ทาทาสตีล ยอดขายเหล็กครึ่งปี’65 กวาด 16,351 ล้าน ลุยตลาดส่งออก

ิิเหล็ก - ทาทา สตีล (ประเทศไทย)

ทาทาสตีล เผยยอดขายครึ่งปีแรกเพิ่ม 16,351 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณยอดขาย 611,000 ตัน ลดลง จากความต้องการเหล็ก ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจลด พร้อมเพิ่มช่องทางขายปลีกเหล็กพิเศษ เหล็กยาว 18 เมตร ดันตลาดส่งออกเพิ่ม

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทาทา สตีล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทมีปริมาณการขายรวมครึ่งปีแรก ปีการเงิน 2566 (เม.ย.-ก.ย. 65) อยู่ที่ 611,000 ตัน ลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 672,000 ตัน ขณะที่การส่งออกอยู่ที่ 86,000 ตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 81,000 ตัน ส่งผลให้บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 16,351 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 15,786 ล้านบาท

ราจีฟ มังกัล
ราจีฟ มังกัล

และเมื่อดูยอดขายเฉพาะไตรมาส 2 ของปีการเงิน 2566 (ก.ค.-ก.ย. 65) ยอดขายรวมอยู่ที่ 303,000 ตัน ลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 326,000 ตัน ส่งออกอยู่ที่ 48,000 ตัน ลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 53,000 ตัน ส่งผลมียอดรายได้รวมของไตรมาส 2 อยู่ที่ 7,625 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 7,894 ล้านบาท

“จากปริมาณการขายที่ลดลง บริษัทจะเพิ่มช่องทางการขายปลีกเพิ่มขึ้น โดยเน้นเหล็กชนิดพิเศษ เช่น ลวดเหล็กเสริมยางรถยนต์และเหล็กเส้นเหนียวพิเศษต้านแผ่นดินไหว เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ พร้อมทั้งหาตลาดใหม่ ๆ ซึ่งขณะนี้ได้มีการยื่นไปขออนุญาตในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ตะวันออกกลาง พร้อมดันตลาดส่งออกทดแทนตลาดในประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาเครื่องจักรเพื่อยกระดับเหล็กลวด”

นอกจากนี้ ยอดขายในครึ่งปีหลังคาดว่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะว่าภาครัฐ ภาคเอกชนจะมีการลงทุนโดยเฉพาะด้าน โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ภายหลังจากหมดฝน น้ำท่วม ทั้งนี้ เพื่อฟื้นฟูการเติบโตภายในประเทศและเศรษฐกิจ ประกอบกับในช่วงไตรมาส 3 และ 4 จะเป็นช่วงของการขายสำหรับภาคการก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัจจัยเสี่ยง คือ อัตราเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับสูงราว 6%, ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น, เงินบาทที่อ่อนค่า จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบที่ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ

สำหรับภาพรวมปริมาณการใช้เหล็กโดยรวมของประเทศในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค.) พบว่าปรับตัวลดลง 11.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงคาดการณ์ว่าปริมาณการขายปีการเงิน 2566 ของบริษัท น่าจะปรับตัวลดลงราว 5% เมื่อเทียบปีก่อนอยู่ที่ 1.33 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความพยายามที่จะผลักดันการส่งออกเข้ามาชดเชยการขายในประเทศที่ชะลอตัวลง จากเดิมบริษัทมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 8-10% ของยอดขายรวม ขณะที่ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ได้มีการผลักดันการส่งออกขึ้นเป็น 14-15%

สำหรับแนวโน้มราคาขายเหล็กในไตรมาส 3 นี้ คาดปรับตัวลงต่อเนื่องอีก 1,000-1,500 บาท/ตัน จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 25,000 บาท/ตัน และไตรมาส 1 อยู่ที่ 28,000 บาท/ตัน จากความต้องการใช้เหล็กที่ลดลง และต้นทุนภาคพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่มองโอกาสราคาขายจะกลับไปสู่ระดับ 30,000 บาท/ตัน นั้นก็เป็นไปได้ยากมากในช่วง 1-2 ปีนี้ เป็นไปตามภาวะอุตสาหกรรมเหล็กที่ยังไม่ฟื้นตัว จากเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว

นายราจีฟกล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางราคาเหล็กในตลาดโลกยังต้องติดตามต้นทุนวัตถุดิบ เช่น เศษเหล็ก แร่เหล็ก ที่จะส่งผลกระทบ รวมไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนและความต้องการใช้เหล็กซึ่งจะสะท้อนราคาเหล็กได้ อีกทั้งมองว่าใน 6 เดือนข้างหน้า ความต้องการเหล็กจะยังไม่ทำให้ราคาเหล็กมีการขยับขึ้น เนื่องจากผลของต้นทุนการผลิตเหล็กยังคงมีอยู่สูง

ส่วนราคาเหล็กในช่วงไตรมาสหนึ่งที่ผ่านมามีราคาอยู่ที่ 28,000 บาทต่อตัน ขณะที่ไตรมาสสองปรับลดลงมาอยู่ที่ 25,000 บาทต่อตัน โดยมองว่าจากนี้ 1-2 ปี ราคาเหล็กจะยังไม่ปรับตัวไปสูงขึ้นเมื่อเทียบช่วงที่ราคาเหล็กสูงถึง 30,000 บาทต่อตัน โดยราคาเหล็กยังมองว่าจะยังมีการปรับขึ้น-ลง และยังต้องดูปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมเหล็ก การผลิตเหล็กและความต้องการเหล็กในประเทศจีน เงินเฟ้อสงครามที่จะกระทบต่อราคาเหล็กในอนาคต

ด้านการลงทุนของบริษัทในปีนี้อยู่ที่ 300 ถึง 400 ล้านบาท แต่เชื่อว่าในปีหน้าการลงทุนจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 500 ล้านบาท ซึ่งจะลงทุนและพัฒนาด้านการผลิตโดยเฉพาะเหล็กพิเศษรวมไปถึงเหล็กยาว 18 เมตร แม้ประเทศไทยจะไม่มีความต้องการ แต่ในหลายประเทศมีความต้องการจึงเป็นส่วนหนึ่งที่บริษัทจะผลักดันขยายช่องทางการส่งออกให้มากขึ้น