วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ประวัติศาสตร์รสขม ปมปัญหาของสิ่งแวดล้อมไทย

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ใครที่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคมร่วมสมัย คงรู้จัก “จอบ-วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์” เป็นอย่างดี นักเขียน สื่อมวลชน ผู้เคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อมมาตลอดหลายสิบปี กับผลงานล่าสุด หนังสือ “The Lost Forest : ประวัติศาสตร์(การทำลาย)สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร”

โดยวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา “สำนักพิมพ์มติชน” เปิดเวทีเสวนา “The Lost Forest : ประวัติศาสตร์รสขม และปมปัญหาของสิ่งแวดล้อมไทย” ขึ้นที่ร้าน Brainwake Cafe สุขุมวิทซอย 4 มี “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมแฟนนักอ่านที่เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

วันชัยเริ่มบทสนทนาว่า ช่วงทศวรรษ 2530 สื่อทุกสำนักสนใจข่าวสิ่งแวดล้อมมาก การตายของ “สืบ นาคะเสถียร” ทำให้เกิดการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย กระทั่งปี 2540 ฟองสบู่แตก เศรษฐกิจพัง โต๊ะข่าวแรกที่ถูกยุบ คือ โต๊ะสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งโลกร้อนและฝุ่น PM 2.5 ต่างประเทศก็กดดันไทยเรื่องการค้าว่าต้องสนใจสิ่งแวดล้อม ทำให้ธุรกิจใหญ่ ๆ หันมาสนใจสิ่งแวดล้อมด้วย

รู้ประวัติศาสตร์ เดินหน้าอนาคต

มีคำพูดหนึ่งที่ชอบมาก “การยิงธนู ถ้าเราสาวลึก ๆ เวลาปล่อยจะมีแรงพุ่งไปข้างหน้าและแม่นยำสูงมาก เหมือนกับยิ่งรู้จักประวัติศาสตร์มาก เวลาก้าวไปข้างหน้า อนาคตที่ตั้งเป้าไว้จะมีทิศทางที่ชัดมากขึ้น” วันชัยกล่าว

ปัจจุบันท้องตลาดมีหนังสือประวัติศาสตร์เยอะมาก แต่ไม่มีประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมเลย ไม่เหมือนต่างประเทศที่มีเยอะมาก ในไทยมีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมน้อย คนที่สนใจก็มีแต่นักวิชาการ เวลาพูดก็มีแต่ตัวเลข เลยน่าเบื่อ คนรู้สึกว่าไกลตัว

จากประสบการณ์ มีโอกาสได้เดินทางไปดูปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ จึงคิดว่าน่าจะเรียบเรียงที่มาที่ไปประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมในสังคมไทยได้ลึกพอสมควร ถ้าเราเป็นอิฐก้อนแรกที่ทำเรื่องนี้ขึ้นมา ก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนหรือคนที่สนใจมาทำงานด้านนี้มากขึ้น วันชัยกล่าวถึงที่มาของผลงานเล่มล่าสุด

ปัญหาสิ่งแวดล้อม-การเติบโตของเศรษฐกิจ

วันชัยกล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเดินตามการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลกต้องบริโภคทรัพยากร ประเทศที่ GDP โตมาก ๆ จึงต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ทำลายแม่น้ำเทมส์ที่ลอนดอนอย่างรุนแรง พึ่งมีสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำไม่กี่ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง ใช้เวลานานมากกว่าธรรมชาติจะฟื้นตัว

โลกร้อนที่เจอทุกวันนี้ ทุกคนรู้ว่ามาจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่เยอะมากในชั้นบรรยากาศ ซึ่งปัญหานี้เริ่มต้นมาตั้งแต่มีการขุดน้ำมันเป็นอุตสาหกรรมเมื่อร้อยปีที่แล้ว คาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่โลกรับไม่ไหวจนอยู่ในจุดที่มนุษย์แก้ไม่ได้แล้ว “เหมือนกบที่กำลังถูกต้ม ตอนแรกไม่รู้หรอกว่าร้อน แต่เมื่อร้อนขึ้นก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว”

การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา เราพูดด้านเดียวมาตลอด ไม่บอกว่ามันบริโภคทรัพยากรอย่างไร และไม่พูดถึงคนตัวเล็กตัวน้อย เราไม่เคยพูดถึงเลยว่าพัฒนาเศรษฐกิจไปและจะดูแลคนตัวเล็กอย่างไร เราพูดแต่ด้านดีของการพัฒนาอย่างเดียว ทุกอย่างมี 2 ด้านหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามนำเสนอ

“ที่ผ่านมา 40 สังคมไทยและรัฐบาลไทยไม่เคยพูดถึง พูดด้านบวกตลอด เขื่อนดี มีไฟฟ้า มีน้ำ แต่อีกด้านที่ไล่คนไปอยู่อีกพื้นที่ เราซุกมันไว้ใต้พรม” วันชัยกล่าว

การสูญพันธุ์ ครั้งที่ 6

วันชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาสิ่งแวดล้อมบนโลกนี้ธรรมชาติจะใช้เวลาและเยียวยาตัวเองได้ แต่วันนี้สายไปแล้ว มีหลายอย่างที่ธรรมชาติไม่สามารถเยียวยาตัวเองได้ และปัญหาใหญ่สุดไม่ใช่โลกร้อน แต่เป็น “การสูญพันธุ์ ครั้งที่ 6”

โลกนี้ผ่านการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง ส่วนใหญ่มาจากภัยธรรมชาติ ครั้งล่าสุดคือ 63 ล้านปีที่แล้ว อุกกาบาตตกทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ แต่ครั้งที่ 6 จะรุนแรงที่สุดและเป็นครั้งแรกที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ซึ่งคาดว่า 40% ของสปีชีส์บนโลกนี้ได้หายไปแล้ว

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กลัวการสูญพันธุ์ของผึ้ง เพราะอาหารและพืชผักทางการเกษตรครึ่งหนึ่งบนโลกมาจากการผสมพันธุ์และผสมเกษรของผึ้ง การใช้สารเคมีทำให้ผึ้งกำลังหายไป ซึ่งไม่มีใครรู้ ไม่มีใครสนใจ และจำนวนผึ้งก็ยังลดลงเรื่อย ๆ ตราบที่การใช้สารเคมียังเพิ่มขึ้น

โลกเดือด กู่ไม่กลับ

วันชัยกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของโลกร้อน เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เมืองชายฝั่งจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก กรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 10 เมืองนั้นที่จะเจอปัญหาอย่างร้ายแรง ใน 40 ปีข้างหน้าพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทย กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะจมน้ำ แต่ก็ยังไม่เห็นรัฐบาลไทยสนใจหรือทำอะไรเกี่ยวกับโลกร้อนบ้าง

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตกลงกันว่าจะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เดิมคาดกันว่าจะเกินใน 6-7 ปีข้างหน้า แต่เมื่อปลายปีที่แล้วอุณหภูมิโลกได้สูงขึ้นทะลุ 1.5 องศาเซลเซียสไปแล้ว ซึ่งน่ากลัวมากและเร็วเกินกว่าการทำนายของนักวิทยาศาสตร์

เมื่อพูดถึงน้ำแข็งขั้วโลกละลายคนจะมองว่าไกลตัว แต่ปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้น คือ สงครามแย่งชิงน้ำ เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้น นอกจากน้ำแข็งขั้วโลกละลายแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังกลัวเรื่องธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยละลาย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญ 8 สายในเอเชีย หล่อเลี้ยงคนประมาณ 800 ล้านคน ถ้าละลายไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นสงครามแย่งชิงน้ำอย่างแน่นอน เพราะน้ำจืดสำคัญที่สุด

ที่ผ่านมามีการประชุมทั่วโลกเพื่อที่คุยกันว่าจะตั้งเป้าลดคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไรใน 30 ปีข้างหน้า ทุกประเทศก็ตั้งเป้า ดูสวยหรู แต่ในความเป็นจริงไม่รู้ว่าใครทำได้ขนาดไหน ยุโรปอาจจะจริงจังมาก แต่ในประเทศที่ไม่ได้สนใจก็ทำตามกระแส ถูกบีบเรื่องการค้าการส่งออก ก็ต้องดูต่อไปว่าการค้าบีบให้จริงจังหรือ จริงจังเพราะรู้สึกเอง

