กว่าจะเป็น “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช

กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง

จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยท่ามกลางกระแสตอบรับอย่างล้นหลามกับ Book Lauch “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” ผลงานชิ้นเอกของ “ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์มติชนร่วมกับศูนย์ข้อมูลมติชน ณ มิวเซียมสยาม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

งานนี้บิ๊กเนมในแวดวงต่าง ๆ มากันพรึ่บ นำโดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช เจ้าของผลงาน, สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษ พร้อมด้วย นายเตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ และ นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ร่วมเสวนา

โดยมีผู้บริหารในเครือมติชน นำโดย นางสาวปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

การกลับมาของ “ธวัชชัย” ในรอบ 17 ปี

ห่างหายไปนานถึง 17 ปี ตั้งแต่ตีพิมพ์ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2549 ธวัชชัย เล่าย้อนเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ. 2539 ว่า หลังพลัดหลงไปร้านแผนที่ “The Map House” ที่ BEAUCHAMP PLACE ประเทศอังกฤษ ก็เปลี่ยนชีวิตทันที จากเดิมที่ไม่เคยสนใจประวัติศาสตร์ จนได้มานั่งอยู่ตรงนี้

พอเข้าไปในร้าน ผมถามถึงแผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าก็เปิดลิ้นชักออกมามีเต็มไปหมด ซึ่งราคาค่อนข้างแพง เขาหยิบแผนที่หลักร้อยมาให้ ผมเห็นเป็น ค.ศ. 1764 จึงบวก 543 พบว่าเป็น พ.ศ. 2307 ใกล้ช่วงเสียกรุง พ.ศ. 2310 มันอาจจะเป็นแผนที่แผ่นสุดท้ายก่อนเสียกรุง ราคาแค่หมื่นบาท จึงซื้อ

กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง
ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช

จนเริ่มไปตามหาหนังสือพ็อกเกตบุ๊กและพบหนังสือที่อาจารย์ชาญวิทย์ เขียนปรับจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ผมโชคดีที่ผมเริ่มต้นด้วยหนังสือคลาสสิกทั้งนั้น ผมไม่มีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ ผมตระเวนหาหนังสือเอง เจออะไรก็ซื้อ และค่อยขยับมาหนังสือหนาหน่อย

“ผมมีจุดเริ่มสนใจอยุธยาจากมุมมองฝรั่ง มันจึงเป็นเหตุผลว่า แผนที่เกี่ยวกันอย่างไรกับจดหมายเหตุ เอามาศึกษาคู่กันอาจจะมาช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดของสังคมไทย เติมเต็มเอกสารจากมุมฝรั่ง”

ผมคงเป็นแค่นักสะสมหนังสือเก่า ถ้าไม่ได้อาจารย์ชาญวิทย์มาบอกว่า อยากให้เขียนบทความสั้น ๆ เกี่ยวกับแผนที่อยุธยาในสายตาฝรั่ง และสยามในสายตาฝรั่ง ซึ่งพอได้เขียนบทความนั้น ทำให้ผมรู้สึกว่าเราเขียนหนังสือได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเขียนหนังสือวิชาการชิ้นแรก “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” ที่ได้รับการพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 หลังผ่านพ้นไป 17 ปี

4 มิติ จากกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง

ศ.ดร.สุเนตรกล่าวในเสวนาว่า หลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนี้ สิ่งที่ธวัชชัยนำเสนอมีคุณูปการที่เปลี่ยนการรับรู้ของนักประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอยุธยาโดยสิ้นเชิง ปกติเมื่อนึกถึงอยุธยา เรามักให้ความสำคัญกับอยุธยาในฐานะที่เป็นศูนย์กลาง และกระบวนการอธิบายความเปลี่ยนแปลงหรือความเคลื่อนไหวก็จะอธิบายผ่านการมีอยู่ของอยุธยาเป็นสำคัญ

มิติแรก ธวัชชัยนำเสนอให้เห็นว่า อยุธยาเป็นหนึ่งใน “World Destination” เราไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าจากฝรั่งเศสมาอยุธยาไกลแค่ไหน ต้องผ่านอะไรบ้าง และเข้าสู่อยุธยาอย่างไร ต้องแวะแหลมกู๊ดโฮป ก่อนจะตัดผ่านมหาสมุทรอินเดีย แสดงว่าเรือต้องมีศักยภาพสูงมากในการเดินทะเล มันแสดงให้เห็นถึงความสำคัญยิ่งของอยุธยาในฐานะเมืองที่สัมพันธ์กับโลกตะวันตก

มิติสอง อยุธยาเป็นส่วนหนึ่งของอุษาอาคเนย์ มีแผนที่แสดงให้เห็นอาณาจักรพะโค อาระกัน กัมพูชา และเมืองสำคัญในหมู่เกาะต่าง ๆ สะท้อนว่าอยุธยาไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว อยุธยาเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในสายตาตะวันตก และเติบโตควบคู่กับเมืองอื่น ๆ

แผนที่ส่วนใหญ่จะพูดถึงเมืองท่าขนาดใหญ่เท่านั้น แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า อยุธยามีความร่ำรวยและเป็นที่รับรู้ของตะวันตกที่เดินทางมาค้าขาย ส่วนบ้านเมืองที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน เช่น อังวะ เชียงใหม่ ก็ไม่ค่อยปรากฏรายละเอียดในหลักฐานของตะวันตกเท่าอยุธยา

มิติสาม เราเห็นหน้าตาของอยุธยาในฐานะราชอาณาจักรที่มีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง แผนที่ที่ธวัชชัยนำเสนอ ฝรั่งระบายสีและมีเส้นพรมแดนแสดงอยู่ เราจะเห็นว่าอยุธยาไม่ได้มีขอบเขตกว้างใหญ่ไพศาลตามที่เข้าใจแต่แรก แม้อยุธยามีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองไม่น้อย แต่บ้านเมืองเหล่านั้นอาจไม่ใช่ราชอาณาจักรอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา เชียงใหม่ หรือปัตตานี ไม่ได้อยู่ในแผนที่อยุธยา ทำให้เราเข้าใจตัวตนของราชอาณาจักรอยุธยาอย่างเป็นนามธรรมมากขึ้น

มิติสุดท้าย เราเห็นอยุธยาในฐานะราชธานี ถ้าดูแผนที่ ภาพของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างไม่มีหลักฐานที่ปรากฏชัดถึงความเป็นเมืองราชธานี เมืองราชธานีปรากฏขึ้นเมื่อมีกรุงศรีอยุธยา และนับแต่นั้นผู้ที่จะแสดงตนเป็นพระมหากษัตริย์จะต้องมาปกครองที่อยุธยา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิและอู่ทองมาชิงอำนาจกันเพื่อปกครองอยุธยา เราเห็นความเป็นตัวตนในเชิงกายภาพนั้นได้จากแผนที่ แผนผัง แผนภูมิ ซึ่งธวัชชัยได้นำเสนอไว้ในหลายแง่มุมกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง

สะท้อนมุมมองต่างชาติที่มีต่ออยุธยา

เตช บุนนาค กล่าวว่า การทำหนังสือเล่มนี้มีความยาก ตั้งแต่ธวัชชัยหลงไปซื้อแผนที่ฉบับแรก ก็หลงรักแผนที่อยู่อย่างเดียว อย่างที่อาจารย์ “คริส เบเคอร์” บอกว่า ธวัชชัยเป็นคนบ้าแผนที่ แผนที่และหนังสือพวกนี้มันแพงเหลือเกิน ฉบับแรกที่ธวัชชัยซื้อก็ 240 ปอนด์ ในขณะที่สมัยก่อนนักเรียนทุนรัฐบาลได้เงินเดือน 42 ปอนด์เท่านั้น แสดงให้เห็นว่า “ธวัชชัยมีฐานะดีเป็นพิเศษ แต่ใช้ฐานะนั้นเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง”

ในฐานะที่เคยเป็นทูตและทำงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เตช บุนนาค กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้
สะท้อนมุมมองของชาวต่างชาติที่มีต่ออยุธยา ว่า อยุธยาเป็นเมืองใหญ่มาก มีหนังสือหลายเล่มที่เขียนถึงอยุธยา แสดงว่าอยุธยาในสมัยที่รุ่งเรืองเต็มที่ตั้งแต่ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เรื่อยมา เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในยุโรป ถ้าจะมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และต้องไปที่ไหน จะต้องไปอยุธยา เหมือนในปัจจุบันที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่คนมาท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลก อยุธยาตอนนั้นก็เช่นเดียวกัน

หนังสือที่ควรมีทุกบ้าน

ด้านอาจารย์ชาญวิทย์เกริ่นว่า เมื่อฟังธวัชชัย กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ขอสรุปดังนี้ อโยธยาศรีรามเทพนคร และกรุงศรีอยุธยา คือต้นกำเนิดของสยามประเทศไทย ไม่ใช่เทือกเขาอัลไต ไม่ใช่น่านเจ้า และไม่ใช่สุโขทัย ประเด็นต่อมา กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง เป็นหนังสือที่ควรต้องมีอยู่ในทุกบ้าน เหมือนกับที่เราต้องมีพจนานุกรม หรือสารานุกรม

พอธวัชชัยเล่าถึงแผนที่อยุธยาชิ้นแรกที่ซื้อด้วยจำนวนเงินมหาศาล เขาทำให้ผมซึ่งมองประวัติศาสตร์จากตัวอักษรเกิดความรู้สึกว่า ต้องมามองประวัติศาสตร์จากแผนที่ด้วย ธวัชชัยทำให้ผมกลายเป็นเทวดา กล่าวคือขึ้นไปอยู่ข้างบน แล้วมองลงมาข้างล่าง ผมไม่เคยเห็นภาพนี้มาก่อน เลยขอให้เขียนบทความให้ ซึ่งธวัชชัยก็เขียน

กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง