ค่าไฟงวด 2 ลุ้นผลิตก๊าซอ่าวไทยเพิ่ม กพช.ชี้ขาดประชาชน-เอกชนจ่ายเท่ากัน

ค่าไฟงวด 2 กกพ. ลุ้นเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ลดนำเข้า LNG ช่วยต้นทุนผลิตไฟฟ้าถูกลง เสริมด้วยปัจจัยราคา LNG-ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง บาทแข็ง จับตา กพช.เคาะยืดอายุการใช้ค่าเอฟที 2 เรต เอกชน-ประชาชน หมดอายุ เม.ย. 2566 ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟงวด 2 พ.ค-ส.ค. 2566 เท่าเอกชน 5.24 บาท/หน่วย

วันที่ 29 มกราคม 2566 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยทิศทางการประเมินค่าเอฟทีงวดต่อไปก็คงจะต้องรอดูปัจจัยในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ราคาแอลเอ็นจีสปอต (LNG Spot) ราคาน้ำมันและปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยว่าจะมีเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงเพียงใด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อค่าเอฟที   โดยคาดว่าเดือนมีนาคมนี้จะเริ่มมีการพิจารณา เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนที่จะมีการประกาศใช้งวดที่ 2 เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2566

“ตอนนี้ยังฟันธงไม่ได้ เพราะต้องดูปัจจัยเรื่องราคาLNG Spot ถูกลง อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น สถานการณ์ราคาน้ำมันก็มีแนวโน้มดีขึ้น ก็จะเหลือค่าปัจจัยสำคัญเรื่องปริมาณก๊าซในอ่าวไทยว่าจะเพิ่มขึ้นมากตามที่คาดการณ์หรือไม่จากก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายนและเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปลายปี 2566  และปริมาณแก๊สในเมียนมาที่ไทยนำเข้ามาจะยังคงรักษาปริมาณเดิมได้หรือไม่ ถ้าได้ตามปัจจัยทั้งหมดที่ดีขึ้นก็จะทำให้ค่าเอฟทีงวดเดือน 2 ก็จะแนวโน้มลดลง”

คมกฤช ตันตระวาณิชย์
คมกฤช ตันตระวาณิชย์

อย่างไรก็ตามงวดที่ผ่านมาคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ได้มีมติให้ ปตท. ให้ส่งแก๊สมาเพิ่ม โดยไม่ให้เข้าโรงแยกแก๊ส ก็เลยทำให้ราคาก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นราคานึง  แต่ถ้าหากว่าก๊าซในอ่าวไทยสามารถเข้ามาทดแทนที่ ปตท.เติมตรงนั้นได้ก็เท่ากับบาลานซ์กันไป ทั้งกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น การช่วยเหลือภาคเอกชนและปัจจัยเอื้อก็เป็นปัจจัยบวก

ในส่วนการช่วยเหลือภาคเอกชนสำหรับค่าเอฟทีในงวด 2 จากที่ได้แบ่งการคำนวณค่าเอฟที 2 ค่า ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าของภาคประชาชนอยู่ที่ 4.20 บาทต่อหน่วย  และภาคธุรกิจอื่น ๆ อัตรา 5.33 บาทต่อหน่วยนั้นเป็นการคำนวณตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)  เพราะปกติเอฟทีมีอัตราเดียวมาโดยตลอด ซึ่งมติ กพช.ในรอบนั้น ได้มีมติให้นำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาให้ประชาชนใช้ก่อน และระบุชัดเจนว่าให้ดำเนินการในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน2566 เท่านั้น ดังนั้นถ้าไม่มีมติ กพช.เพื่อต่อเวลาก็คงจะต้องกลับไปใช้ค่าเอฟทีอัตราเดียวเท่าเดิม โดยจะคำนวณตามสมมติฐานที่วางไว้”

ส่วนประเด็นที่ทางภาคเอกชนแสดงความกังวลเรื่องค่าไฟฟ้าของไทยสูงกว่าเวียดนามเท่าตัว ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและการดึงดูดนักลงทุน ทางคณะกรรมการ กกพ. พิจารณาเรื่องนี้

“ทุกครั้งเราก็ดูเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันประกอบด้วยอยู่แล้ว  รวมทั้งคงต้องมาดูว่าพลังงานโครงสร้างราคาพลังงานในแต่ละประเทศไม่เหมือนกันว่าอิงเชื้อเพลิงไหนอย่างไร ผมเข้าใจว่าทางเวียดนามเค้าอิงเชื้อเพลิงถ่านหินค่อนข้างมาก ดังนั้นเค้าก็อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซ แต่เค้าก็จะเจอปัญหาในเรื่องของ emissions ที่เป็นภาระของเค้าพอสมควร ซึ่งเราก็ต้องดูหลายทิศทางประกอบกัน”นายคมกฤชกล่าวและว่า

นอกจากนี้เข้าใจว่าเวียดนามอาจจะมีการปรับค่าไฟเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

รายงานข่าวระบุว่ามีความเป็นไปได้ว่าอัตราค่า FT งวดที่ 2 จะกลับไปใช้ค่า FT เท่ากันระหว่างภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตามสมมติฐาน กกพ.ก่อนหน้านี้ คำนวณว่าราคาไฟจะอยู่ที่ 5.2407 บาท/หน่วย ซึ่งคาดว่าจะทำให้สามารถคืนหนี้กว่าแสนล้านบาท ที่ค้างจ่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ครบภายในเวลา 3 ปี