กกร. ย่องเงียบพบ กระทรวงพลังงาน ร่วมมือกู้วิกฤตพลังงาน

นายสนั่น อังอุบลกุล

กกร. พบ กระทรวงพลังงาน ร่วมมือกู้วิกฤตพลังงานสุพัฒนพงษ์แจงมาตรการช่วยลดผลกระทบราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าได้หมื่นล้าน

วันที่ 29 ธันวาคม 2565 ที่กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย

นำโดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ กกร. พร้อมผู้บริหารระดับสูงจากภาคอุตสาหกรรม ได้เข้าพบนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อหารือถึงความร่วมมือด้านการจัดการกับวิกฤตพลังงานอย่างสร้างสรรค์และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ได้พบปะหารือและอธิบายสถานการณ์ด้านราคาเชื้อเพลิงซึ่งเป็นวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นทั่วโลกและเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ต่อคณะ กกร. ว่า

ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แสวงหาแนวทางต่าง ๆ ร่วมกันในการลดผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า อาทิ การปรับเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูก การแสวงหาแหล่งก๊าซในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม การลดความต้องการใช้ก๊าซในภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อให้มีก๊าซจากอ่าวไทยเข้าสู่ภาคไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เป็นต้น

โดยแนวทางที่กล่าวมาข้างต้น สามารถลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าตลอดปี 2565 ได้หลายหมื่นล้านบาท รวมถึงมีนโยบายให้ทาง กฟผ. ได้แบกรับภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าไว้บางส่วนเพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน

นอกจากนี้ในปี 2566 ทิศทางของต้นทุนเชื้อเพลิง มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเนื่องจากจะมีการผลิตก๊าซจากแหล่งในอ่าวไทยได้เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลงในที่สุด

ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ให้ความร่วมมือกับภาคเอกชนมาโดยตลอด เห็นได้จากตัวอย่างการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการประหยัดพลังงานตามโครงการ 30-70/20-80 ที่มีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายพลังงาน โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม โดยการสนับสนุนเงินลงทุน 20-30% และความร่วมมืออื่น ๆ ในการอนุรักษ์พลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อทั้งการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และการร่วมเดินหน้าประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593

“ในเรื่องความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเกี่ยวกับต้นทุนด้านพลังงาน ทางกระทรวงพลังงานไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ใช้มาตรการต่าง ๆ อย่างเต็มที่ แต่ช่วงนี้ต้องยอมรับว่าเป็นวิกฤตพลังงานจริง ๆ จึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ใช้พลังงานรายสำคัญ อาทิ การพิจารณามาตรการจูงใจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การปรับเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่นทดแทนก๊าซธรรมชาติที่มีต้นทุนสูง รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการด้านอื่น ๆ

ซึ่งจะได้มีการนำข้อหารือและความเห็นต่าง ๆ ที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ในวันนี้ ทั้งของกระทรวงพลังงาน กกพ. และ กกร. มาแสวงหาแนวทางปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในการลดต้นทุนเชื้อเพลิงและคาดว่าจะสามารถลดค่าไฟฟ้าให้กับภาคอุตสาหกรรมได้ โดยมีเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นี้” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

สำหรับผลการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้มีการทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) สำหรับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมให้อยู่ที่ 154.92 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีการปรับลดลงจากมติ กกพ. เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2565 ที่ 190.44 สตางค์ต่อหน่วย หรือลดลง 35.53 สตางค์ต่อหน่วย

ซึ่งการลดค่าเอฟทีในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ กกพ. ในการคำนวณค่าเอฟที ซึ่งยังไม่รวมกับการลดต้นทุนที่จะเกิดขึ้นความร่วมมือทุกผ่ายในอนาคตอันใกล้ ซึ่งหากแล้วเสร็จก็จะเร่งเสนอให้คณะกรรมการบริหารโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) หรือ กกพ. พิจารณาให้มีผลทันที เพื่อลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าของ ธุรกิจ และอุตสาหกรรม รวมถึงร่วมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ของประเทศต่อไป