ชมภาพการเผาไหม้-พื้นที่เสียหายเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี 7 พันไร่

จุดความร้อน กาญจนบุรี

GISTDA เผยภาพบริเวณพื้นที่ที่กำลังเกิดการเผาไหม้ และพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากการเผาไหม้บริเวณเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี 7 พันไร่ ส่วนจุดความร้อนไทย 23 ก.พ. 66 พุ่งสูงสุดถึง 2,269 จุด ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์พบมากกว่า 1 พันจุด

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยภาพบริเวณพื้นที่ที่กำลังเกิดการเผาไหม้ และพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากการเผาไหม้ บริเวณเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี จากดาวเทียม Sentinel-2 (เซนตินอล 2) ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจุดความร้อนที่ได้จากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) ในวันเดียวกัน

ทั้งนี้ จากการประมาณการพื้นที่ความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 7 พันกว่าไร่ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบความเสียหายในพื้นที่ต่อไป

พร้อมกันนี้ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) ไทยพบจุดความร้อนวานนี้ (23 ก.พ. 2566) จำนวน 2,269 จุด ในขณะที่จุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมายังครองอันดับหนึ่งอยู่ที่ 3,142 จุด รองลงมาคือกัมพูชา 2,514 จุด, สปป.ลาว 1,582 จุด, เวียดนาม 371 จุด และมาเลเซีย 19 จุด

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทยส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1,016 จุด, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 633 จุด, พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 239 จุด, พื้นที่เกษตร 217 จุด, พื้นที่เขต ส.ป.ก. 144 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 20 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 5 อันดับคือ #กาญจนบุรี 357 จุด, #ตาก 182 จุด, #อุตรดิตถ์ 136 จุด, #ชัยภูมิ 135 จุด, #กำแพงเพชร 114 จุด ตามลำดับ

ส่วนค่าฝุ่น PM 2.5 เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 10.00 น. พบว่าในหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ #อำนาญเจริญ #ยโสธร #ร้อยเอ็ด #มหาสารคาม #นครพนม อยู่ระดับที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ รวมถึงพื้นที่ของกรุงเทพมหานครด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนออกจากบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่อาจจะตามมา

สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากประแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่าง ๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม

ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่

จุดความร้อน กาญจนบุรี