พระราชนิพนธ์ ภาพเก่า คำบอกเล่าของพระสหาย ในสารคดี “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในออสเตรเลีย”

หอจดหมายเหตุแห่งชาติออสเตรเลีย : ภาพ

เราพอจะทราบกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศออสเตรเลีย แต่ไม่ทราบรายละเอียดและมีภาพเผยแพร่ออกมาให้เห็นไม่มาก ช่วงนี้จึงนับเป็นโอกาสดีที่สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้จัดทำสารคดี “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับออสเตรเลียที่ดำเนินมาครบ 69 ปีในปีนี้ แล้วเผยแพร่สารคดีออกมาให้ชาวไทยได้ชม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยประทับอยู่ในออสเตรเลียเป็นเวลานานถึง 6 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2513-2519 ซึ่งขณะนั้นพระองค์ดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ช่วงเวลา 6 ปีที่มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรไทยประทับอยู่ในออสเตรเลีย พระองค์ทรงศึกษาที่โรงเรียนคิงส์ (The King’s School) ในนครซิดนีย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่อายุเก่าแก่ที่สุดในออสเตรเลีย จากนั้นทรงเข้าศึกษาและสำเร็จการศึกษาจากราชวิทยาลัยนายร้อยทหารบกดันทรูน (Royal Military College, Duntroon) ในกรุงแคนเบอร์รา จากนั้นทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ ในนครเพิร์ท ซึ่งนับเป็นกองปฏิบัติการทางการทหารชั้นนำของออสเตรเลีย

สารคดี “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในออสเตรเลีย” มีความยาวประมาณ 17 นาที จัดทำออกมา 2 เวอร์ชั่น คือ เวอร์ชั่นภาษาไทย และเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ประกอบด้วยภาพเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยือนออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. 2505 เรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งฉายให้เห็นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของไทยกับออสเตรเลีย

เนื้อหาหลักของสารคดีบอกเล่าเรื่องราวในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับและทรงศึกษาที่ออสเตรเลีย ซึ่งภาพส่วนใหญ่ไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะมาก่อน

ภาพเหตุการณ์ในอดีตถูกร้อยเรียงและตัดสลับกับการสัมภาษณ์พระสหายที่เรียนร่วมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่น ฯพณฯ พลเอก เดวิด เฮอร์ลีย์ ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลียคนปัจจุบัน ฯพณฯ พลเอก เซอร์ ปีเตอร์ คอสโกรฟ อดีตผู้สำเร็จราชการฯ และพระสหายชาวออสเตรเลียคนอื่น ๆ ที่มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลาและกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่ออสเตรเลีย

ตอนต้น ๆ ของสารคดีฉายให้เห็นช่วงเวลาที่พระองค์ทรงศึกษาที่โรงเรียนคิงส์ และเผยว่าในวารสารของโรงเรียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ว่า “My stay at The King’s School has given me an opportunity to get to know Australians well, and as we all have to learn more and more how to live together in this part of the world. I am grateful for this opportunity. Through this experience, certain words like ‘Australia’ is no longer just a word, but brings up memories of gum trees, wattle in bloom, dust, floods, suburbs, outback mineral resources, and Australians.”

แปลเป็นภาษาไทยว่า “การเข้าศึกษาที่ The King’s School ทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสทำความรู้จักกับชาวออสเตรเลียเป็นอย่างดี เนื่องจากเราทุกคนต้องเรียนรู้ถึงวิธีการอยู่ร่วมกันมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณสำหรับโอกาสนี้ ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้คำว่า ‘ออสเตรเลีย’ ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำหนึ่งคำอีกต่อไป แต่นำมาซึ่งความทรงจำที่เกี่ยวกับต้นกัม ดอกวัตเทิลที่บานสะพรั่ง ฝุ่นผง อุทกภัย ชานเมือง แหล่งแร่ในชนบทอันห่างไกล และชาวออสเตรเลีย”

ไมเคิล นิวซัม พระสหายร่วมชั้นเรียนที่โรงเรียนคิงส์เล่าว่า “พระองค์เสด็จมาประทับที่แมคอาเธอร์เฮาส์ ในปี พ.ศ. 2513 และผมเป็นหนึ่งคนที่ได้รับเลือกให้ถวายการต้อนรับ และช่วยให้การปรับพระองค์ในโรงเรียนง่ายขึ้น นี่คือนักเรียนใหม่ ใหม่สำหรับออสเตรเลีย และชีวิตนักเรียนประจำในออสเตรเลียของพระองค์ก็ทรงเหมือนนักเรียนใหม่อื่น ๆ หมายความว่า ทรงได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับนักเรียนคนอื่น ๆ”

