ศึกปธ.สภาอุตฯบานปลายหนัก ดัน “สุพันธุ์” สู้ “เจน” หวั่นกระทบภาพลักษณ์

สุพันธุ์ มงคลสุธี - เจน นำชัยศิริ
ส.อ.ท.ขัดแย้งหนัก แตก 2 กลุ่มเหตุมาจากการเลือกตั้งประธาน สอท.คนใหม่ กลุ่มผิดหวังตำแหน่งในอดีตเชียร์ “สุพันธุ์” อดีตประธาน สอท.สุดตัว ด้านเจนเร่งแก้เกมเร่งหาเสียงกับ สอท.ต่างจังหวัด ลุ้นประชุมใหญ่สามัญ 19 มี.ค.นี้ส่อวุ่นหนัก

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ก่อตัวมาพักใหญ่ และยิ่งเห็นภาพความขัดแย้งที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่จะถึงการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 มีนาคมนี้

โดยวาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือการเลือกตั้งประธานคนใหม่ ซึ่งขณะนี้สมาชิก ส.อ.ท.ได้แบ่งออกเป็น2 ฝ่ายคือ ฝ่ายที่สนับสนุน “นายเจน นำชัยศิริ” ประธานคนปัจจุบัน และฝ่ายสนับสนุนนายสุพันธุ์ มงคลสุธี อดีตประธาน ส.อ.ท.

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นใน ส.อ.ท. ก็คือ ผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวของสมาชิกทั้ง 2 ฝ่าย จนปะทุมาเป็นความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรตำแหน่งต่าง ๆ ที่ให้สมาชิกเข้าไปนั่งเป็นกรรมการหรือเป็นบอร์ดตามโควตาที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล ซึ่งเป็นที่นั่งเฉพาะของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ด้านหนึ่งสมาชิกก็เห็นว่า คนที่ สอท.แต่งตั้งไปมีความเหมาะสมแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งหรือผู้ที่ผิดหวังจากตำแหน่งก็จะออกมาโจมตีว่า ไม่เหมาะสม และนำไปสู่การ “ตีรวน”

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันมีความไม่ลงตัวในบรรดาตำแหน่งต่าง ๆ ที่ สอท.ส่งคนเข้าไปนั่ง หรือ เรียกว่า ไม่ลงตัวกันระหว่างสมาชิกของ สอท.ด้วยกัน จึงเกิดการตีรวมเกิดขึ้น จนมีสมาชิก สอท.บางกลุ่มคิดกันว่า จะต้องดึง นายสุพันธ์กลับมา ทั้ง ๆ ที่นายสุพันธ์ก็เคยดำรงตำแหน่งประธาน สอท.ในอดีตมาแล้ว แต่เมื่อไม่มีตัวเลือกที่เหมาะสมก็ต้องกลับมาท้าชิงตำแหน่งกับนายเจนอีกครั้งหนึ่ง”

หลายฝ่ายกลัวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เรื่องราวจะบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งในสภาอุตสาหกรรมฯขึ้นมาอีก

“ปัญหาหลัก ๆ ก็คือ การจัดสรรตำแหน่งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสมัยของอดีตประธาน สอท.คนก่อน ๆ หน้านี้ทำให้สมาชิก สอท.ที่วางตัวเป็นกลางเริ่มกังวลว่า จะเกิดความแตกแยกแล้ว สอท.ก็ไม่ได้เดินไปถึงไหน ความจริงเรื่องนี้น่าจะมีการนั่งคุยกันทั้ง 2 ฝ่ายดีกว่าต่างฝ่ายต่างหาเสียงชิงตำแหน่งประธาน สอท.โดยที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการประเมินเสียงครั้งล่าสุดพบว่า นอกจากเสียงสมาชิก สอท.จังหวัดส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจสนับสนุนนายสุพันธุ์ให้กลับมาดำรงตำแหน่งประธาน สอท.แล้วปรากฏ นายสุพันธุ์ยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอุตสาหกรรม สอท.บางส่วนด้วย ในส่วนนี้จึงกลายเป็นจุดอ่อนของกลุ่มที่สนับสนุนนายเจนที่จะต้องพยายามดึงเสียงสนับสนุนจาก สอท.จังหวัดกลับมาเพิ่มเติมจาก กลุ่มอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนนายเจนอยู่ก่อนแล้ว

“ล่าสุดมีความเป็นไปได้ว่า ทั้ง2 กลุ่มอาจจะต้องหารืออย่างไม่เป็นทางการก่อนที่จะถึงวันประชุมใหญ่ถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เรื่องบานปลายออกไปต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์”

ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า สมาชิกส่วนใหญ่มองว่า ควรมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530 ที่ใช้ในปัจจุบันนั้น จะช่วยลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะขั้นตอนการเลือกตั้งที่ควรเริ่มจากการเลือกประธานก่อน หลังจากนั้นจึงตามมาด้วยการเลือกกรรมการสภา (กส.) ตามมาด้วยกรรมการบริหาร (กบ.) ตามลำดับ ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จ

นอกจากนี้ นายเจนกล่าวเพิ่มเติมว่า ภารกิจสำคัญที่ยังต้องดำเนินการต่อคือ การผลักดันให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนงบประมาณสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพราะปัจจุบันกลุ่ม SMEs ในต่างจังหวัดยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรการสนับสนุนที่ภาครัฐดำเนินการ รวมไปถึงการให้ผู้ประกอบการได้จับคู่ทางธุรกิจ (business matching) และขยายตลาดไปยังประเทศในแถบ CLMV อย่างประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนามได้

“เรื่องช่วยเหลือสมาชิกโดยเฉพาะ SMEs เราผลักดันมานานแล้ว เพราะรายเล็กไม่มีกำลังพอ แต่ต้องการขยายไปสู่ตลาดใหม่มากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนจากภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งคาดว่าการแก้ไขน่าจะไม่ทันสำหรับปีนี้ เพราะขั้นตอนการของบประมาณค่อนข้างใช้เวลา คาดว่าในช่วงปี”62 น่าจะสามารถอนุมัติงบฯออกมาช่วยเหลือได้ และเป็นประเด็นที่ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ต้องสานต่อให้จบ”

ขณะที่นายวินิจ ฤทธิ์ฉิ้ม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ ส.อ.ท. กล่าวว่า การเลือกตั้งประธานคนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ ในฐานะสมาชิก ส.อ.ท.ต้องการประธานที่นำเสนอนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกให้มากที่สุด เพื่อให้นำพาองค์กรและสมาชิกให้เติบโตไปด้วยกัน และไม่ต้องการให้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากทั้ง 2 ฝ่าย