เรามักพูดกันว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว ปัญหาปากท้องต้องมาก่อน ทุกรัฐบาลก็พูดแบบนี้ว่าต้องดูแลเศรษฐกิจก่อน วันนี้ประเทศเจริญแล้วเริ่มรู้ว่าถ้าสิ่งแวดล้อมพังทลาย เศรษฐกิจก็โตไม่ได้ ประเทศที่เจริญแล้วจึงออกมาตรการต่าง ๆ เพราะรู้ว่าถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสเมื่อไรเท่ากับจบ จะไม่มีอาหาร ไม่มีความเจริญทางเศรษฐกิจอีกต่อไป เพราะทุกสิ่งโดนทำลาย

“ตอนนี้มันเดือดแล้ว มันไม่ร้อนแล้ว คำว่าโลกเดือดหมายความว่า มันก้าวไปสู่จุดที่มนุษย์ไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว ต้องปล่อยไปตามสภาพแล้ว”

PM 2.5 เชียงใหม่ ผู้มีอำนาจไม่ได้ร่วมทุกข์กับชาวบ้าน

เมื่อศิโรตม์ถามว่า “รัฐบาลควรแก้ปัญหาเรื่องโลกเดือดอย่างไร” วันชัยตอบว่า ต้องเข้าใจปัญหาก่อน อย่างเมื่อวันก่อนนายกรัฐมนตรีไปเชียงใหม่ จังหวัดที่อากาศเลวร้ายที่สุดในโลก แต่ภาพที่ออกมาคือขี่จักรยานและบอกว่าอากาศดีเกินคาด จากที่ควรจะใส่แมสและบอกว่าอย่าเพิ่งออกกำลังกายกลางแจ้งเพราะเป็นปัญหาสุขภาพ สิ่งนี้เป็นตัวชี้วัดว่าความเข้าใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมของนายกฯมีขนาดไหน

เชื่อว่าระดับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านในเชียงใหม่รู้และเข้าใจปัญหา และรู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร การแก้ปัญหาแต่ละพื้นที่ไม่ได้เป็นสูตร A B C ต้องแล้วแต่พื้นที่ เพราะเงื่อนไขแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ถ้าให้อำนาจและงบประมาณแต่ละพื้นที่ไปจัดการ ไม่ใช่สั่งตรงมาจากกรุงเทพฯ และแก้ไขแบบปูพรม มันไม่ได้แก้ทุกที่ ถ้ากระจายอำนาจให้พื้นที่ที่เข้าใจปัญหา จะช่วยแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่สั่งจากส่วนกลาง

แน่นอนว่าชาวเชียงใหม่ต้องรับความจริง ถ้าเราไม่ได้มีรัฐบาลที่สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง การช่วยเหลือตัวเองก็เป็นเรื่องที่ต้องทำมาตลอดและทำต่อไป นอกจากว่าเราได้รัฐบาลที่สนใจเรื่องนี้ และเตรียมการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ได้เพิ่งมาเตรียมการช่วงหน้าแล้ง

ถามว่ารัฐบาลนี้พยายามไหม เขาก็พยายาม แต่ยกตัวอย่าง ถ้ามีรองนายกฯคนหนึ่งที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงสแตนด์บายอยู่ภาคเหนือ มีวอร์รูมชัดเจน มีอำนาจสั่งการเด็ดขาด อย่างน้อยชาวภาคเหนือ ชาวเชียงใหม่ ก็รู้สึกว่าเขาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเรา ไม่ได้มา 2 ชั่วโมงแล้วกลับ อย่างน้อยก็ได้ใจชาวบ้าน แค่ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาคือบินมาดูหน่อยแล้วก็กลับ รอลม รอฝน เดี๋ยวมันก็ผ่านไป มันก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้

เมื่อใดก็ตามที่มีคนรับผิดชอบอย่างจริงจังและรู้ปัญหาจริง ๆ จะทำให้คนในรัฐบาลรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหม่ สถิติล่าสุดชาวเชียงใหม่มีคนเป็นมะเร็งในปอดสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เรื่องนี้ควรจะเป็นวาระแห่งชาตินานแล้ว ควรจะเป็นมา 10 ปีแล้ว แต่คนที่รับผิดชอบเขาไม่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนในพื้นที่ เขาเลยไม่รู้ว่ามีความทุกข์จริง ๆ