สาธุคุณอาเธอร์ บริดจ์ บาทหลวงและพระสหายร่วมชั้นเรียนอีกคน ย้อนความทรงจำว่า “วันหนึ่งในการประชุมของโรงเรียน เราได้รับแจ้งว่าจะมีนักเรียนใหม่มาเรียน นั่นคือมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรไทย ผมรู้สึกเกรงใจในพระองค์ คุณน่าจะพอนึกออกนะ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้พบเจ้านายระดับสูง”

“ผมมักจะบอกเพื่อน ๆ ว่า พระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็ง และทรงมีความมั่นใจตามแบบกองทัพ เพราะทรงได้รับการฝึกฝนจากดันทรูน” สาธุคุณอาเธอร์กล่าว

“สำหรับชายหนุ่มคนใดก็ตาม การเข้าศึกษาในราชวิทยาลัยนายร้อยทหารบกที่รู้จักกันในนามว่า ดันทรูน ถือเป็นเรื่องที่น่าหวาดหวั่น” เซอร์ ปีเตอร์ คอสโกรฟ ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลียคนที่ 26 พระสหายที่ดันทรูน กล่าวก่อนที่สารคดีจะเข้าสู่ช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาในราชวิทยาลัยนายร้อยทหารบกดันทรูน

พลเอก ดันแคน เอ็ดเวิร์ด ลูอิส อดีตผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคง เอเอสไอโอ พระสหายร่วมชั้นเรียน เล่าถึงความทรงจำร่วมกับพระองค์ที่ดันทรูนว่า “น่าจะเป็นที่โรงอาหารในเย็นวันหนึ่งที่ผมได้พบกับพระองค์ ผมจำได้ว่าคิดอะไรในตอนนั้น โอ้โห ชายหนุ่มคนนี้ที่อยู่ที่นี่กับเราในวันนี้ ช่างน่าประหลาดใจเสียนี่กระไร”

“หลังจากนั้นเราก็ตระหนักว่า ไม่นะ พระองค์ท่านเป็นหนึ่งในพวกเรา ทรงประทับอยู่ที่นี่เพื่อทรงศึกษาร่วมกับเรา” พลเอก เดวิด จอห์น เฮอร์ลีย์ ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย คนที่ 27 (คนปัจจุบัน) พระสหายอีกท่านกล่าวต่อ

“พวกเราถูกเตือนให้ปฏิบัติต่อพระองค์เหมือนที่ปฏิบัติต่อพวกเรากันเอง ดังนั้นจึงสำคัญมากที่จะไม่มองว่าพระองค์ทรงถูกแยกออกไป แต่ต้องมองว่าพระองค์ทรงเป็นส่วนหนึ่งของทีม”

“เมื่อเราได้รับการฝึกต่าง ๆ โดยทหาร พระองค์ทรงเป็นส่วนหนึ่งในชั้นเรียน เราเป็นหนึ่งในนักเรียนนายร้อยที่มีข้อปฏิบัติที่ต้องปฏิบัติตาม”

“ลึก ๆ แล้วคุณตระหนักตลอดเวลาว่า ชายผู้นี้ทรงแตกต่าง พระองค์จะทรงขึ้นครองราชย์ และจะทรงดำรงตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดิน”

“พระองค์ประทับอยู่กับพวกเราในตอนกลางวัน แต่ตอนกลางคืนอาจจะเสด็จไปสถานทูต เพื่อทรงร่วมงานเลี้ยงหรือกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นบทบาทที่แตกต่างกันอย่างมาก พระองค์ทรงเป็นนักเรียนนายร้อย แต่เมื่อทรงก้าวย่างออกจากดันทรูนไปในสังคมชาวไทย ก็ทรงมีสายสัมพันธ์ที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง พวกเราที่เหลือไม่ต้องทำเช่นนั้น เราไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนดังเช่นพระองค์ ผมคิดว่าสิ่งนั้นคือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ คุณเรียนรู้และเติบโตจากประสบการณ์ที่ได้รับ”

“เราตระหนักว่าประเทศไทยไม่เพียงแต่สมาชิกในราชวงศ์ แต่รวมถึงประชาชนชาวไทยได้ฝากความหวังเป็นอย่างมากกับประเทศออสเตรเลียในขณะนั้น เรารับโอกาสนั้นไว้ พระองค์ก็เช่นกัน และผมคิดว่า หลังจาก 4 ปี พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาในฐานะชายหนุ่มที่เพียบพร้อม”

“ผมคิดเสมอว่า สิ่งที่พระองค์ทรงปฏิบัติที่นี่เป็นการเตรียมพระองค์ เราอยู่ที่นี่เพื่อเริ่มต้นอาชีพของเรา แตกต่างจากพระองค์ที่ประทับอยู่ที่นี่เพื่อตระเตรียมพระองค์สำหรับสิ่งที่จะมาถึง”

นี่คือคำบอกเล่าจากพระสหายทั้ง 3 ท่านที่สลับกันบอกเล่าทั้งในฐานะพระสหายที่เคยร่วมเรียน และในฐานะชาวออสเตรเลียที่มีโอกาสต้อนรับ ว่าที่กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย ในเวลานั้น

ฯพณฯ นายอัลลัน แมคคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำสารคดีเรื่องนี้ว่า ปลายปี 2561 สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยได้รับภาพถ่ายและวีดิทัศน์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงศึกษาอยู่ที่ราชวิทยาลัยนายร้อยทหารบกดันทรูน ซึ่งเป็นภาพที่ถูกเก็บรักษาอย่างดีในหอจดหมายเหตุแห่งชาติออสเตรเลีย และยังไม่เคยถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะมาก่อน

หลายเดือนต่อมา สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยจึงคิดว่าจะนำภาพถ่ายและวีดิทัศน์เหล่านั้นมาพัฒนาเป็นสารคดี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มจากการส่งทีมงานไปค้นคว้าภาพและวีดิทัศน์เพิ่มเติม ติดต่อประสานงานกับทางการ ขอสัมภาษณ์พระสหาย รวมเวลาที่ใช้พัฒนาและสร้างสรรค์สารคดีกว่า 2 ปี

สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยได้จัดงานฉายสารคดีรอบปฐมทัศน์ และจัดแสดงนิทรรศการพระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยท่านเอกอัครราชทูตได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จทรงเป็นประธานในงาน และได้เชิญเอกอัครราชทูตประเทศอื่น ๆ ที่ประจำการอยู่ในประเทศไทย เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น เข้าร่วมงานด้วย

“วีดิทัศน์สารคดีและนิทรรศการพระบรมฉายาลักษณ์เป็นการเน้นย้ำถึงประวัติศาสตร์ที่ออสเตรเลียและไทยมีร่วมกัน ประวัติศาสตร์นี้ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติในยุคปัจจุบัน ที่เพิ่งยกระดับสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งนายสกอตต์ มอร์ริสัน และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของทั้ง 2 ประเทศ ได้ลงนามร่วมกันเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา” ฯพณฯ อัลลันกล่าว

ท่านทูตอัลลันเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญที่เพิ่งเกิดขึ้นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสกับท่านทูตว่า พระองค์ท่านรักออสเตรเลีย และเมื่อท่านทูตกราบทูลฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ตัวท่านทูตเองชมสารคดีนี้แล้วประมาณ 10-15 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ตรัสตอบว่า พระองค์เองก็ทรงดูแล้วหลายรอบเช่นกัน

“พระองค์ท่านคงจะไม่เสด็จฯมา ถ้าหากพระองค์ท่านไม่ทรงชอบสารคดีชุดนี้” เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยกล่าวอย่างภูมิใจ และบอกอีกว่า ไม่มีประเทศไหนอีกแล้วที่จะสามารถทำสารคดีแบบนี้ได้อย่างที่ออสเตรเลียทำ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จไปประทับอยู่ประเทศอื่นเพียงเวลาสั้น ๆ แต่ทรงประทับอยู่ที่ออสเตรเลียนานถึง 6 ปี ดังนั้น ออสเตรเลียเหมาะสมแล้วที่จะทำสารคดีนี้

“รู้สึกว่าเป็นคะแนนทางด้านการทูตที่ได้เผยแพร่ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับออสเตรเลียให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยได้ชม” ฯพณฯ อัลลันกล่าวด้วยความภูมิใจ

สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยจัดทำสารคดีเป็น 2 เวอร์ชั่น คือ เวอร์ชั่นภาษาไทย และเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียฯได้ร่วมกับสำนักพระราชวัง และกรมประชาสัมพันธ์ นำสารคดีเวอร์ชั่นภาษาไทยฉายออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และได้นำสารคดีเผยแพร่ในเฟซบุ๊กแฟนเพจของสถานเอกอัครราชทูตฯให้ได้ชมกันทั่วไปด้วย สามารถเข้าไปชมกันได้ที่ www.facebook.com/australiainthailand หรือติดตามชมผ่านทางสำนักข่าวต่าง ๆ ซึ่งสถานทูตจะอนุญาตให้เผยแพร่ต่อไป