วิกฤตตลาดไข่ไก่โลกขาดหนัก ไทยรับอานิสงส์ ม.ค.ส่งออกพุ่ง 197%

ไข่ไก่

วิกฤตขาดไข่ไก่ หลังพิษหวัดนกลามโลก ญี่ปุ่นขาดหนัก ราคาพุ่งฟองละ 10 บาท ไต้หวันขอนำเข้า 5-8 ล้านฟอง ไทยส่งออก ม.ค.พุ่ง 197% ดันราคาไข่ในประเทศทะยาน 40 สตางค์/ฟอง ในสัปดาห์เดียว ด้านเอกชนชี้ ปี’66 โอกาสทองส่งออกยาว 1 ปี ส่วนไก่เนื้อยังแผ่วไตรมาส 1 ลูกค้าสต๊อกท่วม เงินเฟ้อพุ่ง หมดแรงซื้อ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การส่งออกไข่ไก่สดของไทยในเดือน ม.ค. 2566 มีมูลค่า 163 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 197% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตามตาราง) และล่าสุดทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เจรจากับไต้หวันเปิดทางอนุญาตให้มีการนำเข้าไข่ไก่จากไทยลอตแรกในเดือนมีนาคม 5-8 ล้านฟอง

โดยได้มีการประเดิมนำเข้าจากบริษัท เกษมชัย ฟาร์ม จำกัด ไปเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา สร้างแรงกระเพื่อมกับตลาดไข่ไก่ของไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างมาก

นายสุธาศิน อมฤก นายกสมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทย เปิดเผยว่า ทางเครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งประกอบด้วย 4 สหกรณ์ คือ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม้น้ำน้อย จำกัด ได้แจ้งปรับแจ้งราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร

ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2566 ขึ้นอีก 20 สตางค์/ฟอง จากเดิม 3.40 เป็น 3.60 บาท/ฟอง หรือเฉลี่ย 6 บาท/แผง มีผลวันที่ 23 มี.ค. 2566 ซึ่งนับว่าเป็นการประกาศปรับราคารอบที่ 2 ภายในสัปดาห์เดียว จากที่ปรับไปเมื่อครั้งก่อน วันที่ 16 มี.ค. 2566 จากฟองละ 3.20 บาท/ฟอง เป็น 3.40 บาท/ฟอง

ดังนั้น รวมแล้ว 2 รอบ ปรับขึ้น 40 สตางค์ต่อฟอง สำหรับการปรับราคาหน้าฟาร์มครั้งนี้จะทำให้ราคาขายปลีกไข่ไก่เบอร์ 3 ขยับขึ้นไปอีกแผงละ 5-6 บาท จาก 110-115 บาทต่อแผง เป็น 115-120 บาทต่อแผง หรือ 5-6 บาท/แผง รวม 2 ครั้งประมาณ 11-12 บาทต่อแผง

“ราคาไข่ขึ้น 6 บาทรอบที่แล้วฟาร์มบางฟาร์มยังขายราคาเดิม คือ 3.20 บาท/ฟอง เพราะบริษัทที่เป็นผู้ผลิตหลักยังไม่มีการปรับราคา ซึ่งทางผู้รับซื้อไข่ไก่จากฟาร์มขนาดกลาง ๆ ก็จะขาดทุน จากต้นทุนที่รับซื้อมา 3.30-3.40 บาท/ฟอง ส่วนครั้งนี้ยังต้องรอดสถานการณ์ว่าผู้ผลิตและจำหน่ายรายใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงราคาหรือไม่”

สำหรับสาเหตุที่ให้ราคาไข่ไก่ปรับสูงขึ้น เป็นผลจากข่าวการส่งออกไข่ไก่ไปไต้หวัน 5-8 ล้านฟอง ทำให้ราคาในประเทศพุ่งทันที แต่ในความเป็นจริงสัดส่วนการส่งออก 8 ล้านฟองนี้ไม่มาก หากเทียบการผลิตและการบริโภคเฉลี่ย ตามข้อมูลของกรมปศุสัตว์คำนวณไว้ 43 ล้านฟอง/วัน ซึ่งข้อเท็จจริงผลิตได้มากกว่านั้น

“การปรับราคาขึ้นครั้งนี้ยังสวนทางกับภาวะดีมานด์-ซัพพลายในตลาด เพราะตอนนี้สถานการณ์การค้าไข่ไก่ซบเซามาก จากที่เข้าสู่ช่วงปิดเทอมการบริโภคลดลง ผู้บริโภคกำลังซื้อลดลง และใกล้เข้าสู่ช่วงหยุดยาว ทำให้ความต้องการไข่ไม่มากขึ้น

