คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขา กกพ. ตอบทุกคำถาม ทำไมค่าไฟแพง

อากาศที่ร้อนทะลุ 40 องศา ทำให้การปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวด 2 เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ทะลุจุดเดือดไปด้วย โดยการปรับค่าไฟรอบนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เป็นการปรับต่อเนื่องกันมาเป็นรอบที่ 5 นับจากงวดเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 มาถึงงวดแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม-เมษายน 2566) ที่จะเป็นการปรับแบบ 2 อัตรา

กล่าวคือ อัตราสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยราคา 4.72 บาท/หน่วย กับ อัตราสำหรับภาคอื่น ๆ (รวมภาคธุรกิจ-บริการ) ที่ 5.33 โดยเป็นไปตามมติ คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ต้องการให้ค่าไฟที่สะท้อนผ่านค่า Ft ในส่วนของภาคประชาชนถูกลง

กระทั่งมาถึงการคำนวณค่า Ft ในงวดปัจจุบัน (พฤษภาคม-สิงหาคม 2566) ปรากฏ กพช. “กลับลำ” ให้คำนวณค่า Ft เป็นอัตราเดียวกัน ไม่ต้องแบ่งระหว่างภาคที่อยู่อาศัย กับภาคธุรกิจ-บริการอีก โดยให้ค่า Ft เป็นไปตามกลไกสมมุติฐานราคาที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนระหว่างวันที่ 10-20 มีนาคม 2566 ได้ข้อสรุป อัตราค่า Ft งวดนี้จะอยู่ที่ 93.27 สตางค์/หน่วย ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าขึ้นไปเป็น 4.77 บาท/หน่วย เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา

โดยอัตราดังกล่าว สำหรับประชาชน “เสมือน” จ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 0.05 สตางค์ จากเดิม 4.72 บาท ขณะที่ภาคธุรกิจจ่ายค่าไฟฟ้าลดลง 0.56 บาท ปรากฏวิธีการนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ไม่เห็นด้วย พร้อมกับได้ยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ กกพ.ทบทวนอัตราค่า Ft งวด 2 (พ.ค-ส.ค.) อีกครั้ง โดยให้อยู่ในระดับ 4.40 บาทด้วยการ 1) ขอให้ยืดเวลาการชำระหนี้ที่ กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้าตลอดปี 2565 ที่จะต้องใช้คืน กฟผ.จาก 2 ปี เป็น 3 ปี

และ 2) ให้ปรับสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าใหม่ โดยใช้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตามแผนนำเข้างวด พ.ค.-ส.ค. 66 ที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นช่วงที่ราคา LNG ลดลงเหลือ 13 เหรียสหรัฐ/ล้าน BTU แทนที่จะไปใช้ราคา LNG เฉลี่ยของเดือนมกราคม ซึ่งราคา LNG อยู่ที่ 20 เหรียญ/ล้าน BTU

ท้ายที่สุด กกพ.ได้ยอม “ทบทวน” ปรับลดค่า Ft งวด 2 ลง จากข้อเสนอของ กฟผ.ยอมที่จะ “ยืดเวลา” การชำระหนี้จาก 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน ซึ่งจะช่วยให้ค่า Ft งวดนี้ลดลง 7 สตางค์ เท่ากับค่าไฟงวด 2 จะลดลงจากมติ กกพ.เดิม 4.77 บาท/หน่วย เหลือ 4.70 บาท/หน่วย แต่เสียงสะท้อนจากเอกชนก็ยังคงเห็นว่า ค่าไฟฟ้าที่ลดลงนั้นน้อยเกินไปและเหตุไฉน กกพ.จึงไม่ยอมปรับราคาก๊าซ LNG ที่ใช้คำนวณค่า Ft ให้เป็นปัจจุบัน

