“ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง” คลายมนต์ขลัง ร้านอาหารหมาล่าแห่ปิดกิจการ

แม้บรรยากาศช่วงค่ำบนถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง จะเต็มไปด้วยความจอแจของรถราที่สัญจรไปมา แต่หากมองเข้าไปภายในร้านหมาล่าและอาหารจีน ตลอดจนสองฝั่งข้างทางจะพบว่าคนเดินนั้นบางตา บรรยากาศซบเซาลงอย่างชัดเจน เนื่องจากสำนักงานเขตห้วยขวางปูพรมลงพื้นที่ตรวจใบอนุญาต ประกอบกับเศรษฐกิจที่ไม่ดี และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง ทำให้ร้านทุนจีนต่างทยอยปิดกิจการ

“นายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล” สก.เขตห้วยขวาง เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บรรยากาศตลอดถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญซบเซาลงอย่างชัดเจน จากการที่ร้านอาหารจีนจำนวนหนึ่งปิดกิจการลง สืบเนื่องจากช่วงที่เศรษฐกิจดีก่อนการระบาดของโควิด-19 ชาวจีนจำนวนมากเข้ามาในเขตห้วยขวาง และมีการเปิดร้านอาหารจีนเป็นจำนวนมาก จนถูกสังคมขนานนามว่าเป็น “ไชน่าทาวน์แห่งใหม่”

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้เขตห้วยขวางและถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญมีชื่อเสียง นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยแห่กันมาจนเป็นที่สนใจของสังคม และมีคำถามเกี่ยวกับประเด็น “จีนเทา” ที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย

ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานเขตห้วยขวางได้ลงไปกวดขันและตรวจสอบการประกอบธุรกิจของชาวจีนในพื้นที่ เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ เช่น คนจีนเข้ามาประกอบอาชีพอะไร ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เป็นต้น สำนักงานเขตได้ตรวจสอบใบอนุญาตต่าง ๆ เช่น การจดทะเบียนธุรกิจ ตลอดจนอาหารที่นำมาขายนั้นได้รับการรับรองจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่

พบว่ามีร้านอาหารจีนจำนวนมากที่เปิดโดยไม่มีใบอนุญาต สำนักงานเขตจึงออกคำสั่งให้ทุกร้านมาทำใบอนุญาต บางร้านก็สามารถทำได้และทำไม่ได้ เพราะการทำใบอนุญาตมีหลายเงื่อนไข ทั้งต้องทำบ่อดักไขมัน บันไดหนีไฟ ฯลฯ บางร้านมองว่าการทำใบอนุญาตเป็นการผูกมัดและยุ่งยาก หรือที่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากเป็นตึกเช่าไม่ใช่ของตัวเอง และโครงสร้างของตึกไม่สามารถเปิดร้านอาหารได้อย่างถูกต้อง จึงปิดกิจการไป

ประกอบกับเศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ได้ดีเหมือนก่อนโควิด เมื่อขายของไม่ดี แต่ต้องถูกกวดขัน และต้องลงทุนร้านเพิ่มเติมเพื่อสร้างอะไรต่าง ๆ บางร้านจึงคิดว่าทำแล้วไม่คุ้ม ก็ปิดตัวลงในที่สุด

“ช่วงที่ห้วยขวางกำลังบูมและได้รับความสนใจในวงกว้าง ธุรกิจร้านอาหารของชาวจีนส่วนใหญ่บนถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญเปิดและตกแต่งร้านกันโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อสำนักงานเขตบอกให้ทำใบอนุญาต ซึ่งมีขั้นตอน บางร้านก็ไม่สามารถทำได้”

ร้านนอมินีจีน 30% ต้องปิดกิจการ

สก.ประพฤทธ์ยังกล่าวอีกว่า ร้านที่ปิดกิจการไปมีประมาณ 30% หรือราว 10 จาก 40 ร้าน บนถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ส่วนมากเป็นร้านหมาล่าและชาบูหม้อไฟที่ลงทุนประมาณ 2-3 ล้านบาท เป็นตึกแถวขนาด 1-2 คูหา และเป็นร้านของคนจีนหรือนอมินีจีน

