คิงส์เกตถือไพ่ “เหนือ” ไทย 5 เดือนต่อรองทำเหมืองเพิ่ม

เหมืองแร่ทองคำ

ประเด็นปัญหาข้อพิพาทระหว่าง ราชอาณาจักรไทย กับบริษัท Kingsgate Consolidated Limited ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำชาตรีในพื้นที่รอยต่อจังหวัดพิจิตร-เพชรบูรณ์ ได้หวนกลับมาอีกครั้ง โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวภายหลังการรับทราบรายงานความคืบหน้าในการแก้ปัญหาของกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า ยังอยู่ในขั้นของการเจรจาเพื่อประนอมข้อพิพาทระหว่างไทย กับคิงส์เกต ตามคำแนะนำของอนุญาโตตุลาการ และจะชี้ขาดอีกครั้งในช่วงสิ้นปี 2565 “ต้องรอข้อสรุปผลการเจรจาออกมาก่อนว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าผลการเจรจาเป็นที่น่าพอใจ Kingsgate ก็อาจจะถอนเรื่องออกจากอนุญาโตตุลาการได้” นายวิษณุกล่าว

ต้นเหตุคำสั่ง คสช.

ข้อพิพาทดังกล่าวเป็นผลมาจากการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 72/2559 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ โดย คสช.ได้สั่งระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ การต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2559

คำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้เหมืองแร่ทองคำชาตรี (Chatree Gold Mine) พื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดพิจิตรกับจังหวัดเพชรบูรณ์ ของบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Kingsgate Consolidated ต้อง “ปิดกิจการ” ลงไปเป็นเวลาถึง 5 ปี

และตามมาด้วยข้อขัดแย้งระหว่างบริษัท Kingsgate กับรัฐบาลไทย ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า การระงับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำชาตรีของรัฐบาลไทย (คสช.) นั้น เป็นการ “ละเมิด” ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) โดยอ้างเหตุผลเรื่องของปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทั้ง ๆ ที่ยังมีข้อโต้แย้งและไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่า สารพิษตกค้างในพื้นที่เกิดจากกระบวนการทำเหมืองแร่ของบริษัทอัคราฯ

และตามมาด้วยการยื่นเรื่องต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 เพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น
พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหาย

อย่างไรก็ตาม หลังการต่อสู้ในคณะอนุญาโตตุลาการมาได้ 4 ปี มีรายงานข่าวจากผู้เกี่ยวข้องเข้ามาว่า ฝ่ายไทยไม่สามารถ “พิสูจน์” ข้อกล่าวหาที่ว่า สารพิษตกค้างในพื้นที่นั้นเกิดจากกระบวนการทำเหมืองแร่ เนื่องจากไทยไม่มีรายงานการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม การตกค้าง ก่อนการทำเหมืองแร่จะเริ่มต้นขึ้น จนกลายมาเป็นจุดอ่อน ประกอบกับการใช้คำสั่ง คสช.เพื่อระงับการทำเหมืองแร่ การสำรวจ การต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ “เป็นการทั่วไป” โดยที่ไม่ได้ระบุไว้ว่า เป็นคำสั่งปิดเหมืองชาตรีโดยตรง ในทางปฏิบัติ คำสั่ง คสช.ไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีข้อตกลง FTA กับประเทศไทย ขณะที่ห้วงเวลาในการสั่งระงับการทำเหมืองแร่ทองคำก็มี บริษัทอัคราฯเพียงบริษัทเดียวที่ทำเหมืองแร่อยู่ที่จังหวัดพิจิตร

พ.ร.บ.แร่เปิดทาง Kingsgate

ในเมื่อสถานการณ์ของฝ่ายไทยในคณะอนุญาโตตุลาการ “ตกเป็นรอง” ฝ่าย Kingsgate มาตั้งแต่เริ่มต้นและมีแนวโน้มที่จะแพ้ ในทางปฏิบัติจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล ด้วยการอาศัยอำนาจตาม “พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ (2560)” ในช่วงระหว่างปี 2563-2564 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้หวนกลับมาพิจารณาอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ และคำขอต่ออายุประทานบัตรของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งถูก คสช.ที่ 72/2559 ให้ “ระงับ” การดำเนินการทั้งหมดไปตั้งแต่ปี 2560

โดยในเดือนตุลาคม 2563 คณะกรรมการแร่ตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 ได้ให้ความเห็นชอบ “อนุญาต” อาชญาบัตรพิเศษที่ 3/2563-46/2563 ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2568 เพื่อการสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง (397,696 ไร่) ในพื้นที่ อ.ชนแดน กับ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ (คำขอที่ บมจ.อัคราฯ ยื่นไว้ตั้งแต่ปี 2546 และปี 2548) อาชญาบัตรพิเศษฉบับใหม่นี้ให้มีอายุในการสำรวจไม่เกินแปลงละ 5 ปี

และล่าสุดในเดือนธันวาคม 2564 คณะกรรมการแร่ ก็ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ “ต่ออายุ” ประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินจำนวน 4 แปลง แบ่งเป็น 1) ประทานบัตรที่ 25528/14714 ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ 2) ประทานบัตรที่ 26910/15365 3) ประทานบัตรที่ 6911/15366 และ 4) ประทานบัตรที่ 26912/15367 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ออกไปอีก 10 ปี มีอายุตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2574

นอกจากนี้ กพร.ยังได้ “ต่ออายุ” ใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2551 (ใบอนุญาตแปรรูปทองคำ-เงิน) ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร กับที่ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ออกไปอีก 5 ปี (19 มกราคม 2565-18 มกราคม 2570) โดยให้เหตุผลที่ว่า คำขอต่ออายุประทานบัตรทั้งหมดเป็นคำขอที่ บมจ.อัคราฯ ได้ยื่นไว้ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 และ พ.ร.บ.แร่ 2560 ในพื้นที่ประทานบัตรเดิม และต่อมาได้ยื่นเอกสารประกอบคำขอเพิ่มเติมตามที่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ (2560)

บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จึงได้หวนกลับมาเปิดดำเนินการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีอีกครั้งเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตของผู้เกี่ยวข้องที่ว่า บริษัท Kingsgate แสดงความยินดีที่เหมืองจะกลับมาเปิดดำเนินการ

ต่อรองคู่ขนานอีก 5 เดือน

อย่างไรก็ตาม การได้รับการต่ออายุประทานบัตรจำนวน 4 แปลง การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง และการกลับมาต่ออายุโรงงานประกอบโลหกรรม อาจยัง “ไม่เพียงพอ” ที่จะสนองความต้องการของบริษัท Kingsgate ในการยื่นถอนกรณีพิพาทกับรัฐบาลไทย ออกจากคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ จนเป็นที่มาของการเลื่อนคำตัดสินชี้ขาดออกไปเป็นช่วงสิ้นปี 2565

ในระหว่างนี้ บริษัท Kingsgate ได้ดำเนินการปรับปรุง การเข้าพื้นที่ การเปิดโรงงานโลหกรรมแห่งที่ 2 เพื่อที่จะกลับมาเปิดดำเนินการเหมืองแร่ทองคำชาตรี รวมไปถึงการแต่งตั้งให้ Precious Metal Refining Company Limited หรือ PMR ตั้งโรงงานแปรรูปแร่ทองคำและเงินที่ผลิตได้จากเหมืองแร่ทองคำชาตรีที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของบริษัทที่จะดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยต่อไป

นอกจากนี้ ในรายงานการสำรวจแร่สำรองฉบับล่าสุดของบริษัทยังแสดงให้เห็นว่า ปริมาณแร่ทองคำสำรองในเหมืองชาตรีได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.3 ล้านออนซ์ทองคำ หรือเพิ่มขึ้นจาก 0.89 ล้านออนซ์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 46) ขณะที่ปริมาณสำรองแร่เงินก็ได้เพิ่มขึ้นจาก 8.3 ล้านออนซ์ เป็น 12.2 ล้านออนซ์ (เพิ่มขึ้น 47%) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในอายุการทำเหมืองชาตรีต่อไปอย่างน้อย 8-10 ปี เพียงแต่ว่าปริมาณสำรองทองคำที่เพิ่มมาใหม่นี้ บางส่วนอยู่นอกพื้นที่ประทานบัตรหรือพื้นที่อาชญาบัตรที่ขอไว้

ประเด็นเหล่านี้เองอาจเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลสำคัญที่ว่า ทำไมอนุญาโตตุลาการจึงเลื่อนคำตัดสินชี้ขาดออกไป เพื่อเปิดทางให้ “กระบวนการเจรจาต่อรองผลประโยชน์คู่ขนาน” ระหว่างรัฐบาลไทย กับบริษัท Kingsgate ดำเนินการต่อไปอีก 5 เดือน โดยมีพัฒนาการที่สำคัญจากมติ ครม.วันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ “เปิดทาง” ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดำเนินการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พร้อมกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมใน 3 กิจการ คือ กิจการสำรวจแร่, กิจการทำเหมืองแร่และ/หรือแต่งแร่ และกลุ่มกิจการถลุงแร่หรือประกอบโลหกรรม