
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ผนึก สมาคมแม่บ้านมหาดไทย จัดงาน “Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ชมและเลือกซื้อผ้าลายพระราชทาน งานหัตถกรรมชุมชน วันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา และเพื่อสร้างการรับรู้ถึงผลสำเร็จของการขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริ ที่ทรงส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการผ้าไทย อนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย จัดงาน “Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ภายใต้แนวคิด “Silk Success Sustainability” ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี โดยมีงานแถลงข่าว ณ ห้องบอลรูม ชั้น 5 โรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา
“นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้รับพระมหากรุณาจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานลายผ้า “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” รวมถึงลายผ้าพระราชทานอื่น ๆ ที่ท่านพระราชทานมาแล้วนั้น
ส่งผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการเครื่องนุ่งห่มของคนไทย ต่อลมหายใจผืนผ้าภูมิปัญญาไทย ทำให้พี่น้องคนทอผ้าทั่วประเทศได้มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว เพราะผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา ผ้าลายดอกรักราชกัญญา และทุกลายพระราชทาน มีมูลค่าสามารถจำหน่ายได้เพิ่มมากขึ้น ทั่วทุกภูมิภาค
ในห้วงระยะเวลา 3 ปีที่พระองค์ทรงใช้พระอัจฉริยภาพในงานผ้าไทย พระราชทานพระดำริ รวมทั้งพระราชทานลายผ้าพระราชทาน พร้อมทั้งแนวทางในการตัดเย็บให้มีความสวยงดงาม มีลวดลายสลับกลับด้านผ่านการออกแบบที่ทันสมัย และสร้างความยั่งยืนด้วยการใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้า ทำให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นว่าผ้าไทยสามารถตอบสนองรสนิยมของคนทุกเพศ ทุกวัย ใส่ได้ทุกโอกาสทุกสถานที่ ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการพระดำริโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และพระราชทานพระอนุญาตให้ทุกคน รวมถึงช่างทอผ้า สามารถนำไปต่อยอดได้
ล่าสุดพระองค์ได้พระราชทานแนวคิดเรื่อง “Sustainable Fashion” ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักของอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยทรงออกแบบพระราชทาน เครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” เป็นภาพตัวอักษร S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และยังหมายถึง Sustainable คือ แนวพระราชดำริแห่งความยั่งยืนในทุกมิติที่สร้างชีวิตที่ดีให้แก่ราษฎร
ทรงออกแบบให้มีตัวอักษรข้อความ Sustainable Fashion ล้อไปกับตัวอักษร S หมายถึงแนวพระราชดำริ “แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ที่ทุกกระบวนการสร้างสรรค์ผืนผ้าและงานหัตถกรรมล้วนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและโลกใบเดียวของเรา และทรงออกแบบรูปหัวใจประดับไว้ที่ส่วนต้น กลาง และปลาย ของข้อความ Sustainable Fashion
ด้วยทรงปรารถนาให้ผู้สร้างสรรค์ผืนผ้าและงานหัตถกรรมนำแนวพระดำรินี้ไปต่อยอดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในการนี้ได้พระราชทานเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน Sustainable Fashion แฟชั่นแห่งความยั่งยืน แก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรมด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ” นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า ในปี 2566 ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย สนองแนวพระดำริผ้าไทยใส่ให้สนุก ส่งเสริมสนับสนุนให้สมาคมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน ประชาสัมพันธ์การแต่งกายผ้าไทยในทุกภูมิภาคของประเทศ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชิ้นงาน การออกแบบ การเลือกวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวพระราชทานพระดำริ Sustainable Fashion แฟชั่นแห่งความยั่งยืน
พระองค์ท่านทรงมีพระประสงค์ที่จะให้ช่างทอผ้าสามารถพึ่งพาตนเอง ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ส่งเสริมการปลูกฝ้ายปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกไม้ที่สามารถนำมาย้อมผ้าสีธรรมชาติได้ กลางน้ำ คือ การออกแบบลวดลายใหม่ และปลายน้ำ คือ พัฒนาการออกแบบตัดเย็บและการจำหน่าย สร้างอัตลักษณ์และบรรจุภัณฑ์