เมื่อสำนักงานเขตลงไปตรวจ ทางเขตจะให้โอกาสยื่นขอใบอนุญาตใน 15 วัน ถ้ายังไม่ดำเนินการก็จะให้รอบ 2 อีก 15 วัน หากยังไม่ดำเนินการอีกจะสั่งปิดร้าน และถ้าฝ่าฝืนไม่ปิดก็จะเเจ้งความ ส่งศาลดำเนินคดี ถ้าผู้ประกอบการยังไม่ยอมปิดร้านอีกก็จะถูกปรับเป็นรายวัน ร้านที่ถูกปรับก็จะมีตั้งแต่ 2-5 หมื่นบาท

สำหรับร้านที่ถูกปิด ชาวจีนจะให้ร้านอื่นมาดำเนินการต่อ ยกเว้นตึกนั้นไม่สามารถทำเป็นร้านอาหารได้เลย ก็คงจะไม่ทำต่อ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสั่งให้ร้านต่าง ๆ มาทำใบอนุญาต คนจีนจะให้คนไทยดำเนินการ ส่วนหนึ่งเพราะพูดภาษาไทยไม่ได้ จึงต้องใช้ล่ามหรือนอมินี ซึ่งก็ไม่สามารถเอาผิดคนจีนได้ เพราะสุดท้ายก็เปิดกิจการในชื่อคนไทย

นอกจากนี้ พื้นที่อื่นของเขตห้วยขวางนอกถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ก็มีการปิดร้านเช่นกัน แต่อาจเป็นที่เอกชน ไม่ใช่ถนนใจกลางเขต และเป็นที่สาธารณะแบบถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ซึ่งประชาชนจะสะท้อนปัญหาและเป็นประเด็นมากกว่า

ทั้งนี้ สก.ประพฤทธ์ยืนยันว่า ร้านอาหารจีนที่ยังเปิดอยู่ในปัจจุบันนั้นถูกต้องตามกฎหมายและเสียภาษีถูกต้องทั้งหมดแล้ว จากเมื่อก่อนที่เปิดกันแบบเถื่อนโดยไม่เสียภาษีและไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร

ซบเซาลงชัดเจน

สก.ประพฤทธ์เผยว่า ปัจจุบัน 2 ฝั่งถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด เดิมนักท่องเที่ยวและประชาชนจะมาไหว้เทวาลัยพระพิฆเนศและเดินข้ามฝั่งมาหาของกิน แต่ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีคนข้ามถนนมาแล้ว รวมถึงคนจีนก็ไม่เยอะเท่าเมื่อก่อน

จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ลดลงมีผลกับบรรยากาศในพื้นที่ เนื่องจากชาวจีนเปลี่ยนเส้นทางท่องเที่ยว ไปภูเก็ต สมุย พัทยา เกาะล้านมากกว่า กรุงเทพฯ กลายเป็นทางผ่านแทน ไม่ใช่จุดแวะเหมือนเมื่อก่อน เท่าที่ได้สอบถาม พบว่าชาวจีนเที่ยวในย่านนี้รวมทั้งในกรุงเทพฯ น้อยลง เมื่อมาไทยก็ตรงไปที่อื่นเลย

“2-3 ทุ่มก็เงียบเเล้ว จากเมื่อก่อนเที่ยงคืนคนยังเยอะอยู่เลย”

จากการคาดการณ์ส่วนตัว คิดว่าบรรดาร้านอาหารจีนบนถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญน่าจะสร้างเม็ดเงินสะพัดรวมกัน 30-40 ล้านบาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันคงลดลงมากว่าครึ่งหนึ่ง ประมาณ 15 ล้านบาทเท่านั้น

ข้อเสียที่ร้านอาหารจีนปิดกิจการ ในภาพรวมเศรษฐกิจก็อาจจะดูซบเซา เพราะย่านนี้เคยเกิดการจับจ่ายใช้สอย มีนักท่องเที่ยวและประชาชนเดินเป็นจำนวนมาก แม้จะไม่ซบเซาเท่าช่วงโควิด แต่ก็ไม่คึกคักเหมือนเดิมแล้ว

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ที่ย่านห้วยขวางเริ่มบูม ชาวบ้านและผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมต่างได้รับผลกระทบ มีเหตุเดือดร้อนรำคาญ ความไม่สงบบ่อยครั้ง ตลอดจนปัญหาจราจร และมลพิษทางเสียงในพื้นที่ซึ่งเกิดจากนักท่องเที่ยว ทำให้ห้วยขวางช่วงถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญกลายเป็นเมืองกลางคืน

