OR ยอมขาดทุน Q4 ครั้งเดียว อัดงบลงทุน 3 หมื่นล้านมุ่งธุรกิจไลฟ์สไตล์

ดิษทัต ปันยารชุน
ดิษทัต ปันยารชุน

OR งัดทุกกลยุทธ์แก้ขาดทุน Q4 ปีที่แล้ว 744 ล้าน พร้อมทุ่ม 3.1 หมื่นล้านลุย 4 ขาธุรกิจ ชูไลฟ์สไตล์-โมบิลิตี้เรือธง ปัจจัยบวกจีนเปิดประเทศ หนุนท่องเที่ยวบูม คาดยอดขายน้ำมันเจ็ตฟื้นตัวเท่าก่อนโควิด พร้อมรุกขยายสาขาชาร์จอีวี 500 จุด เสริมพลังงานสะอาดครบวงจร พร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ โฟกัสลงทุนตลาด ‘กัมพูชา’ เชื่อมโยงเครือข่าย ปตท.

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวถึงภาพรวมรายได้จากยอดขายในปี 2565 มีมูลค่า 789,785 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 54.3% จากปี 2564 ที่มีมูลค่า 511,799 ล้านบาท โดยบริษัทมีกำไร EBITDA ปี 2565 เท่ากับ 20,608 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% จากปี 2564 ขณะที่อัตรากำไรสุทธิในปี 2565 เท่ากับ 10,370 ล้านบาทหรือลดลง 9.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนผลประกอบการไตรมาส 4/2565 มีมูลค่า 206,268 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 30.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไร EBITDA 1,254 ล้านบาท หรือลดลง 52.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 71.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ (กำไรสุทธิติดลบ) ขาดทุน 744 ล้านบาทลดลง 100% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้าและลดลง 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวทำให้ปี 2565 ภาพรวมปริมาณขายปรับเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ส่งผลให้ OR มีรายได้ขายและบริการเพิ่มขึ้น 54.3% และยังคงรักษาความเป็นผู้นำในตลาด โดยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 43.2% เป็นผู้นำตลาด แต่ในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา โรงกลั่นในประเทศไทยได้มีการปิดซ่อมไป 2 แห่งคือ โรงกลั่น GC และ IRPC ทำให้เราก็ต้องสะสมสต๊อก

และจากปัญหาราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้น 50-60 เหรียญสหรัฐ จนต้องหันมาใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้ OR จะต้องเป็นผู้สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ต้องนำเข้าน้ำมันมาเพื่อสำรองสำหรับสเตกโฮลเดอร์ ซึ่งเป็นจังหวะที่ค่าบาทอ่อนค่า ทำให้ต้นทุนในส่วนของฟีดสต็อก ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์นี้ OR คาดว่าจะเป็นสถานการณ์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

“จากประสบการณ์ที่ผมเป็นผู้ทำเทรดเดอร์ให้กับกลุ่ม ปตท. ผมมองว่าเรื่องของการทำเฮดจิ้ง ไม่ได้เป็นประเด็นสำหรับ OR เพราะ OR เป็นธุรกิจค้าปลีก จะแตกต่างกับธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน inventory day น้อยกว่า เป็นการซื้อมาขายไป ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่มีประเด็น สำหรับการบริหารจัดการต้นทุน โดยการเฮดจ์เราพยายามทำไม่ให้เกิน 50% ของกิจกรรม ดูสูตรราคาซื้อและสูตรราคาขาย” นายดิษทัตกล่าว

ด้านนายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ OR กล่าวเสริมว่า ปีก่อนธุรกิจสามารถบริหารจัดการสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจ เห็นได้จากตลาดค้าปลีกน้ำมันปีก่อนขยายตัว 15% แต่ OR สามารถสร้างเติบโตได้ถึง 18% และมีส่วนแบ่งตลาด 43.2% ส่วนแนวโน้มธุรกิจในปี 2566 ธุรกิจในส่วนของโมบิลิตี้มีโอกาสเติบโตมาก โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันพรีเมี่ยมคุณภาพสูง ซึ่งก่อนหน้านี้ประสบปัญหาจากราคาที่ห่างกันถึง 9 บาท แต่ตอนนี้คาดว่าจะกลับมาใกล้เคียงเดิม ซึ่งทาง OR จะเร่งประชาสัมพันธ์พร้อมทั้งขยายช่องทางจำหน่าย

