
ในงานสัมมนา “New Era Economy อนาคตประเทศไทย” ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “นางสาวจรีพร จารุกรสกุล” ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ได้ฉายภาพถึง “Thailand Opportunity” ว่า
โอกาสของประเทศไทยนั้นมีมากในหลาย ๆ ด้าน ทั้งสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่นับว่าดีที่สุดหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในขณะนี้ บุคลากรมีความเชี่ยวชาญ การมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่พร้อม มีการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่ง เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยหลายกลุ่มธุรกิจเติบโตมากขึ้นในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และช่วงหลังโควิด เช่น อุตสาหกรรมยา ดิจิทัล ผลจากการ work from home
- ชง “วาระด่วน” รัฐบาลใหม่ ทุนจีนผวารถไฟไทย-จีนเปลี่ยนทิศ
- ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บริษัท อะควา แบมบูโปรดักส์ จำกัด
- กกต.จ่อประกาศผลเลือกตั้ง 66 เป็นทางการ ก้าวไกล ส.ส.ลดเหลือ 151 คน
ทั้งหมดนี้สะท้อนได้ว่า ประเทศไทยนั้น “ตอบโจทย์” และเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนทุกระดับ ไม่เคยเสียเปรียบคู่แข่ง เพราะไทยสามารถใช้จุดแข็งจากโครงสร้างพื้นฐานดึงดูดการลงทุนเข้ามาได้มาก มีมูลค่าโครงการหลักหมื่นล้านบาทและระดับแสนล้านบาท โดยหากเทียบกับช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปรากฏ WHA สามารถดึงการลงทุนมาได้ 1.4 ล้านล้านบาทให้เข้ามาในนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ EEC สร้างแรงงานได้ถึง 200,000 ตำแหน่ง ส่งผลให้ GDP จ.ระยอง เติบโตสูงที่สุด เกิดทั้งการจ้างงาน เกิดการผลิต รายได้เข้าประเทศทั้งหมด
ทุนใหญ่รถ EV จากจีนกำลังมา
ทั้งนี้พื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษ EEC ยังคงเป็นจุดแข็งและจุดขายของประเทศ บวกกับการที่รัฐบาลกำหนดให้มีอุตสาหกรรม S-curve ทั้งตัวเดิมและอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมา การเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา ความขัดแย้งระหว่างไต้หวันกับจีน ส่งผลให้อาเซียนได้รับอานิสงส์ เกิดปรากฏการณ์ย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนจากจีนที่ต้องหาแหล่งผลิตใหม่ เพื่อใช้เป็นฐานในการส่งออกไปสหรัฐ เช่นเดียวกันกับไต้หวันที่ส่งสัญญาณและเล็งมาที่ประเทศไทย
แต่ปรากฏการณ์การลงทุนรอบนี้ต่างจากเมื่อ 30 ปีก่อนที่นักลงทุนส่วนใหญ่จะเป็น “ญี่ปุ่น” ทั้งมูลค่าโครงการและจำนวนโครงการที่ตั้งฐานการผลิตที่ไทยแทบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ “อุตสาหกรรมยานยนต์” แต่ครั้งนี้ทุนใหญ่จากจีนได้ตัดสินใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงการเข้ามาแค่บริษัท แต่ดึงทั้ง supply chain เข้ามาทั้งหมด เช่น ค่ายรถจาก MG ตามมาด้วยเกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM)
และรายล่าสุด BYD ที่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินจำนวน 600 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรม WHA ระยอง 36 เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบเเบตเตอรี่ (BEV) ในปี 2567 กำลังการผลิต 150,000 คัน/ปี ซึ่งนับว่าเป็นดีลใหญ่ที่สุดของ WHA