แต่เมื่อร้านอาหารจีนเริ่มทยอยปิดกิจการ พบว่าเริ่มเงียบและสงบลง เนื่องจากชาวบ้านเป็นผู้พักอาศัยไม่ได้มีผลประโยชน์จากการที่คนจีนมาเปิดกิจการ การจราจร มลพิษทางเสียง การทะเลาะวิวาท เหตุเดือดร้อนรำคาญลดลง และน่าอยู่น่าอาศัยมากขึ้น

“เงียบมาประมาณ 3-4 เดือนแล้ว ตั้งแต่ต้นปี ขนาดตรุษจีนยังเงียบ อาจเป็นเพราะเขตไม่ได้จัดงานดังเช่นปีก่อน เนื่องจากปัญหาค่อนข้างเยอะ เพราะสุดท้าย เขตห้วยขวางและประชาชนไม่ได้อะไรจากการจัดงาน กลายเป็นไปส่งเสริมคนจีน เหมือนเอาเงินของคนไทยให้คนจีน เพราะซื้อของจีน กินของจีน สุดท้ายเงินก็ตกไปอยู่ที่คนจีน”

สอดคล้องกับที่ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจลงไปสำรวจถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ “นายชนพล ฤทธิ์ทยมัย” เจ้าของร้านขายยาและของชำ “ศรีเจริญ” ที่อยู่ในพื้นที่มานานกว่า 50 ปีเผยว่า จำนวนร้านอาหารจีนที่ปิดตัวลงอาจไม่ได้เห็นภาพชัดเจน แต่ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงคือจำนวนผู้บริโภคที่ลดลง เทียบกับปีก่อนแม้จะเที่ยงคืนก็ยังมีคนเดิน แต่ปัจจุบันช่วงค่ำก็เงียบแล้ว

ค่าเช่าย่านนี้ไม่ได้ถูก ถ้าติดถนน 1 คูหา อยู่ที่ 3-5 หมื่นบาทต่อเดือน ถ้าเช่าก่อนโควิดก็ 5 หมื่นบาทขึ้นไป คนค้าขายด้วยกันมองออก และสังสัยว่า “ทำไมร้านอาหารจีนยังเปิดได้ทั้งที่ไม่มีลูกค้า” ด้วยค่าแรงและวัตถุดิบ ควรจะขาดทุน แต่ร้านยังเปิดได้เหมือนเดิมและอยู่ได้เป็นปี

การที่คนจีนเข้ามาเปิดร้านในพื้นที่ ด้านหนึ่งเป็นผลพลอยได้ นักท่องเที่ยวจีนที่มาย่านนี้จะมุ่งซื้อของจากร้านจีนด้วยกันก่อน ถ้าร้านเหล่านั้นไม่มีของก็จะมาที่ร้านคนไทย แต่ผลกระทบที่ตามมาคือปัญหาจราจร ที่จอดรถในซอย ลำพังคนไทยในพื้นที่ก็เยอะแล้ว ส่วนปัญหาเสียงดัง เมื่อก่อนเที่ยงคืนคนจีนยังทำงานอยู่เลย แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีแล้ว

“เมื่อก่อนคนจีนจะมาเดินหาห้องเช่าเองเลย ร้านเราก็เคยโดนถาม ถือเงินสดมาเลย ว่าขอแบ่งเช่าได้ไหม สัญญากี่ปีก็ว่ากันไป…ตอนนี้คนจีนน้อยลงมาก แต่ก่อนร้านเราก็ขายคนจีนได้ แต่ตอนนี้แทบไม่มี ต้นปีนี้ลดลงเรื่อย ๆ ถ้าเทียบกับปีก่อน ซึ่งลดลงมาตั้งแต่โควิดแล้ว ต้องยอมรับว่ามีผลกับผู้ประกอบการคนไทยเองด้วย ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการจีน”

ทั้งนี้ จากการสอบถามไปยังสำนักงานเขตห้วยขวาง พบว่ามีร้านอาหารจีนและซูเปอร์มาร์เก็ตจีนบริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญปิดกิจการแล้ว 12 ร้าน ดังนี้ สุกี้มังกร, เฉาเทียนเหมินหม่าล่าหม้อไฟ, JP Shabu, หม่าล่ามาสเตอร์, กวนไจ่แอลลี, ร้านหยุ่งอุ้ย ซุปเปอร์สโตร์ (สะสมอาหาร), ชวานหยู๋, หงโหลชานทิง, ตวน เสียว เสี่ยว, สุกี้ฟูดา, PIGGY MALA KHAMOO และ ฟู่หวา (ข้อมูล ณ วันที่ 19 มี.ค. 67)