จุรินทร์นำทัพเอกชนไทย เปิดดีลยอดขายตลาดซาอุฯ รวม 12,000 ล้านบาท

เปิดดีลยอดขายตลาดซาอุฯ

“จุรินทร์” นำคณะภาคเอกชนไทยลุยเปิดตลาดซาอุดีอาระเบีย เซ็น MOU ตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย ใช้เป็นเวทีขับเคลื่อนการค้า คาดจะตกลงซื้อขายระหว่างกันได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี เผยยังประสบความสำเร็จขายได้ทันที 2,200 ล้านบาท รวมยอด 12,200 ล้านบาท

วันที่ 30 สิงหาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายอัจลาน อะลาจลัน ประธานสภาหอการค้าซาอุดีอาระเบีย และเปิดงาน Saudi-Thai Business Forum ที่สภาหอการค้าซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมาว่า กระทรวงพาณิชย์ได้นำคณะภาคเอกชน 138 ราย เดินทางไปเจรจาการค้าที่ซาอุดีอาระเบีย

ต้องถือว่าครั้งนี้ประสบความสำเร็จมาก เพราะสามารถทำ MOU ร่วมกันระหว่างสภาเอกชนของประเทศไทยกับสภาเอกชนของซาอุดีอาระเบีย มีการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบียขึ้นมา และได้มีการเซ็น MOU แล้ว หลังจากนี้สภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย จะขับเคลื่อนการเจรจาทางการค้า คาดการณ์ว่าสามารถทำการค้าร่วมกัน ซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันนี้ที่มีการลงนามจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบียขึ้น

ทั้งนี้ ยังมีการทำสัญญาซื้อขายด้วยการเซ็น MOU ตกลงกันได้แล้ว 10 คู่ ที่เจดดาห์และที่ริยาด มีมูลค่าทั้งหมดรวมกัน 1,000 ล้านบาท และมีการเจรจาธุรกิจจับคู่ซื้อขายอีก 1,200 ล้านบาท รวมกับคาดการณ์ในอนาคตที่จะซื้อขายกันภายใน 1 ปี ก็จะรวมเป็นมูลค่า 12,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมจากการเดินทางนำคณะเอกชนไปที่ซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้

สำหรับสินค้าที่ขายได้ดี คือ อาหาร เครื่องปรุงรส ผักสด เครื่องแกง อาหารกระป๋อง อาหารทะเล ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง ผลไม้กระป๋องและผลไม้สด รวมทั้งสินค้าอื่น ๆ ที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตร อาหารเสริม ซึ่งสินค้าเหล่านี้ เริ่มมีวางขายที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในซาอุดีอาระเบียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นห้าง LuLu Hypermarket หรือห้าง Manuel Market ที่ตนไปสำรวจมาแล้ว

โดยเฉพาะอาหารไทย ผลไม้ไทย สินค้าอาหารกระป๋อง ถือว่าเป็นอาหารยอดนิยมของชาวซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นสินค้าที่มีอนาคต และคิดว่าต่อไปซาอุดีอาระเบียจะเป็นประตูในการกระจายสินค้าไทยไปกลุ่มประเทศตะวันออกกลางรวมทั้งกลุ่ม GCC กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ 6 ประเทศด้วย

ขณะนี้ซาอุดีอาระเบีย ต้องการดึงนักลงทุนจากทั่วโลกและนักลงทุนจากไทย เพื่อไปร่วมโครงการใหญ่ที่ท่านมกุฎราชกุมารของซาอุดีอาระเบียทรงเปิดตัวออกมา คือ โครงการ Saudi Vision 2030 ด้วยการดึงนักลงทุนจากทั่วโลก และไทยเองก็สนใจดึงนักลงทุนจากซาอุดีอาระเบียมาลงทุนที่ประเทศไทย เพราะมีหลายภาคส่วนที่ไทยต้องการนักลงทุนจากซาอุดีอาระเบีย คือ สามารถจับมือได้ทั้งการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคการผลิตอื่น ๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจุรินทร์ได้กล่าวบนเวที Saudi-Thai Business Forum ว่า ปัจจุบันโลกกําลังเผชิญกับปัญหาความท้าทายที่สําคัญยิ่ง คือ ความมั่นคงด้านพลังงานและด้านอาหาร จึงเป็นช่วงเวลาสําคัญที่สุดที่ทั้ง 2 ประเทศจะเร่งกระชับความเชื่อมโยง เพื่อเสริมศักยภาพของกันและกัน ในการเปลี่ยนความท้าทาย ให้เป็นความเข้มแข็งร่วมกัน โดยซาอุดีอาระเบีย จะเป็นแหล่งความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย และประเทศไทยจะเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้กับซาอุดีอาระเบีย

นอกจากนี้ นายจุรินทร์ยังได้เชิญชวนนักลงทุนชาวซาอุดีอาระเบียมาลงทุนในประเทศไทย โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าจาก FTA ที่ประเทศไทยทํากับ 18 ประเทศ 14 ฉบับ เช่น อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ฮ่องกง เปรู ชิลี RCEP และจะทําเพิ่ม เช่น EFTA และ UK และไทยยังมีศักยภาพเป็นประตูการค้าสู่อาเซียน และซาอุดีอาระเบียเป็นประตูการค้าสู่ตะวันออกกลาง