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “คมกฤช ตันตระวาณิชย์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เล่าถึงที่มาที่ไปของการ “ทบทวนค่า Ft” และเหตุผลที่ไม่เลือกปรับสูตร LNG ดังต่อไปนี้

แจกแจงวิธีคำนวณ Ft

แนวทางการปฏิบัติของ กกพ.เป็นตามมติ กพช. บางประเด็นเป็นเรื่องที่ต้องแยกระหว่างนโยบายและหน่วยงานกำกับ ทุกเรื่องมีบวกมีลบ กกพ.ทำหน้าที่ให้ข้อมูล ประชาชนก็ไปชั่งน้ำหนักเอาเอง เราไม่ได้ช่วยใครหรือช่วยอะไร ซึ่งในอนุกรรมการพิจารณาค่าไฟฟ้านั้น มีองค์ประกอบทั้ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย อยู่แล้ว ซึ่งหน่วยงานทั้ง 2 หากต้องการให้ข้อมูลหรือข้อเสนอใด ๆ ก็สามารถเสนอผ่านอนุกรรมการได้อยู่แล้ว

เช่นเดียวกับที่เอกชนเสนอให้มี คณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชนด้านพลังงาน เราบอกว่า เรามีกลไกตรงนั้นอยู่แล้ว หากไปให้ข้อมูลแล้วเขาไม่ทำ เราจะแจ้งให้ เพราะถึงเราเป็นเลขาฯ กกพ. แต่เราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับ กกพ.ทุกอย่าง อย่างการพิจารณาใน กกพ.รอบที่แล้ว เราก็เห็นด้วยกับค่าไฟฟ้าอัตรา 4.72 บาท แต่ในเมื่อ กกพ.ตัดสินใจ 4.77 บาท เราในฐานะฝ่ายเลขาฯก็ต้องมาแถลง 4.77 บาทตามมติ ถ้าอยู่ในอนุฯก็ต้องให้ความเห็น แต่ถ้าให้ความเห็นแล้ว แต่มติไม่เป็นไปตามข้อเสนอนั้นก็ต้องยอมรับ

เหตุผลที่ไม่ปรับเพราะ กกพ.มีระเบียบหลักเกณฑ์ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยตามหลักเกณฑ์ทำเหมือนกันทุกรอบ ไม่ว่าราคาก๊าซ LNG จะขึ้นหรือลง เช่น ค่า Ft งวด พ.ค.-ส.ค.จะเริ่มประเมินค่าใช้จ่ายในเดือน ก.พ.โดยมี ปตท.เป็นผู้รับหน้าที่ประมาณการราคา LNG ส่งต่อให้ กฟผ.คำนวณสูตร Ft จากนั้นเดือนมีนาคมจะเสนอเข้าบอร์ด กกพ.เพื่อรับฟังความเห็นและสรุปภายในเมษายนเพื่อแจ้งการไฟฟ้าก่อนบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม

ดังนั้นการประเมินในเดือนกุมภาพันธ์ก็จะใช้ค่าเฉลี่ยราคา LNG เดือนมกราคม ซึ่งทุกครั้งก็จะเป็นแพตเทิร์นเดียวกันตลอด ไม่ว่าราคา LNG ขาขึ้นหรือขาลง เพราะเป็นกติกา กกพ.เราเป็นหน่วยงานของรัฐก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ มีคนบอกว่า สมัยก่อน ๆ จะมีการเปลี่ยนสมมุติฐาน (ASSUMPTION) แต่เราก็บอกตรง ๆ ว่า “เราไม่อยากให้การเมืองแทรกแซง” การเปลี่ยน ASSUMPTION พูดตรง ๆ ก็คือ การแทรกแซงนั่นเอง ถ้าเปลี่ยนหนึ่งเรื่องก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นเราไม่ไปเปลี่ยน ส่วนที่เปลี่ยนจนราคาค่าไฟฟ้าลดลง 7 สตางค์ครั้งนี้ ไม่ใช่การเปลี่ยน ASSUMPTION