นอกจากนี้พระองค์ได้พระราชทานหนังสือ “Sustainable City” พร้อมทั้งพระราชทานพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อให้ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยได้เป็นผู้นำบูรณาการร่วมกับทุกกระทรวงทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน อันเป็นการขยายผลมาจากที่พวกเราได้น้อมนำพระดำริ Sustainable Fashion จากโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก
พร้อมกันนี้ได้พระราชทานหนังสือ Trend book และทรงเป็นบรรณาธิการรวบรวมเรียบเรียงและเสนอแนวโน้มของวงการแฟชั่นในอนาคต ดังนั้นจึงมีการขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆ นี้ นำไปสู่หมู่บ้านยั่งยืน อันมีองค์ประกอบ คือต้องรวมกลุ่มกันทำงาน ทำงานเป็นทีมด้วย 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ช่วยกันคิด ช่วยกันลงมือทำ เพื่อจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน
Silk Festival 2023
สำหรับงาน Silk Festival 2023 Silk Success Sustainability “นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า มีกิจกรรมสำคัญที่เผยแพร่ความสำเร็จผ่านโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา นิทรรศการผลสำเร็จจากโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” การพัฒนาผ้าลายพระราชทาน การสร้าง Sustainable Fashion เพื่อให้ผืนผ้าและงานหัตถกรรมของไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นิทรรศการเปิดตัวหนังสือ 4 เล่ม ได้แก่ หนังสือสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา, หนังสือเครื่องสานไทย, หนังสือบาติกโมเดลสู่ตลาดสากล, หนังสือลายดอกรักราชกัญญา รวมถึงการแสดงแบบภูมิปัญญาผ้าไทย จากดีไซเนอร์ชื่อดังระดับประเทศที่ร่วมรังสรรค์ผลงานจากผลิตภัณฑ์ผ้าทอของไทย ที่ได้รับการพัฒนาจากโครงการ
เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนที่มีความสนใจเรื่องการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านผ้าและงานหัตถกรรมการสร้างผลงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ นำไปสู่การสร้างรายได้สู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไป รวมถึงจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าเครื่องแต่งกาย ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก งานหัตถกรรม และ OTOP ชวนชิมจากทั่วทุกภูมิภาค
ในส่วนของการประกวดผ้าลายพระราชทานผ้าลายดอกรักราชกัญญา มีผู้สมัครส่งผ้าเข้าประกวด จำนวน 6,290 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 796 ชิ้น ผ่านเข้ารอบตัดสินระดับประเทศ ประเภทผ้า จำนวน 65 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 10 ชิ้น โดยผลการตัดสินผลงานได้รับรางวัลประเภทผ้า 65 ผืนประเภทหัตถกรรม 7 ชิ้นงาน และรางวัลพิเศษ Best of the best ประเภทหัตถกรรม 1 ชิ้นงาน
โดยจะเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในงาน Silk Festival 2023 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6 เมืองทองธานี
ด้าน นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี และ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เผยว่า ภายในงานยังได้จัดแฟชั่นโชว์ผลงาน 15 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ แบ่งเป็น 13 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชื่อดัง ได้แก่ SIRIVANNAVARI, ARCHIVE026, ASAVA, JANESUDA, IRADA, ISSUE, LANDMEE, MILIN, PYVET, TandT, THEATRE, TIRAPAN, WISHARAWISH และ 2 Young Designers ได้แก่ แบรนด์ HAYA ผู้ชนะเลิศ และ AMEEN Studio รองชนะเลิศการประกวดตัดเย็บชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก โครงการดีไซเนอร์รุ่นใหม่ของกรมการพัฒนาชุมชน
โดยแต่ละแบรนด์นำผ้าไทยซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวของแต่ละชุมชน อาทิ ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมยกดอก ผ้าปักชาวเขา ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าบาติก ผ้าฝ้ายย้อมคราม ผ้าขาวม้า ผ้าหางกระรอก ฯลฯ มารังสรรค์ผลงานสุดประณีต จำนวน 57 ชุด สะท้อนแนวคิดผ้าไทยใส่ให้สนุก แสดงถึงศักยภาพของการพัฒนาลายผ้าทอให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์และเสน่ห์ของความเป็นไทยไว้อย่างสมบูรณ์นำไปสู่ soft power ด้านผ้าไทยอย่างแท้จริง