แต่ราคากลับขยับขึ้น ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสม เพราะภาวะตลาดเช่นนี้ราคา 3.20 บาท จะเป็นราคาที่เหมาะสมกว่า การปรับราคาจะให้เหตุผลเฉพาะเรื่องต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นไม่ได้ ต้องดูดีมานด์ซัพพลายด้วย การปรับราคาครั้งนี้จะยิ่งทำให้ตลาดซบเซาไปอีก”

ด้านนายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้เลี้ยงไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในต่างประเทศส่งผลให้ทำต่างประเทศขาดแคลนไข่ไก่ และราคาไข่ไก่ในหลายประเทศปรับสูงขึ้น เช่น ที่ญี่ปุ่นฟองละ 10 บาท ส่วนราคาไข่ไก่ของไทยเมื่อต้นปีเปิดมาราคาฟองละ 3.20 บาท ซึ่งที่ผ่านมาไทยผลิตไข่ไก่เพื่อบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก มีส่งออกบางส่วนไปยังตลาดหลักคือสิงคโปร์ และฮ่องกง

“ปีนี้ไทยอาจจะมีแนวโน้มส่งออกมากขึ้น หากต้องส่งไข่ไก่ไปช่วยไต้หวัน-ญี่ปุ่น แต่การจะส่งออกไปตลาดต่างประเทศตลาดใหม่อื่น ๆ อาจจะใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องเตรียมเอกสารเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องการนำเข้าส่งออก ไม่ใช่จะส่งออกไปได้ทันที และเชื่อว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการได้ไม่กระทบต่อตลาดภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ต้องติดตามประเมินสถานการณ์การผลิตไข่ไก่ เพราะการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกจะทำให้ต้องหยุดเลี้ยง 1 รอบ ซึ่งใช้เวลากว่าจะกลับมา 1 ปี หากนำเข้าพ่อแม่พันธุ์เข้ามา รอเลี้ยง 6 เดือนอย่างน้อย ประมาณ 1 ปีจึงจะกลับมา”

ส่วนสถานการณ์การส่งออกไก่ในช่วงไตรมาส 1 ชะลอตัวลงสวนทางกับตลาดไข่ ซึ่งเป็นผลจากลูกค้ามีสต๊อกคงค้างจำนวนมากจะต้องระบายออกไปก่อนจะสั่งรอบใหม่ คาดว่าจะดีขึ้นในไตรมาส 2 สาเหตุที่ลูกค้ามีสต๊อกคงค้างเพราะปี 2565 หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย หลายประเทศเริ่มฟื้นตัว

ขณะเดียวกันเกิดปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ยูเครนส่งออกไก่ลดลง ทางผู้นำเข้าจึงได้หันมาเร่งสั่งซื้อนำเข้าจากไทยไปสต๊อกไว้ จนดันให้ปริมาณการส่งออกปี 2565 สูงขึ้นไปถึง 1,040,000 ตัน ซึ่งถือว่าสูงมาก ส่วนในปีนี้คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น 3% โดยตลาดส่งออกหลักยังเป็นญี่ปุ่น อังกฤษ อียู และจีน

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกไก่ปีนี้ หลัก ๆ มาจากเรื่องค่าเงินบาทซึ่งมีความผันผวนมาก ปรับสวิงจาก 35 เป็น 37-38 มาเป็น 32 กลับมา 34 บาท ทำให้ต้องประกันความเสี่ยง ขณะเดียวกันภาวะเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าก็มีผลทำให้ชะลอการสั่งซื้อ ซึ่งไม่ใช่เพราะไม่มีความต้องการนำเข้าแต่เป็นการชะลอเพื่อขอต่อราคาสินค้าให้ถูกลง และการแข่งขันกับคู่แข่งอย่างบราซิลที่มีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนอาหารสัตว์ที่ถูกว่า และค่าเงินอ่อนค่าทำให้ราคาบราซิลต่ำกว่าไทยประมาณ 10 บาท /กก.

อย่างไรก็ตาม ปีนี้มีปัจจัยบวกจากต้นทุนค่าระวางเรือที่ลดลงต่ำมาก เช่น สายเดินเรือเส้นทางยุโรปปรับลดลงจากช่วงโควิด 14,000 เหรียญสหรัฐ/ตู้ ส่วนตอนนี้เหลือ 2,000-3,000 เหรียญสหรัฐ/ตู้ นอกจากนี้ไทยยังมีโอกาสขยายการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น หากจัดทำมาตรฐานการส่งออกไก่ ที่เรียกว่า ซาโต้ แล้วเสร็จ