สงกรานต์ไม่ได้มีที่ไทยประเทศเดียว

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ในอีก 2 ปีข้างหน้า “สงกรานต์ในประเทศไทย” อาจจะไม่ใช่มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เพียงแห่งเดียวของโลกแล้ว เมื่อกัมพูชาได้ประกาศที่จะยื่น “สงกรานต์ในกัมพูชา” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ด้วย

จนกลายเป็นความแหลมคมทางวัฒนธรรมการขึ้นปีใหม่ทั้งของไทย-สปป.ลาว-เมียนมา-กัมพูชา ที่มีประเพณีที่มาจากรากเดียวกันแพร่กระจายออกไป เพียงแต่ว่าไทยเป็นประเทศแรกที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ไปก่อนหน้านี้แล้ว

UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนรายการ “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditonal Thai New Year Festival) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (the Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage : ICS-ICH) ครั้งที่ 18 (ICS-ICH 18) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-9 ธันวาคม 2566 ที่บอตสวานา

กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ดำเนินการยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนรายการ “สงกรานต์ในประเทศไทย” ต่อยูเนสโก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 โดยผ่านขั้นตอนในประเทศ ตั้งแต่กระบวนการจัดทำเอกสารขอขึ้นทะเบียนร่วมกับชุมชนผู้ถือครองและผู้ปฏิบัติ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และได้รับความยินยอมจากชุมชนไทยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ขณะที่คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบให้เสนอขอขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” ซึ่งเป็นการเสนอขอขึ้นทะเบียนรายการ “โดยประเทศเดียว” (national nomination)

ทั้งนี้ จากการประเมินเอกสารขอขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยของคณะผู้ประเมิน (Evaluation Body) ในครั้งนั้นได้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลให้พิจารณาขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติเนื่องจากข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารเป็นที่น่าพอใจตามเกณฑ์การพิจารณา โดยเอกสารของไทยเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

ดูเหมือนว่าการเสนอขอขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการขอขึ้นทะเบียนรายการ “โดยประเทศเดียว (national nomination)” ที่ผ่านมา ทางกัมพูชาซึ่งก็มีประเพณีในลักษณะเดียวกัน ที่เรียกว่า “โจลชนัมทเมย” เหมือนกัน จนนำมาสู่การรายงานข่าวในปลายเดือนมีนาคม 2567 ว่า ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ได้ประกาศแผนเสนอรายชื่อทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ 7 รายการ และทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ 3 รายการต่อ UNESCO เพื่อขอขึ้นบัญชีรายชื่อมรดกโลกเช่นกัน

โดยสถานที่ 7 แห่งที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ของกัมพูชา ได้แก่ อดีตเรือนจำเอ็ม-13 (M-13), พิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวลสเลง และศูนย์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เจืองแอ็ก, วัดบันทายฉมาร์, สถานที่ตั้งของอังกอร์เบอเรยและพนมฎา, โบราณสถานภูเขาพนมอูดง, ปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย, วัดเบ็งเมเลีย และอุทยานเทือกเขาพนมกุเลน

ส่วนทรัพย์สินอีก 3 รายการที่วางแผนยื่นเสนอเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ หนึ่งในนั้นก็คือ สงกรานต์กัมพูชา, กรอมา (Krama) ผ้าพันคอที่ทอแบบดั้งเดิม และประเพณีการแต่งงานแบบเขมร โดยรัฐบาลกัมพูชาตั้งเป้าว่าจะยื่นเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียนสงกรานต์กัมพูชาลงในรายการมรดกที่จับต้องไม่ได้ของ UNESCO ในปี 2568 และคาดว่าจะได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการในปี 2569

“เราจะเสนอรายชื่อเหล่านี้เป็นมรดกโลกของ UNESCO เพื่อให้ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษของเราได้รับการยอมรับและอนุรักษ์ในระดับสากล” ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าว