ไทยขาดดุล 1.6 หมื่นล้าน แห่นำเข้า “อาวุธ” พุ่งพรวด 1,039%

ปิดบัญชีการค้าระหว่างประเทศของไทยปี 2565 ด้วยมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 287,067.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.5% ซึ่งถือเป็นการเติบโตเกินเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ 4% และเมื่อหักในส่วนของการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ออกไปแล้ว การส่งออกก็ยังคงขยายตัวที่ 4.7%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งออกจะบรรลุเป้าหมาย 4% ที่วางไว้ แต่ประเด็นสำคัญคือ ภาพการส่งออกเดือน ธ.ค. 2565 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายกลับมาติดลบ 14.6% เป็นการกลับมาติดลบเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน หลังจากที่เดือน ต.ค. 2565 ติดลบครั้งแรกในรอบ 20 เดือนนับจากกุมภาพันธ์ 2564 ส่วนการนำเข้าเดือนธันวาคม 2565 มีมูลค่า 22,752.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.0% ขาดดุลการค้า 1,033.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่การนำเข้า ปี 2565 มีมูลค่า 303,190.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.6% ส่งผลให้ไทยขาดดุล 16,122.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ครั้งแรกในรอบ 5 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการนำเข้าสินค้าบางกลุ่มที่มีมูลค่าสูงขึ้นมาก ในปี 2565

เช่น ก๊าซธรรมชาติ มูลค่า 12,717 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 115% มีสัดส่วนนำเข้า 4.2% สินค้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุก มูลค่า 896.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 112% และสินค้าหมวดอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ มูลค่า 3,843 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1,039% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

จุรินทร์ดันปี’66 โต 1-2%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ส่งออกปีนี้มีมูลค่า 287,067.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 5.5% คิดเป็นเงินบาท 9,944,317 ล้านบาท เป็นผลจากความต้องการสินค้าเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ที่สำคัญเป็นผลมาจากความร่วมมือกระทรวงพาณิชย์และเอกชน โดยเฉพาะคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ร่วมกันผลักดันการส่งออก การเร่งเปิดด่านการค้าชายแดน การเร่งหาแหล่งสำรองอาหารจากทั่วโลก การขนส่งทั้งปัญหาค่าระวางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน “คลี่คลาย” กลับมาเพียงพอ ตลาดส่งออกสำคัญที่รุกตลาด เช่น ตะวันออกกลาง มีการเติบโตมากขึ้น

“กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการผลักดันการส่งออกเชิงรุกและเชิงลึก ในการผลักดันส่งออก รวมถึงตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงร่วมกับเอกชน เร่งเปิดด่านชายแดน หลังปิดทำการชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การส่งออกชายแดนขยายตัวดีขึ้นด้วย ส่วนปัญหาด้านพลังงานถือว่าถึงจุดสูงสุดแล้ว ในส่วนของเป้าหมายการส่งออกปี 2566 นั้น กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับ กกร. มองเป้าหมายส่งออก ขยายตัว 1-2% โดยเตรียมพร้อมเจาะตลาดศักยภาพสูง จะเน้นตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV และจีน”

สินค้า-ตลาดส่งออกสุดพีกปี’65

หากวิเคราะห์ภาพรวมการส่งออก ปี 2565 สินค้า 3 หมวดหลัก กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่า 49,490 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.8% คิดเป็นสัดส่วน 17.2% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะที่หมวดอุตสาหกรรม มูลค่า 225,694.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.4% คิดเป็นสัดส่วน 78.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มูลค่า 11,883.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.8% คิดเป็นสัดส่วน 4.1% ของการส่งออกทั้งหมด

โดยรายการสินค้าท็อป 10 สินค้าสำคัญ (คละหมวด) ปี 2565 จำนวน 10 รายการ ได้แก่ 1.น้ำตาลทราย เพิ่ม 98.9% 2.เครื่องโทรสารโทรศัพท์และส่วนประกอบ เพิ่ม 71.5% 3.อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่ม 50.3% 4.ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เพิ่ม 44.8% 5.หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 32.0% 6.อุปกรณ์กึ่งตัวนํา ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เพิ่ม 26.2% 7.ไก่แปรรูป เพิ่ม 24.8% 8.ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง เพิ่ม 24.6% 9.ไอศกรีม เพิ่ม 23.0% 10.อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 15.3%

ขณะที่ตลาดส่งออกไทย 3 กลุ่มตลาด ประกอบด้วย ตลาดหลัก 4 ตลาด (สหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน) มูลค่า 201,270 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.4% คิดเป็นสัดส่วน 70% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะที่กลุ่มตลาดรอง ซึ่งประกอบไปด้วย 11 ตลาด คือ เอเชียใต้ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา กลุ่มรัสเซีย และ CIS แคนาดา และสหราชอาณาจักร จะมีมูลค่ารวม 81,733.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.9% คิดเป็นสัดส่วน 28.5% และตลาดอื่น ๆ จะมีมูลค่า 4,064.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 75.5% มีสัดส่วน 1.4% โดยหลัก ๆ มาจากการส่งออกทองคำไปสวิตเซอร์แลนด์

ทั้งนี้ หากแยก top 10 ตลาด (คละหมวด) จะพบว่าตลาดที่เติบโตดีได้แก่ 1.ตะวันออกกลาง เพิ่ม 22.8% 2.สหราชอาณาจักร เพิ่ม 15.6% 3.แคนาดา เพิ่ม 14.2% 4.สหรัฐ เพิ่ม 13.4% 5.CLMV เพิ่ม 11.5% 6.เอเชียใต้ เพิ่ม 11.5% 7.อาเซียน (5) เพิ่ม 9.5% 8.ละตินอเมริกา เพิ่ม 5.9% 9.สหภาพยุโรป เพิ่ม 5.2% และ 10.ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 1.7%

ตร.การค้าระหว่างประเทศ

เอกชนมั่นใจส่งออกเป็นบวก

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนยังมองว่าการส่งออกไทยในปี 2566 จะขยายตัวเป็นบวก แต่ยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการส่งออกหลายเรื่อง จึงได้ตั้งวอร์รูม ขึ้นมาเพื่อศึกษาโอกาสการส่งออกเชิงลึกเทียบกับหลายประเทศ ประเด็นกังวลเรื่องปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วนั้น เป็นผลมาจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวจนคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 25 ล้านคนในปีนี้ จึงมีผลให้ค่าเงินผันผวน ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลก็ต้องตามอย่างใกล้ชิด

เช่นเดียวกับ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การส่งออกปีนี้มีความท้าทายอย่างมาก ภาคเอกชนต้องร่วมมือกับภาครัฐทำงานหนักขึ้น โดยจะต้องเดินหน้าในการบุกตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ซึ่งยังเชื่อว่าสินค้าในภาคอุตสาหกรรมยังคงเติบโต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนปัญหาการขาดแคลนชิปนั้น มองว่าสถานการณ์คลี่คลายไประดับหนึ่งแล้ว ส่วนราคาน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากสงครามถือว่าผ่านจุดสำคัญมาแล้ว ส่วนสิ่งที่ต้องติดตามเป็นเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว 2 เดือนแข็งค่าไป 20%

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน ธ.ค. 2565 อยู่ที่ 111,605 คัน สูงสุดในรอบ 3 ปี 9 เดือน ทำให้การส่งออกรถยนต์ปี 2565 ทะลุ 1 ล้านคันอีกครั้งตามเป้าที่ตั้งไว้ตอนต้นปี 2565 ด้วย 1,000,256 คัน มีมูลค่าการส่งออก 619,348.06 ล้านบาท ด้วยการผลิตส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มรถยนต์นั่ง ในตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกาอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ส่วนปี 2566 ตั้งเป้าหมายส่งออกรถยนต์ 1,050,000 คัน เพิ่มขึ้น 1.22%

ปัจจัยบวก-ลบส่งออกไทย

เป็นที่แน่นอนว่ากระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) และสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้บทสรุปร่วมกันว่าจะตั้งเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 2566 ว่าขยายตัว 1-2% หรือคิดเป็นมูลค่า 289,938-292,809 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยประเมินปัจจัยบวกจากการขนส่งสินค้าเข้าสู่ภาวะปกติ ค่าระวางเรือลดลง ตู้คอนเทนเนอร์คลี่คลายหลังจากการแก้ไขไปแล้ว ความต้องการด้านอาหารของโลกยังคงมีผลดีต่อการส่งออกไทย ตลาดที่มีศักยภาพยังมีความต้องการสินค้า พร้อมกันเดินหน้าบุกตลาดมากขึ้น เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ที่มีเป้าหมายขยายตัว 20% CLMV เป้าเติบโต 15% รวมไปถึงจีน

ในส่วนปัจจัยกระทบที่ติดตาม เช่น เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดหลัก สหรัฐ ซึ่งคาดการณ์ว่า จีดีพี ขยายตัว 0.5-1% ยุโรป จีดีพี ขยายตัว 0.0-0.5% ญี่ปุ่น จีดีพี ขยายตัว 1.6% ดังนั้น จะมีผลกระทบต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะในไตรมาส 1 อาจจะ “ชะลอตัว” ต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ซึ่งเป็นผลมาจากประเทศผู้นำเข้ายังมีสต๊อกสินค้าอยู่ ส่งผลให้คำสั่งซื้อใหม่อาจจะชะลอตัว

สำหรับราคาน้ำมันยังอยู่ระดับสูงไม่มีแนวโน้มลดลง มีผลต่อต้นทุนและการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่าขึ้น ล้วนมีผลต่อศักยภาพในการแข่งขัน