ขณะเดียวกัน ธุรกิจจำหน่ายน้ำมันเครื่องบิน หรือ “น้ำมันเจ็ต” มีสัดส่วน 49% บริษัทคาดว่าจะมีการกลับมาเติบโตเป็นปกติเทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิดในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ และมีโอกาสจะขยายได้อีกมาก เพราะว่าเปิดประเทศ การท่องเที่ยว และสายการบินกลับมา ซึ่งโดยปกติตลาดมีความต้องการ 3,200 ล้านลิตร ปัจจุบัน OR ขายได้ 1,600 ล้านลิตร จึงยังมีโอกาสขยายได้อีก

ในส่วนของธุรกิจไลฟ์สไตล์ก็เห็นแนวโน้มของการเติบโตที่กลับมา หลังจากการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว ทำให้มีการเดินทางเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน OR ก็มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์กาแฟแคปซูล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพราะเรามีจุดแข็งเรื่องสถานีบริการ และหลังจากนี้ยังจะมีแผนเตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่กลุ่มพร้อมรับประทาน (RTE) ในเร็ว ๆ นี้

“ธุรกิจกาแฟคาเฟ่อเมซอนเติบโต 2 หลักมาต่อเนื่อง 8-9 ปี ในปี 2565 ขายได้ 357 ล้านแก้ว หรือเฉลี่ยวันละ 1 ล้านแก้ว ปีนี้ก็คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่าสองหลัก และเรายังมีการขยายพื้นที่ในลักษณะของ OR SPACE จะมีการขยายในส่วนของธุรกิจค้าปลีกมากขึ้น และได้มีการจัดทำสถานีบริการแฟลกชิปหลายแห่ง เพื่อเป็นต้นแบบในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ต่อยอดในธุรกิจ โดยแห่งต่อไปคาดว่าจะเปิดในเดือนพฤษภาคมนี้’’

ตั้งงบลงทุน ปี 2023-2027 ธุรกิจไลฟ์สไตล์เป็นเรือธง

นางสาววิไลวรรณ กาญจนกันติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านบริหารการเงิน OR กล่าวว่า ได้เตรียมงบประมาณในการลงทุนภาพรวมปี 2023-2027 มูลค่า 101,500 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไลฟ์สไตล์ 33.3% ธุรกิจโมบิลิตี้ 30.9% ธุรกิจ global 16.2% และนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ 19.6%

เฉพาะงบประมาณการลงทุนของ OR ในปี 2565 นายดิษทัตกล่าวเพิ่มเติมว่า เตรียมงบประมาณในการลงทุนจำนวน 31,197 ล้านบาท โดยจัดสรรงบประมาณมุ่งขยายและสร้างความแข็งแกร่งของ business value chain ของกลุ่มธุรกิจ lifestyle จำนวน 14,193 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 45% ของงบลงทุน สำหรับขยายสาขาร้าน Cafe Amazon ในประเทศประมาณ 400 สาขา และร้าน Texas Chicken 12 สาขา

“ไลฟ์สไตล์จะเป็นเรือธง นอกจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) แล้ว OR ยังให้ความสำคัญในกลุ่มธุรกิจด้าน health & wellness และ tourism โดยเราจะใช้แอป all in one ซึ่งเป็นจุดแข็ง และเสริมด้วยการดึงบริษัทในกลุ่ม ปตท. มาปลั๊กอิน เสริมธุรกิจไลฟ์สไตล์ แม้ว่าจะมีสัดส่วน 25% แต่เป็นธุรกิจที่สามารถขับเคลื่อนกำไรให้กับ OR ได้ถึง 22-29%

ส่วนธุรกิจโมบิลิตี้จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้ให้บริษัทมากที่สุด ขณะที่กลุ่มธุรกิจ mobility จัดสรรงบประมาณจำนวน 6,799 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22% ของงบลงทุน โดยมุ่งเป็นผู้นำใน mobility ecosystem ทั้งในแง่การขยายสาขา PTT Station วางไว้ 122 สถานีในประเทศ และ EV Station PluZ เพิ่ม 500 สถานี จากปัจจุบันที่มี 302 สถานี รวม 909 หัวจ่าย”

สำหรับกลุ่มธุรกิจ global ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 4,954 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% ของงบลงทุน โดยยังคงมุ่งขยายการลงทุนในการเปิด PTT Station 82 แห่ง และ Cafe Amazon ผ่านบริษัทในเครือในต่างประเทศ เป้าหมาย 112 สาขา เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในประเทศที่ OR ได้เข้าไปดำเนินการแล้ว พร้อมแสวงหาโอกาสในการลงทุนในประเทศใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ โดยปีนี้จะมุ่งไปที่กัมพูชา ส่วนกลุ่มธุรกิจ OR innovation จัดสรรงบประมาณจำนวน 5,251 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17% ของงบลงทุน มุ่งแสวงหาธุรกิจใหม่เพื่อต่อยอดธุรกิจในปัจจุบัน