อย่างการคำนวณค่า Ft รอบนี้ กกพ.ทำจบไปแล้วประกาศ Ft ออกมา 4.77 บาท/หน่วย แต่แล้ว กฟผ.ทำหนังสือมาขอปรับฟอร์แคสใหม่ เนื่องจาก ปตท.เปลี่ยนแปลงสมมุติฐาน แต่หลักการนี้มันไม่ได้ เราแจ้งไปว่า อยากได้ลดลง 7 สตางค์ แต่จะมาฟอร์แคสใหม่ มันผิดหลักเกณฑ์ เรื่องลักษณะนี้เคยมีคนฟ้อง ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และฟ้องศาลมาแล้ว ดังนั้นก็ต้องชี้แจงไปว่า 1) เราปฏิบัติตามระเบียบหรือหลักเกณฑ์ใช่หรือไม่ 2) ถ้าไม่มีระเบียบหรือหลักเกณฑ์แล้วมีแนวปฏิบัติอย่างไร

การเปลี่ยนค่าฟอร์แคสแบบที่เรียกร้องกันอยู่ มันทำให้มีส่วนได้เสีย ข้อเสีย คือ รัฐวิสาหกิจ กฟผ.อาจจะต้องรับภาระมากเกินควร อาจทำให้เกิดความเสียหาย เราก็บอกว่า อย่าเปลี่ยนสมมุติฐานเลย หากจะลดแค่ 7 สตางค์ ไม่ได้มีนัยยะสำคัญ ขอให้ กฟผ.ไปพิจารณาลดสิ่งที่ กฟผ.จะได้ดีกว่า อย่างมายุ่งกับ ASSUMPTION และเพื่อความรอบคอบ ให้ดูสภาพคล่องมาด้วย ว่าเมื่อลดลง 7 สตางค์ไปแล้ว กฟผ.จะมีปัญหาหรือไม่

เมื่อ กฟผ.ทำเป็นหนังสือมาจึงนำเข้าพิจารณาในคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งก็มีหน่วยงานอย่าง กระทรวงการคลัง สำนักหนี้สาธารณะ ต่างก็ซักไซ้ กฟผ. ก็รับว่า พอลดได้ในงวดนี้ แต่งวดหน้าขอดูใหม่อีกที ว่าจะเป็นเท่าไร เพราะต้องดูราคาก๊าซที่ ปตท.ฟอร์แคสมา ยังไม่แน่ใจว่า สถานะจะเป็นอย่างไร

และถ้าปรับ ASSUMPTION ต้องปรับค่า Ft ทั้งหมด ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นผลดีในทุกปัจจัย เช่น อัตราแลกเปลี่ยนจาก 34 ขึ้นไป 35 บาท ส่งผลกระทบหมด ทั้งราคา LNG และการซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว และปัจจัยราคาน้ำมันดิบดูไบแพงขึ้นอีก ก็ส่งผลต่อราคาก๊าซในอ่าว ถ้าปรับแล้วก็ไม่แน่ใจว่า จะได้หรือจะเสีย ดังนั้นก็ปล่อยไว้ เพราะอย่างน้อยมี Positive ราคา LNG ตอนนี้ ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่า พ.ค.-ส.ค.จะโพสิทีฟหรือไม่ เพราะสุดท้ายไม่ว่าค่าจริงจะเป็นอย่างไร ก็ต้องเอามาบวกลบกันอยู่ดี

ทำไมไม่แก้วิธีการคำนวณให้เป็นปัจจุบัน

ปกติการคำนวณค่าไฟฟ้าก็มี ค่าไฟฐาน ซึ่งจะปรับ 3-4 ปีครั้ง ส่วนตัวที่เปลี่ยนแปลงจะไปใส่ในค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft จะปรับระหว่างช่วง 3-4 เดือน ตามค่าเชื้อเพลิง จากนั้นเมื่อครบ 3-4 ปี ก็จะยกยอดไปปรับค่าไฟฐาน

ที่ผ่านมาใช้ค่า Ft มา 20 ปีแล้ว พบว่าเป็นกลไกที่สะท้อนค่าใช้จ่ายที่แท้จริง ไม่มีคนได้ ไม่มีคนเสีย หลักการเหล่านี้เรื่องกลไกตลาดอยู่ในกำกับ (Regulated Market) เดิมทีค่า Ft กำหนด 3 เดือนครั้ง ปีหนึ่งมี 4 ครั้ง แต่ภายหลังปรับความถี่ตามที่ภาคเอกชนร้องขอมาเองให้ปรับระยะเป็น 6 เดือนต่อครั้ง เพื่อฟิกซ์ต้นทุนสำหรับไปทำสัญญาซื้อขายสินค้าต่างประเทศ จะได้ง่าย แต่ในสมัยของท่านรองนายกฯสมคิดให้ใช้หลักการของ Ease of Doing Business จับ และได้ข้อสรุปร่วมกันเป็นจะคำนวณค่า Ft ทุก 4 เดือนครั้ง เพื่อไม่ให้การไฟฟ้าฯจะต้องแบกรับต้นทุนนานเกินไป

กฟผ.แบกหนี้ คนไทยแบกค่าไฟ

ถามว่า จะลดค่าไฟฟ้าลงมาเหลือ 4.40 บาท/หน่วย ทั้งที่ตอนช่วงราคา LNG สูงก็คิดให้ต่ำมาตลอด แต่พอตอนนี้ราคา LNG มันต่ำลง แต่จะเอาต้นทุนราคาปัจจุบัน แล้วจะไม่ใช้หนี้ กฟผ.หรือ ซึ่งในการหารือมีกรรมการจากสำนักงานหนี้สาธารณะฯ ให้ข้อสังเกตว่า เรื่องหนี้ กฟผ.ที่แบกรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนต้องระวัง เพราะตอนนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น การทิ้งไว้นาน กฟผ.จะต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยขาขึ้น

แต่หน่วยงานอื่น ๆ ก็ให้ความเห็นว่า เพื่อช่วยเหลือประชาชนก็ไม่ได้มีปัญหาและให้ดูสถานะการเงิน ซึ่งทาง กฟผ. ยังมีแผนที่จะต้องไปลงทุนด้านอื่นด้วย และถ้ารัฐวิสาหกิจ กฟผ. ไม่คืนเงินคลังก็จะทำให้กระทรวงการคลังก็ขาดรายได้ นี่เป็นหลาย ๆ เหตุผลที่ประเมินแล้ว จึงออกมาเป็นให้ลดค่าไฟฟ้าลง 7 สตางค์ แต่ขอไม่ให้ยุ่งกับ ASSUMPTION เพราะมันเลยเวลาไปแล้ว ไม่เช่นนั้นจะเกิดความผิด ขอให้ตรวจสอบสถานะการเงินให้รอบคอบ

จากข้อเสนอแรกที่ กฟผ.เคยเสนอเป็น 5 งวดคือ 4.80 หมายถึง ค่า Ft ที่ 105 สตางค์ แบ่งออกเป็น 5 งวด ทางสำนักงานบอกว่า เยอะไป ขอให้ทำออปชั่นเป็น 6 งวด จึงได้ Ft 98 สต. ค่าไฟ 4.77 แล้วกฟผ.จะขอเปลี่ยน ASSUMPTION เพื่อให้กลายเป็น 4.70 ซึ่งเราบอกว่า ขอให้ไปลดส่วนของ กฟผ. เดิมทีเค้าคิดไว้ 6 งวด เมื่อขาดไป 7 สตางค์ก็เอาไปบวกที่เหลือรวมกับการเรกคอนไซส์ค่าจริงของงวดที่ผ่าน ๆ มา เป็นไปเท่าไรก็หาร 5 ใหม่ ซึ่งตอนนี้ตัวเลขจริงยังไม่มา ต้องรอจนจบเมษายน ถึงจะรู้ว่างวด ม.ค.-เม.ย. เค้ากำไร-ขาดทุนเท่าไร ฉะนั้นงวด ม.ค.-เม.ย.จะรู้ ตอนเราทำค่า Ft ของรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566

แน่นอนว่า ข้อเท็จจริง ค่าไฟฟ้าจะมีภาระไปอีก 2 ปี เพราะต้องใช้หนี้ กฟผ.ตามที่ตกลงกันไว้ หรือเท่ากับเราต้องใช้ไฟแพงไปอีก 5 งวด ก็คือ 2 ปี ถ้านับจากงวดนี้และยังมีการบอกกับ กฟผ.ให้กลับไปคิดใหม่ได้ ไปคิดให้ดี พอลดมา 4.70 บาทงวดนี้ พอผ่านการเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่มาคิดว่า จะได้ค่าไฟเกิน 4.70 บาทหรือไม่ ที่ผ่านมาเราแทบจะทำหมดแล้ว เช่น ปรับอัตราค่าท่อต่าง ๆ อีกนิดหน่อย ถ้าจะทำอย่างนั้นคุณต้องเปลี่ยนโครงสร้างการใช้ก๊าซ ซึ่งหากทำอย่างนั้น ภาคอุตสาหกรรม เช่น ปิโตรเคมี จะยอมหรือไม่ ทั้งหมดขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่

ค่า AP มีผลต่อค่าไฟ

ค่า AP มีผลต่อค่าไฟ ถ้าดูในสูตรค่าไฟฐานปี’58 อัตราค่า AP อยู่ที่ 67 สตางค์/หน่วย แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 76 สตางค์/หน่วย จากการคิด AP ตอนนั้นคือ ค่าใช้จ่ายสำหรับโรงไฟฟ้าใหญ่ก็คือ โรงไฟฟ้าที่รัฐให้สร้างและสร้างมาเพื่อผลิตไฟฟ้าอย่างเดียวและแบกรับโหลดแรงต่าง ๆ ทั้งโรงไฟฟ้า กฟผ. กับโรงไฟฟ้า IPP และต่อมามีเรื่อง SPP Cogen ซึ่งเป็นนโยบายให้อุตสาหกรรมมีไฟฟ้าไอน้ำเพียงพอใช้

ส่วนที่ขึ้นไปอีก 9 สตางค์ เพราะภายหลังมีการให้ค่า AP กับโรงไฟฟ้าหงสาตามประเภทของโรงไฟฟ้า และ SPP ตามนโยบายภาครัฐที่อยากให้มีโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม ทำให้มีจำนวน SPP เพิ่มขึ้นเยอะ ปี 2558 จากไม่ถึง 20 โรง ส่วนโรงไฟฟ้า IPP กับของ EGAT ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะมีโรงใหม่ก็ปลดโรงเก่า และมี VSPP Non firm ซึ่งรัฐไปเปิดเพื่อให้มี Green energy

ระวังช่วงขาขึ้นค่า FT งวด 3

แนวโน้มการคำนวณค่า Ft งวด 3 เดือน ก.ย.-ธ.ค. การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยยังเป็น “ปัจจัยหลัก” ย้อนกลับไปหลังจากการรับไม้ต่อสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงจาก 2,000 ล้าน ลบ.ฟ.ต่อวัน เหลือเพียง 200 ล้านฯ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดแล้ว เทียบกับจะกลายเป็น 0 หากปล่อยให้กลายเป็น 0 จะต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

ซึ่งตอนนี้ตามแผนของ ปตท.สผ.ก็คือ การเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซตามแผน 400 ล้านฯในเดือน ก.ค. และ 600 ล้านฯ ในปลายปี ซึ่งจะช่วยให้เราลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศ

ปัจจัยหลัก ๆ ของค่าไฟงวดหน้ายังอยู่ที่ก๊าซในอ่าวไทย ว่าจะผลิตได้ 600 ล้าน ลบ.ไหม ถ้าได้ของถูกเข้ามา จะลดความเสี่ยง เพราะถึง สถานการณ์ราคา LNG จะลดลงอย่างไร ก็ไม่มีทางลงราคาไปได้มากกว่าก๊าซในอ่าวไทย หากเทียบราคาก๊าซในอ่าวไทยประมาณ 4 เหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยเกือบ 200 บาท ก๊าซในอ่าวไทยจะถูกที่สุด ประมาณ 3,000 MMFCFD และแหล่งก๊าซจากเมียนมาปริมาณ 800 ราคาประมาณ 5-6 เหรียญ และถัดมาจะเป็นราคา LNG Long Term ราคาอยู่ระหว่าง 8-10 เหรียญ

ส่วนราคา LNG SPOT อยู่ประมาณ 10 -15 เหรียญขึ้นไป ดังนั้นหากผลิตก๊าวในอ่าวไทยได้เพิ่มขึ้นตามแผนเราก็จะได้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าถูกลง การบริหารจัดการง่ายกว่า สามารถแบ่งซื้อได้ อย่างไรก็ตามตอนนี้ปริมาณผลิตก๊าซที่ 600 ล้าน ลบ.นั้น ยังไม่ได้รับการการันตี ส่วน 400 ล้าน ลบ.ตอนนี้ก็ยังผลิตไม่ได้ เพราะมีการแจ้งเข้ามาว่า แหล่งผลิตอยู่ในช่วงของการบำรุงรักษา น่าจะผลิตได้ตามเป้าหมายในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.

อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่า ราคา LNG SPOT จะลงช่วงกลางปีเพราะเป็นหน้าร้อนทางยุโรปใช้น้อย จากนั้นราคา LNG ก็จะเพิ่มขึ้นอีกทีในช่วงปลายปี ดังนั้นยุโรปจะแย่งกันซื้อสต๊อก LNG ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. นี่คือปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนว่า ราคาก๊าซ LNG ในช่วงการคำนวณ Ft งวด 3 มีโอกาส “วิ่งขึ้น” และช่วงโควิดราคา LNG ต่ำมาก บริษัทใหญ่ ๆจะหยุดผลิตเพราะไม่คุ้ม ดังนั้นการที่จะกลับมาผลิตใหม่จะต้องใช้เวลา

ฉะนั้นตอนนี้ตลาด LNG ดีมานด์มากกว่า Supply โอกาสที่ราคาก๊าซ LNG จะขึ้นไปช่วงปลายปีก็มี ดังนั้นเมื่อมันมีความเสี่ยงอย่างนี้แล้ว เราจะไปเพิ่มความเสี่ยงให้ กฟผ.ได้อย่างไร กฟผ.เคยช่วยนำเข้า LNG ตามแผนเมื่อต้นปี 2565 แต่หลังจากนั้นเมื่อต้องแบกสภาพคล่องจากการรับภาระต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้าแทนประชาชนก็ต้องให้ ปตท.เป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG แทน

ดังนั้นตามหลักการคำนวณค่าไฟแล้ว เมื่อรู้ว่าเทรนด์ราคาจะอยู่ในช่วงขึ้น เราก็ต้องทยอยขึ้นราคาแบบขั้นบันได ไม่ใช่ฟิกซ์ราคา เพื่อให้ทุกฝ่ายซึมซับสถานการณ์ว่า มันมีวิกฤตอยู่ เพราะท้ายที่สุดหากไปปรับราคาค่าไฟฟ้าขึ้นพรวดเดียวตัวเลขจะสูงมาก หรือแม้กระทั่งการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นงานระดับนโยบายก็ต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน