เปิดเคล็ดลับความอร่อย กินข้าวแช่อย่างไรให้ถูกวิธี เมนูยอดฮิตช่วงหน้าร้อน

ข้าวแช่
ภาพจากเฟซบุ๊ก Ruen Mallika Royal Thai Cuisine -Sukhumvit 22 : เรือนมัลลิการ์ สุขุมวิท 22

“ข้าวแช่” เมนูยอดนิยมช่วงสงกรานต์และหน้าร้อน เปิดเคล็ดลับความอร่อย กินอย่างไรให้ถูกวิธี

ข้าวแช่ เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ ที่นิยมทำขึ้นเพื่อสังเวยเทวดาและถวายพระสงฆ์ในช่วงสงกรานต์ เดิมที ข้าวแช่ ไม่ได้ทำกินกันทั่วไป แต่เริ่มจากการปรุงขึ้นเป็นพิเศษเพื่อบูชาเทวดา เพื่อขอพรให้มีทายาทสืบสกุล และต่อมาได้ยึดถือเป็นประเพณี ทำกันเฉพาะเทศกาลสงกรานต์

ในประเทศไทย เชื่อว่าข้าวแช่เป็นที่รู้จักโดย “เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น” พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีเชื้อสายมอญ ได้ทำถวายรัชกาลที่ 4 และเป็นที่โปรดปรานของพระองค์เป็นอย่างมาก

จนกระทั่งเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นได้ติดตามรัชกาลที่ 4 ไปถวายราชการที่พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี (เขาวัง) และได้ถ่ายทอดการทำข้าวแช่แก่บ่าวไพร่ จนแพร่หลายในราชสำนักและในจังหวัดเพชรบุรี

เวลาผ่านไป ครั้นเมื่อสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ข้าวแช่จึงได้เผยแพร่ออกไปนอกวังและถูกปรับปรุงเพิ่มเติมจนกลายที่นิยม

ข้าวแช่ หมายถึง อาหารปรุงจากข้าวเจ้าหุงสุก แล้วแช่น้ำเย็น ๆ กินพร้อมเครื่องกับข้าวที่ต้องการ โดยนิยมกินช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี เพราะทำให้รู้สึกเย็นชื่นใจ ถือเป็นภูมิปัญญาของคนในสมัยก่อนที่ได้เรียนรู้วิธีคลายร้อนจากความอร่อย

ชนชั้นสูงในสมัยก่อนมีวิธีปรุงกับข้าวและเครื่องเคียงที่ซับซ้อน ดังจะเห็นได้จากเครื่องเคียงข้าวแช่ ซึ่งประกอบไปด้วยลูกกะปิ, หอมแดงสอดไส้หน้าปลาแห้ง, พริกหยวกสอดไส้หมูสับกับกุ้ง, ไข่แดงเค็มชุบแป้งทอด, หมูฝอยผัดน้ำพริกมะขาม, ปลายี่สนผัดหวาน และหัวไชโป๊วผัดหวาน พร้อมกันนั้น ยังมีผักแกะสลักสวยงาม และมะม่วงเปรี้ยวตามฤดูกาลด้วย

ในด้านสรรพคุณ กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุว่า วัตถุดิบในเมนูข้าวแช่ ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด ที่สำคัญ คือ น้ำลอยดอกมะลิและข้าวสวยหุงด้วยน้ำใบเตย ซึ่งมะลิ และใบเตย เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณแก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ แก้ไข้ตัวร้อน ช่วยให้ร่างกายสดชื่น

สำหรับเครื่องเคียง ลูกกะปิ ทำจากปลาย่าง มีส่วนผสมของหอมแดง ต้นหอม ข่า กระเทียม ตะไคร้ ผิวมะกรูด กระชาย พริกชี้ฟ้า ซึ่งช่วยให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก ป้องกันการเป็นลมในช่วงหน้าร้อนได้เป็นอย่างดี

พริกหยวกสอดไส้หมูสับห่อไข่ มีโปรตีนสูง บำรุงร่างกาย ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก วิธีทำ นำเนื้อหมูมาสับให้ละเอียด

หมูฝอย หรือ เนื้อฝอย มีโปรตีนสูงช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ส่วน ไชโป๊ผัด มีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย และหอมแดงทอด ป้องกันหวัด ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก

นอกจากนี้บางแห่งยังมี มะม่วงสับ ซึ่งเป็นเครื่องเคียงที่มีสรรพคุณ ช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ อีกด้วย

วิธีกินข้าวแช่

สำหรับวิธีการกินข้าวแช่ให้อร่อย ให้เริ่มกินจากเครื่องเคียงก่อน จากนั้นจึงกินข้าวแช่ และน้ำลอยดอกไม้ตาม เพื่อความสดชื่น เคล็ดลับนี้จะทำให้ข้าวแช่ยังคงความหอมกลิ่นมะลิ น้ำข้าวแช่ไม่มัน และไม่เสียรสชาติ

โดยข้อห้ามเด็ดขาดคือไม่ควรตักเครื่องเคียงลงไปในข้าว และน้ำลอยดอกไม้ เพราะจะทำให้น้ำมันลงไปในน้ำลอยดอกไม้ และกลิ่นคาวหวานจะปะปนกัน

การกินเครื่องเคียงควรเริ่มจากลูกกะปิ กินคู่กับมะม่วงเปรี้ยว ส่วนพริกหยวกสอดไส้ควรกินคู่กับกระชายอ่อน และหากจะเปลี่ยนเครื่องเคียง แนะนำให้กินผักก่อน เพื่อเป็นการล้างรสชาติเดิมในปาก