“ทาง BYD เอง ประกาศในแผนการลงทุนสเต็ปต่อไปว่า จะดึงซัพพลายเชนที่ผลิตแบตเตอรี่เข้ามาลงทุนในเฟส 2 ตามมา แม้จะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็น hub EV แต่ในขณะเดียวกันมันก็คือการแข่งขัน เพราะการลงทุนของจีนในลักษณะนี้เป็นการเข้ามาแบบต้นทุนต่ำกว่าไทย โจทย์ก็คือ แล้วไทยจะออกแบบยังไงให้ไทยยังคงได้เปรียบจากการแข่งขันนี้ เช่นเดียวกับนักลงทุนญี่ปุ่นล่าสุดได้ประกาศแผนการลงทุนครั้งใหม่ด้วยการยืนยันว่า จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิต EV เช่นกัน” น.ส.จรีพรกล่าว
Mission to the Sun
อย่างไรก็ตาม WHA มีเป้าหมายชัดเจนในการเดินหน้าพัฒนาธุรกิจ “นิคมอุตสาหกรรม” มีพื้นที่ภายใต้การบริหาร 71,000 ไร่ เป็นพื้นที่พร้อมขายกว่า 4,000 ไร่ รวม 12 แห่งทั้งในไทยและเวียดนาม ธุรกิจโลจิสติกส์มีพื้นที่คลังสินค้าทั้งหมด 2,720,000 ตารางเมตร
ธุรกิจสาธารณูปโภคมียอดจำหน่ายน้ำและบริหารน้ำรวม 145 ล้านลูกบาศก์เมตร และธุรกิจดิจิทัล สร้างแพลตฟอร์มผ่านโครงการต่าง ๆ จำนวน 32 โครงการ เพื่อทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล ก้าวสู่การเป็น tech company ทั้ง 4 ธุรกิจหลักนี้จะเติบโตควบคู่ไปกับธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม
ดังนั้นการจะเป็น technology company หรือนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาไปสู่องค์กรที่เปี่ยมประสิทธิภาพ ทำให้ WHA Group ต้องเริ่มภารกิจ “Mission to the Sun” ซึ่งจะประกอบไปด้วย 9 โครงการ มีเป้าหมายเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ บริการใหม่ ๆ ความพึงพอใจให้กับลูกค้า พัฒนาองค์กร และบุคลากรของบริษัท เช่น โครงการ Green Logistics, Digital Assets (Metaverse), Digital Health Tech, Circular
New Era ประเทศไทย
สำหรับนโยบายและกลยุทธ์ของ WHA ที่ได้วางไว้และสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนไปได้ตามแผนก็เนื่องมาจาก “การมอง global megatrends ออก” เรารู้ว่า ขณะนี้โลกกำลังเกิดอะไรขึ้น และอนาคตจะเกิดอะไร เช่น เทรนด์เทคโนโลยี เทรนด์ geopolitics หรือแม้แต่เทรนด์ที่เกิดจาก climate change รวมถึงเทรนด์ของแต่ละองค์กรที่ต้องดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งจะเกิดอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขึ้นมา และกำลังจะนำไปสู่เรื่องของ “พลังงานสะอาด” อย่างรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามมาด้วยธุรกิจที่กักเก็บพลังงานเช่นแบตเตอรี่ EV
หรือแม้แต่เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon capture and storage : CCS) จากนั้นจะตามมาด้วยพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งจะเป็นพลังงานอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับรถยนต์ EV เทรนด์เหล่านี้สามารถทำให้ WHA และประเทศไทยออกแบบและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการแข่งขัน และนี่ยังเป็น new era ตัวใหม่สำหรับประเทศไทย
“WHA อยู่ในอุตสาหกรรมต้นน้ำ มีธุรกิจที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม สร้างผลกระทบต่อคนหลายแสนคนในพื้นที่โดยรอบ แม้เราจะมีนโยบาย เป้าหมายชัดเจน รู้ว่า new era จะต้องคำนึงถึง 3 ตัวหลักคือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แต่เราก็ต้องรับผิดชอบสังคมต้อง zero waste ทุกอย่างที่จะออกมาจากนิคมอุตสาหกรรม ต้องควบคุมเรื่องการปล่อยน้ำเสีย มลพิษให้ได้”
“ขณะที่ประเทศไทยเองก็อยู่ท่ามกลาง geopolitics ไม่ใช่แค่การถูกดิสรัปชั่นเรื่องของดิจิทัล และปัจจัยต่าง ๆ จากทุกด้านกำลังส่งผลให้เกิดขึ้นเร็ว โจทย์คือจะออกแบบประเทศไทยอย่างไร เพื่อที่ไทยจะไม่สูญเสียโอกาสทองนี้ไป เพราะไทยมีจุดแข็งมากมาย ควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างยั่งยืน แต่จะโตอย่างไร”