่ผำเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณร่องสวนที่มีน้ำอยู่ เมื่อปี 2560 ที่เรามาสานต่อ

“ตอนแรกเราคิดว่าไข่ผำเป็นวัชพืช และกำลังหาวิธีกำจัดอยู่ เราเป็นคนภาคกลางจึงไม่รู้จัก แต่มีคนในพื้นที่ที่เป็นคนเหนือและอีสานเขารู้จัก จึงมาขอช้อนไปขาย เราจึงเห็นโอกาสเพราะมันเกิดขึ้นในที่เรา จากนั้นเราจึงเริ่มขาย”

ปรากฏว่าเสียงตอบรับค่อนข้างดี ดังนั้น ถ้าอยากเป็นที่ 1 เราต้องขายสิ่งนี้ ที่คนอื่นไม่มี เราจะเป็นเจ้าแรกในกาญจนบุรีและภาคกลาง จากนั้นจึงไปศึกษาอย่างลึกซึ้งและปรึกษาสำนักงานประมงจังหวัดกาญจนบุรี เราตัดสินใจแล้วว่าไข่ผำจะเป็นพืชที่ดีที่สุด แม้การเลี้ยงจะไม่ง่าย ซึ่งก็เสียไปเยอะ แต่ตลาดยังเปิดกว้าง ไปได้อีกไกล จึงตัดสินใจเลือกทางนี้ กมลวรรณกล่าว

เลี้ยงยากไหม ทำอย่างไรให้คุ้ม

กมลวรรณกล่าวว่า ไข่ผำเป็นโปรตีนทางเลือก พบได้ในน้ำสะอาดเท่านั้น ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสชาติ ลืมเรื่องเหม็นเขียวจากรูปลักษณ์ไปได้เลย และมีประโยชน์มาก นำมาปรุงอาหารหรือเครื่องดื่มก็ได้

การเลี้ยงไข่ผำสำหรับมือใหม่ เราใช้รองซีเมนต์ เป็นการลงทุนครั้งเดียวแต่ระยะยาว เอารองซีเมนต์ใส่น้ำ ต้นกล้วย มูลวัว แช่ไว้ 2-4 สัปดาห์ สิ่งที่ได้คือปุ๋ยและการกัดกร่อนความเค็มของซีเมนต์ให้จืด จากนั้นล้างทำความสะอาด ตากให้แห้ง และเติมน้ำลงไป 3 ส่วน 4 จากนั้นก็เติมธาตุอาหาร

รองซีเมนต์ 1 เมตร ให้ใส่ผำไปครึ่งกิโลกรัม เพียง 1 สัปดาห์ก็บริโภคได้แล้ว แต่เราอยากแตกต่างจึงทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ ทำให้ได้โภชนาการแบบเฉพาะเจาะจงของที่ไร่

ส่วนขั้นตอนการเก็บผำ เมื่ออายุครบ 2 สัปดาห์ เราจะสะบัดน้ำออกให้แห้งที่สุด และเก็บในตู้เย็นปกติ ซึ่งเก็บได้นานสุด 1 เดือน แต่ถ้าอยากให้นานกว่านั้นก็แช่ช่องฟรีซ เก็บได้นานถึง 1 ปี

สำหรับการแปรรูปผำเป็นผง ต้องใช้ผำสด 2 กิโลกรัมครึ่ง ถึงจะได้ผง 10 กรัม ที่สัดส่วนต่างกันมากเพราะผำอยู่ได้ด้วยน้ำ เวลาแปรรูปเราผ่านเครื่องอบด้วยอุณหภูมิสม่ำเสมอ 70 องศา นาน 4-5 ชั่วโมง ดังนั้น เวลาจะนำผำมาใช้ปรุงอาหาร หรือใส่ในเครื่องดื่มจึงต้องใช้ในปริมาณที่น้อยมาก เพียง 1 ช้อนกาแฟเท่านั้นก็เพียงพอต่อธาตุอาหารที่เข้าสู่ร่างกาย และทำให้เกิดสีเขียวแล้ว