วันครอบครัว 14 เมษายน คนไทย 59% เห็นสงกรานต์สำคัญ เพราะเป็นวันครอบครัว

songkran festival
AFP

เปิดที่มาและความหมาย “วันครอบครัว” 14 เมษายน โพลสงกรานต์ ปี 2567 ชี้คนไทย 59% คิดว่าประเพณีสงกรานต์มีความสำคัญ เพราะเป็นวันครอบครัว ที่ได้พบกันพร้อมหน้าและทำกิจกรรมร่วมกัน

วันที่ 14 เมษายน 2567 เทศกาลสงกรานต์ หรือ ปีใหม่ไทย ถือเป็นช่วงเวลาที่คนในครอบครัวมีโอกาสได้อยู่พร้อมหน้าและทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ไหน ก็จะนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนา ไปรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุในครอบครัว เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

ในแง่สถาบันทางสังคม ครอบครัว คือ สถาบันขั้นแรกของมนุษยชาติ เป็นหน่วยขนาดเล็กที่สุดของสังคม เป็นผู้สร้างและกำหนดสถานภาพ สิทธิ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม เป็นสถาบันแห่งแรกในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและพัฒนา

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจึงได้มีการกำดหนดวันครอบครัวขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนตระหนักและเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว

ที่มาวันครอบครัว

สำหรับประเทศไทย ได้กำหนดให้วันที่ 14 เมษายนเป็นวันครอบครัว เมื่อ พ.ศ.2532 เนื่องจากคณะกรรมาธิการกิจการสตรีและเยาวชน สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปผลจาการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ว่าปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ตามมาเป็นอันมาก

ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด อาชญากรรม และปัญหาต่างๆ อีกมากมาย ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวด้วย เนื่องจากครอบครัวที่ไม่มีความอบอุ่น ขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว

อีกทั้งลักษณะวิถีชีวิตของครอบครัวในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก สมาชิกในครอบครัวต่างต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ หนุ่มสาวที่อยู่ต่างจังหวัดก็เข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำ

ทำให้ต้องทิ้งพ่อแม่ที่ชราภาพไว้ตามลำพัง พ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูก และครอบครัว ไม่มีเวลาสั่งสอนลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วน แต่จะสร้างปัญหาให้กับสังคม

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2532 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมี”พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ” เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้เสนอมติโดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอ

โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยและอนุมัติ ให้ วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันสมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก

การกำหนดให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปีเป็นวันครอบครัวก็เพื่อมุ่งหวังให้มีการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยแต่ดั้งเดิม ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจของประเทศ

อีกทั้งยังถือเป็นโอกาสทำพิธีรดน้ำดำหัว ขอพรผู้ผู้ใหญ่ในครอบครัว โดยเฉพาะ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ตลอดจนครูบาอาจารย์ และบุคคลที่เคารพนับถือ

รวมไปถึงการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุพการีหรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ สร้างความอบอุ่นให้แก่คนในครอบครัว

สงกรานต์สำคัญ เพราะเป็นวันครอบครัว

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชนที่มีต่อ “ประเพณีสงกรานต์ ปี 2567 หลังจากได้ขึ้นทะเบียนยูเนสโกเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 18,623 คน ครอบคลุมทุกภูมิภาค

ผลสรุปส่วนหนึ่ง ปรากฏว่าเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าประเพณีสงกรานต์มีความสำคัญ ร้อยละ 71.22  คือ เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย ร้อยละ 69.48 เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาอย่างชัดเจนสืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ เป็นความงดงาม ซึ่งบ่งบอกถึงคุณลักษณะของความเป็นไทย เช่น ความกตัญญู ความโอบอ้อมอารี ความเอื้ออาทร ความสนุกสนานร่าเริง เป็นต้น

ส่วนร้อยละ 59.75 คือ เป็นวันครอบครัว เพราะเห็นว่าช่วงดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปหาครอบครัวจึงเป็นช่วงเวลาแห่งความรัก ความอบอุ่น ที่จะได้พบกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา และทำกิจกรรมร่วมกัน

เมื่อถามว่านอกจากการเล่นน้ำสงกรานต์ เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ นิยมทำกิจกรรมใดในช่วงประเพณีสงกรานต์มากที่สุด ปรากฏว่า อันดับ 1 ร้อยละ 70.91 คือ การทำบุญตักบาตร ตามด้วยร้อยละ 67.72 การสรงน้ำพระ และร้อยละ 67.17 กลับภูมิลำเนา

ขณะที่เมื่อถามเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ว่าต้องการรดน้ำขอพรบุคคลใดในปีนี้ ผลสรุปชี้ว่า อันดับ 1 ร้อยละ 91.73 คือ พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ร้อยละ 46.47 ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ และร้อยละ 37.41 พระสงฆ์

ที่มา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง