ก้าวของ “ตูน บอดี้สแลม” ปรากฏการณ์แห่งชาติ

เรื่องที่อยู่ในพื้นที่ข่าวทุกวันในเดือนนี้และจะอยู่เรื่อย ๆ ไปจนถึงสิ้นปีก็คือข่าว “โครงการก้าวคนละก้าว” ที่นักร้องซูเปอร์สตาร์ ตูน บอดี้สแลม หรือ อาทิวราห์ คงมาลัย วิ่งจาก อ.เบตง จ.ยะลา ขึ้นสู่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย รวมระยะทาง 2,191 กิโลเมตร เพื่อระดมทุนบริจาคช่วยเหลือโรงพยาบาลศูนย์ 11 แห่ง โดยตั้งเป้าระดมเงินบริจาค 700 ล้านบาท

การวิ่งครั้งนี้เป็นการวิ่งระดมเงินบริจาคครั้งที่ 2 หลังจากที่เขาทำสำเร็จในการวิ่ง 400 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ-อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปลายปีที่แล้ว ระดมเงินได้ 63 ล้านบาท

การที่ตูนอุทิศร่างกายของตัวเองเพื่อการกุศลครั้งนี้ นำมาซึ่งปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากมายในสังคมไทย เป็นปรากฏการณ์แห่งชาติ ที่มีหลากแง่หลายมุม ซึ่งคัดมากล่าวถึงได้ประมาณหนึ่งเท่านั้น

คนสนับสนุน ร่วมบริจาค

ตลอดเส้นทางการวิ่งของตูน เราได้เห็นภาพว่ามีผู้คนมากมายตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดง วัยรุ่น วัยกลางคน ไปจนถึงคุณตาคุณยาย ออกมาต้อนรับให้กำลังใจส่งเสียงและชูป้าย “พี่ตูนสู้ ๆ” แรงสนับสนุนและยอดบริจาคหลั่งไหลจากทุกช่องทางที่เปิดรับ นับถึงตอนที่ตูนวิ่งไปประมาณ 1 ใน 3 ของระยะทางทั้งหมดได้เงินบริจาคราว 300 ล้านบาท ถ้าเทียบสัดส่วนเงินบริจาคกับระยะทางที่เหลือ โครงการก้าวฯ จะได้เงินเกินเป้าแน่นอน

คำวิจารณ์…ช่วยแค่ปลายเหตุ

โครงการนี้ทำให้คนได้คิดและถกเถียงกันถึงปัญหาสาธารณสุขไทยมากขึ้น มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์และไม่เห็นด้วยออกมาไม่น้อย ทั้งนี้ไม่ใช่วิจารณ์ต่อต้านการทำดีในเชิงปัจเจกของตูน แต่วิจารณ์ว่าการวิ่งนี้แก้ปัญหาเพียงปลายเหตุ หากจะแก้จริงต้องแก้ถึงโครงสร้างการจัดสรรงบประมาณของรัฐ รัฐบาลควรใส่ใจปัญหาสาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของประเทศมากกว่าการเอาเงินภาษีไปใช้ในทางที่ไม่จำเป็น รวมถึงติงเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของแต่ละโรงพยาบาลว่าควรใช้งบประมาณในทางที่เกิดประโยชน์สูงสุด

แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์เองก็ออกมาแสดงความเห็นว่ารัฐบาลดูแลเรื่องสาธารณสุขน้อยกว่าที่ควร อย่างเช่นหมอท่านหนึ่งแสดงความเห็นว่า การที่รัฐบาลดูแลพัฒนาแต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่และไม่ใส่ใจพัฒนาโรงพยาบาลขนาดเล็ก ไม่มีทางที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่จะรองรับคนไข้ได้เพียงพอ เพราะคนไข้ล้วนแต่ต้องการไปใช้บริการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูงกว่า

เชิดชูคนดี-ฮีโร่

วีรกรรมการวิ่งครั้งนี้ทำให้ตูนได้รับความชื่นชมและถูกเชิดชูเป็นฮีโร่ของประเทศ นอกจากความชื่นชมจากประชาชนทั่วไป ตูนยังได้รับพระกรุณาจาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานสิ่งของ ช่อดอกไม้ และทรงมีพระราชกระแสรับสั่งทรงเป็นกำลังใจให้ตูนและทีมงานทุกคนมีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่เข้มแข็ง และปฏิบัติภารกิจที่ตั้งไว้ให้สำเร็จ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ชื่นชมและให้กำลังใจการทำความดีของตูน และยังมีองค์กรมอบรางวัลเชิดชูวีรกรรมของตูน เช่น โครงการเสริมสร้างการพัฒนาคนและสังคมไทย โดยสภาสื่อมวลชนไทย มอบรางวัล คนดีศรีรัตนโกสินทร์ มูลนิธิคนดี มอบรางวัล คนดีประเทศไทย

อานิสงส์โฆษณา-ประชาสัมพันธ์

โครงการดังอย่างนี้ สินค้าแบรนด์ไหนเข้าร่วมสนับสนุนย่อมมีโอกาสปรากฏในภาพและพื้นที่สื่อเยอะ แบรนด์ที่อยู่คู่กับตูนมาตั้งแต่ก่อนจะมีโครงการก้าวฯ ก็คือ ไนกี้ ถึงแม้ไม่มีข้อมูลว่ายอดขายของไนกี้พุ่งกระฉูดแค่ไหนในระหว่างนี้ แต่ถ้าสังเกตในโซเชียลมีเดียจะเห็นคนคอมเมนต์ถามอยู่เรื่อย ๆ ว่า เสื้อไนกี้รุ่นที่พี่ตูนใส่ชื่อรุ่นอะไร รองเท้าแบบพี่ตูนซื้อที่ไหน รุ่นอะไร กี่บาท ฯลฯ นาฬิกาการ์มิน ออกนาฬิกาพร้อมลายเซ็นตูน ขายมอบรายได้ให้โครงการ หรืออย่างเศรษฐีใจบุญที่บริจาคหลักสิบล้าน ถึงแม้ว่าทุกองค์กรทุกแบรนด์มีเจตนาดีในการบริจาคช่วยเหลือ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลพลอยได้คือเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีด้วย จึงเห็นว่ามีหลายองค์กร หลายแบรนด์เข้าร่วมบริจาคแล้วนำเสนอผ่านสื่อว่าแบรนด์ของตนเองได้ร่วมบริจาคกับโครงการนี้

คนดังระดับโลกให้กำลังใจ

การวิ่งของตูนยังเป็นที่รับรู้ไปถึงนอกประเทศ ถึงขนาดมีคนดังระดับโลกให้กำลังใจด้วย โม ฟาราห์ นักวิ่งเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกโพสต์อินสตาแกรมให้กำลังใจตูนว่า “Keep running @artiwara. Leave all your records behind. The next step is a new start. #breakthrough #break2191k” และยังมีนักร้องดัง เอ็ด ชีแรน ที่เซ็นหมวกโครงการก้าวคนละก้าวให้ตูนเมื่อวันที่เขามาแสดงคอนเสิร์ตในเมืองไทย

สร้างแรงบันดาลใจ

ในบทบาทนักร้องดัง ตูน บอดี้สแลม มีอิทธิพลสูงมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะกับบรรดาวัยรุ่น เขาสร้างแรงบันดาลใจให้กำลังใจผู้คนผ่านบทเพลงที่มีเนื้อหาฮึกเหิมให้กำลังใจ

แต่เมื่อตูนก้าวออกไปไกลกว่าความเป็นบอดี้สแลม เขาสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้มหาชนในวงกว้างมากกว่า วันนี้วีรกรรมของเขาทำให้เขาเป็นฮีโร่ของคนทั่วไป ทุกเพศทุกวัย แม้แต่กับคนที่ไม่รู้จักคำว่า “บอดี้สแลม” มาก่อน

ตลอดเส้นทางที่ตูนวิ่งผ่าน มีคนมากมายเข้าร่วมวิ่งด้วย ส่วนในบางพื้นที่ที่ตูนไม่ได้วิ่งผ่านมีประชาชนรวมกลุ่มกัน วิ่งระดมทุนบริจาคแล้วนำไปมอบให้โครงการก้าวฯต่ออีกที ซึ่งการที่มีคนลุกขึ้นมาวิ่งก็เป็นไปตามอีก วัตถุประสงค์ที่ตูนหวังนอกจากการระดมเงินบริจาคช่วยโรงพยาบาลก็คือ อยากให้คนไทยออกกำลังกายและดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น

ความสนุกในออนไลน์

ในโลกออนไลน์นอกจากการแชร์ข่าวชื่นชมพี่ตูนแล้ว ยังมีอะไรสนุก ๆ เกิดขึ้นเยอะ อย่างในช่วงแรกที่มีการเอาเพลงของบอดี้สแลมมาตั้งเป็นชื่อตึกชื่อห้องต่าง ๆ ในโรงพยาบาล ต่อมาเมื่อเริ่มออกวิ่งมีผู้คนอยากเซลฟี่กับพี่ตูนเยอะมากทำให้พี่ตูนต้องหยุดบ่อย ๆ จึงมีคนทำโปรแกรมกรอบรูปเซลฟี่กับพี่ตูนขึ้นมา ให้ทุกคนได้มีรูปเซลฟี่กับพี่ตูนไปทำภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊ก

ที่สนุกสุดก็คือแฟนเพจ “วันนี้พี่ตูนได้อะไร” ที่เปิดมาไม่กี่วันก็มีคนติดตามหลักแสน เพราะความสนุกสนานของเนื้อหาในเพจที่คอยอัพเดตภาพให้ดูว่าแต่ละวันมีใครเอาอะไรแปลก ๆ มาให้พี่ตูนบ้าง ซึ่งหลายอย่างไม่ใช่ของแปลก เพียงแต่ไม่เหมาะที่จะเอามาให้คนกำลังวิ่ง เช่น ภาพที่ฮามาก ๆ คือภาพที่ใช้เป็นภาพโปรไฟล์เพจเป็นภาพพี่ตูนได้รับกล้วยทั้งเครือ เห็นแล้วไม่รู้จะดีใจหรือสงสารพี่ตูนดีที่ต้องแบกกล้วยเครือใหญ่ขนาดนั้น การวิ่งระยะทางไกล 2,191 กิโลเมตร ต้องใช้กำลังกายและกำลังใจที่แข็งแกร่งมาก

เรื่องกำลังใจไม่ต้องห่วงอยู่แล้ว พี่ตูนมีเกินร้อย แต่เรื่องกำลังกายนั้นน่าห่วง เพราะสภาพร่างกายของเขาอ่อนล้าลงทุกวัน ขณะนี้ทีมงานกำลังหาทางที่จะเซฟร่างกายตูนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ …หนทางยังอีกยาวไกล คนทั่วประเทศเป็นกำลังใจให้ “พี่ตูน” ก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกายด้วยหัวใจที่ไร้ขีดจำกัดของเขา