ซีอีโอ ปตท. มองวิกฤตพลังงานปีกระต่าย : กางแผนลงทุน 2 แสนล้าน

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
สัมภาษณ์พิเศษ

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ปตท.และบริษัทในกลุ่มมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้นราว 168,816 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบจาก 9 เดือนปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิรวม 186,111 ล้านบาท ปรับลดลง 9.3% จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 3/2565 ทำให้กลุ่ม ปตท.มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันลดลงถึง 17,000 ล้านบาท

วันที่ 26 ธันวาคม 2565 “นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ถึง แนวโน้มวิกฤตพลังงานในปีหน้า ว่า

แนวโน้มน้ำมันปี 66

สถานการณ์ราคาพลังงานปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปีนี้ 96 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปีหน้ามองแนวโน้มลดต่ำลงกว่าปีนี้ ก็ถือว่าเป็นข่าวดีน่าจะอยู่ที่ 85-95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากปัจจัยเศรษฐกิจที่อาจจะไม่ได้เติบโตมากนักสำหรับปีหน้า และก็เหตุการณ์สงครามอาจจะไม่สร้างความตื่นตระหนกได้เหมือนกับช่วงแรกๆ ของสงคราม ฉะนั้น แนวโน้มราคาก็จะอ่อนตัวลงกว่าปีนี้

เศรษฐกิจโลกถดถอยปีหน้า

ข้อดีของประเทศไทยคือ แม้ว่าโลกจะโตน้อยกว่าปีนี้ แต่เศรษฐกิจประเทศไทยจะโตมากกว่าปีนี้ นี่คือ ข้อดี ผมมองว่ามันเป็นโอกาสเช่น โออาร์จะได้รับผลดีหากคนเดินทางมากขึ้น ฉะนั้นเราปรับสถานีบริการของเราเพื่อรองรับคนให้พร้อมให้บริการ คนที่เค้าเพิ่งออกมาเห็นปั๊มน่าเข้าก็จะมีการใช้บริการมากขึ้น

“ภาพรวมของประเทศไทยดีกว่าหลายประเทศในโลก เพราะภาพรวมหลายธุรกิจเค้าจะโตน้อยกว่าปีนี้แต่ประเทศไทยจะโตมากกว่า เพราะประเทศเราเพิ่งเปิดประเทศเมื่อเดือนตุลาคม ฉะนั้น 9 เดือนแรกของปีนี้เครื่องจักรยังเดินไม่เต็มที่ แต่ปีหน้าจะเดินเต็มที่ ฉะนั้นคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเติบโตสูงกว่า ส่วนปตท.จะทำทั้งในและต่างประเทศ การเติบโตก็ขอให้ติดตาม”

การช่วยเหลือด้านพลังงาน

ปตท.ยังคงต้องดูแลและสร้างสมดุลระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้ถือหุ้น และประชาชน ก็ต้องทำไปโดยสร้างความสมดุล ความช่วยเหลือยังมีแต่คงไม่ถึงกับทำให้กระทบกับผลงานของตัวองค์กร นี่คือ หลักการที่เราจะดำเนินการ โดยหุ้นปตท.ที่ตกลงมากนั้น อยากให้ดูพื้นฐานการดำเนินการของเรา ซึ่งได้รักษาสมดุล ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

กางแผนลงทุน 2 แสนล้าน

เราได้เตรียมแผนการลงทุนในปี 2566 ของปตท.และบริษัท กลุ่ม ปตท. รวม 200,292 ล้านบาท โดยจะแบ่งเป็น การลงทุนของบริษัทใหญ่ในกลุ่ม ปตท. ซึ่งประกอบด้วย บมจ.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (GC), บมจ. GPSC บมจ.ไทยออยล์ (TOP) บมจ. IRPC คิดเป็นสัดส่วน 84% หรือ 168,431 ล้านบาท

โดยมุ่งเน้นไปที่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในประเทศ ปรับปรุงประสิทธิภาพธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น การลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ พลังงานลม และการพัฒนาต่อยอดธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก

ส่วนการลงทุนโดย ปตท.เอง 10% คิดเป็นเงิน 20,401 ล้านบาท จะลงทุนเกี่ยวกับโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 7 เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ซึ่งจะเสร็จในปีหน้า และท่อส่งก๊าซ บางปะกง -โรงไฟฟ้าพระนครใต้ จะเสร็จปี 2568 และท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 เหลือช่วงสุดท้ายคาดว่าจะเสร็จในปีหน้า และบริษัท ปตท.ถือหุ้น 100% อีกคิดเป็นสัดส่วน 6% มูลค่า 11,460 ล้านบาท ในส่วนของ PTTLNG จะลงทุน LNG Receiving Terminal จ.ระยอง ซีโอดีไปแล้วจะมีงบเหลือต้องน่ายนิดหน่อย

และมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คือ แหลมฉบังแห่งที่ 3 จะเริ่มในปี 2568 และมาบตาพุดระยะที่ 3 จะเริ่มได้ในปี 2569 และการลงทุนที่สนับสนับสนุนโครงการยานยนต์ไฟฟ้า อรุณ Plus เริ่มก่อสร้างโรงงานจะเสร็จในปี 2567 ในส่วนขอ Hirizon Plus และแพลตฟอร์ม EV Me เช่ารถซึ่งจะลงทุนในเรื่อง EV Feet ต่างๆ จะเพิ่มจากจำนวน 400 คัน เป็น 2,000 คันในปีหน้า

“การลงทุนปตท.สัดส่วนหลักจะเน้นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ ทั้งโรงแยกก๊าซ ท่อก๊าซเส้นที่ 5 ต่างๆ ทำตามแผนเพื่อสร้างโครงข่ายพลังงาน และสนับสนุนอีวีสร้างโรงงานรถไฟฟ้า จะเสร็จปี 2567 และสร้าง Nee S Curve ให้กับประเทศ ด้านสุขภาพต่างๆ ส่วนปตท.สผ.จะมุ่งสำรวจผลิตเสริมความมั่นคง

และจะเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติในเอราวัณให้ได้ตามแผนหลังจากได้เข้าพื้นที่ จีพีเอสซีก็ขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นตามนโยบายพลังงานที่ประกาศออกมา ส่วนโออาร์ก็เร่งปรับพื้นที่สถานีบริการน้ำมันนอกจากขายพลังงานแล้วก็จะให้เป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ ทำกิจกรรมได้มากขึ้น ปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นไทยออยล์ CFP และไออาร์พีซี คือ UCF ให้ผลิตตามนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาด GC ก็ปรับสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงมากขึ้น”

ทั้งนี้ในงบ 2 แสนล้านนี้ เป็นการลงทุนธุรกิจใหม่ที่ปตท.มุ่งไป ประมาณ ไม่ถึง 10% เป็นการลงทุนต่อยอดถ้าไปได้ดีก็จะมีการเพิ่มการลงทุน เพราะเรายังมีงบลงทุนเผื่อไว้อีกส่วนหนึ่งสามารถเพิ่มได้ ถ้ามีโครงการดีๆ ในส่วนโครงการอีวีเรายังมีการคุยกับลูกค้าอยู่ กรณีของเนต้าก็ต้องแล้วแต่เค้า แต่เราไม่ได้คุยรายเดียว

ลดนำเข้า LNG กระทบธุรกิจจำหน่ายก๊าซ

นโยบายรัฐบาลในการลดสัดส่วนการใช้แอลเอ็นจีลดการนำเข้า เอาวัตถุดิบอื่นมาทดแทนหรือประหยัดการใช้แอลเอ็นจีนำเข้าให้มากที่สุด ก็จะช่วยประเทศในการลดการนำเข้า แอลเอ็นจีแบบสปอต (สัญญาระยะสั้น) ที่่มีราคาแพงลงได้ ซึ่งการขายแอลเอ็นจีให้โรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้าของเราจะลดลงมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าจะมีการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานอื่นแทนแอลเอ็นจีหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม การประหยัดการใช้เป็นสิ่งที่ดี ไม่เพียงลดต้นทุนช่วยลดต้นทุนการนำเข้าแอลเอ็นจีที่แพง

ส่วนแผนลงทุนเมียนมาหลังปมร้อน

กรณีที่มีข่าวว่า กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินอร์เวย์ (Norway Sovereign Wealth Fund) ได้ตัดสินใจถอดหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ออกจากพอร์ตการลงทุนนั้น ซีอีโอ ปตท.ตอบในตอนท้ายว่า ในเมียนมาเราได้ไม่ได้ลงทุนเพิ่ม เป็นการลงทุนไว้เดิม อย่างแรกวันที่เราเข้าไปเราก็ทำเควายซีกับลูกค้าเรียบร้อย แล้วเราเข้าไปมันยังไม่เกิดปัญหา พอเกิดปัญหาเราก็แจ้งไปว่าจะไม่มีการลงทุนเพิ่มอีก

ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการลงทุนด้านก๊าซธรรมชาติของ ปตท.สผ. ซึ่งนั่นเป็นการทำสัญญาระยะยาว เราก็ยังดำเนินการตามสัญญา หลักการของเราคือ เป็นความมั่นคงทางด้านพลังงานของไทย และเป็นการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเมียนมา เพราะก๊าซธรรมชาติจากยาดานาได้นำไปใช้ปั่นไฟให้กับประชาชนเมียนมา 50% ซึ่งหากไม่มีก๊าซก็จะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน