รู้จัก สงกรานต์ ของเพื่อนบ้านอาเซียน วัฒนธรรมร่วมที่ไม่ได้มีแค่ไทย

songkran
AFP

รู้จักเทศกาล “สงกรานต์” ของเพื่อนบ้านในอาเซียน ที่ต่างเรียกว่า “วันขึ้นปีใหม่” วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ที่ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย

“สงกรานต์” มาจากคำว่า “สํกฺรานฺติ” (สัง-กราน-ติ) เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า เคลื่อน หรือย้าย ซึ่งหมายถึงการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีหนึ่งเข้าสู่อีกราศีหนึ่ง ตามปฏิทินแบบสุริยคติ

โดยการย้ายจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งจะเกิดขึ้นช่วงวันที่ 14-15 ของแต่ละเดือน ซึ่งเหตุผลที่สงกรานต์ในเดือนเมษายนเป็นสงกรานต์ใหญ่ที่สุดเพราะช่วงที่ย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษพระอาทิตย์จะมีกำลังมากที่สุด และตามหลักโหราศาสตร์ราษีเมษถือเป็นลัคนาของโลก ชาวอินเดียใต้จึงฉลองปีใหม่ในช่วงนี้

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “อุษาคเนย์” ช่วงเวลานี้เป็นหลังฤดูเก็บเกี่ยวและกำลังเข้าสู่หน้าแล้ง ไม่มีฝน ไม่มีการทํานา และอากาศร้อน เมื่อพราหมณ์จากอินเดียเดินทางเข้ามายังภูมิภาคนี้ ก็ได้พบกับวัฒนธรรมการนับถือผีที่มีอยู่เดิมนับพันปีมาแล้ว ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพธีกรรมบางอย่าง ให้สัมพันธ์กับความเชื่อดั้งเดิมในท้องถิ่น

ช่วงที่ไม่มีการเพาะปลูกและต้องรอฝน ผู้คนในอุษาคเนย์จะมีการไหว้ผีบรรพชน เพื่อให้อำนวยพรสามารถเพาะปลูกผลผลิตได้งอกงามในปีนั้น จึงผสมผสานกันเกิดเป็นสงกรานต์

สำหรับประเทศไทย สงกรานต์ในอดีตไม่มีการสาดน้ำแม้ในสมัยอยุธยา จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เพิ่งเริ่มมีหลังจากนั้นมาจนปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน ดินแดนต่าง ๆ รอบประเทศไทยก็มีเทศกาลสงกรานต์และเรียกว่า “ปีใหม่” ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น พม่า ลาว และกัมพูชา เนื่องจากเป็นประเพณีร่วมกันของชาวพุทธและผู้ที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สงกรานต์พม่า

เทศกาลสงกรานต์ในพม่าจะอยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนเมษายน หรือ เดือน Takudela ซึ่งเป็นเดือนแห่งการข้ามสู่ปีใหม่ โดยเรียกว่า “ตะจังเหย่ตะเบงบะแวด่อ” หรือ “เหย่บะแวด่อ” (เหย่ แปลว่า พิธีน้ำ, บะแวด่อ แปลว่า เทศกาล) ตรงกับวันที่ 13-17 เมษายน ของทุกปี โดยในวันปีใหม่นี้จะเริ่มต้นด้วยเทศกาล “ธินจัน” (Thingyan) และมีการเล่นน้ำกันตลอดทั้ง 5 วัน

เดิมทีสงกรานต์พม่ามีเพียงการประพรมน้ำในขันเงิน และเริ่มมีการสาดน้ำกันเมื่อประมาณต้นศตวรรษที่ 20 นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นช่วงมงคลมีการทำบุญ เข้าวัดถือศีล ทรงน้ำพระพุทธรูปและพระเจดีย์ มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เป็นต้น

สงกรานต์ลาว

เทศกาลสงกรานต์ในลาว จะจัดขึ้นวันที่ 14-16 เมษายน (3 วัน) วันแรกเรียกว่า “วันสังขารล่วง” เป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไปและรับสิ่งใหม่เข้ามา

วันที่สองเรียกว่า “วันเนา” ซึ่งเป็นวันแห่งครอบครัว มีการรวมตัวญาติพี่น้องกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้ผู้ใหญ่ และวันสุดท้าย “วันสังขารขึ้น” ซึ่งเป็นวันปีใหม่ จะมีการบายศรีสู่ขวัญ อวยพรซึ่งกันและกัน รวมถึงมีการสรงน้ำพระ และการแห่นางสงกรานต์ของลาว ที่เรียกว่า “นางสังขาร”

สงกรานต์กัมพูชา

สำหรับเทศกาลสงกรานต์กัมพูชา ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวกันพูชาเช่นกัน จัดขึ้นในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว เรียกกันว่า “โจลชนัมทเมย” ตรงกับวันที่ 13 หรือ 14 เมษายน ของทุกปี

ก่อนจะถึงวันปีใหม่ 3 วัน ทุกบ้านจะต้องจัดเตรียมอาหารและทำความสะอาดบ้านเรือน แต่งตัวด้วยดอกไม้และเครื่องหอม จัดโต๊ะบูชา มีการนำอาหารไปถวายพระ ช่วยกันขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย และเติมน้ำในตุ่มที่วัดให้เต็ม

ส่วนวันที่สองคือวันครอบครัว หรือวันรวมญาติ และวันที่สาม คือ วันเริ่มต้นปีใหม่ จะมีการนิมนต์ สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และมีการละเล่นต่าง ๆ ที่วัด

ล่าสุด กัมพูชาก็ได้เตรียมยื่นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมรวม 10 รายการต่อยูเนสโกเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งมีสงกรานต์เป็นหนึ่งในรายการที่วางแผนยื่นเสนอเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

ที่มา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง