สรท. ฟันธงส่งออก ปี’66 ได้ 0-1% ยานยนต์-อาหารยังไปได้

ส่งออก การส่งออก การเติบโต ตัวเลข

ปัจจัยเสี่ยงยังสูง สรท. คงประมานการส่งออกปี 2566 ไว้ที่ 0-1% ไม่ถึง 2% แต่ไม่ติดลบ หลังภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และอาหารโตพุ่งใน 2 ตลาดใหม่ทั้งตะวันออกกลางและแอฟริกา ลุ้นเลือกตั้ง 14 พ.ค. หวังได้รัฐบาลใหม่ช่วยแก้ปัญหาค่าไฟ

วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า จากปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2566 ทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อทุกภาคส่วน อาทิ ภาคการเงิน การผลิต การส่งออก วัตถุดิบและพลังงาน ต้นทุนการผลิตยังคงสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และพลังงาน ซึ่งยังมีความผันผวนและส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน

ปริมาณสินค้าคงคลังในประเทศคู่ค้ายังคงปริมาณสูง ส่งผลให้ความต้องการลดลง และปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนจัดทั่วโลก ส่งผลต่อการผลิตในภาคการเกษตร ผลผลิตออกไม่ตรงตามฤดูกาล

สรท. จึงยังคงคาดการณ์การส่งออกรวมทั้งปี 2566 เติบโตระหว่าง 0-1% อย่างน้อยยังมั่นใจว่าจะยังมีปัจจัยบวกจากอุตสาหกรรมส่งออกยานยนต์และอาหาร เป็นตัวดึงให้การส่งออกไม่ติดลบอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากตลาดใหม่อย่างตะวันออกและแอฟริกา ที่กระทรวงพาณิชย์ และบีโอไอ ได้สนับสนุนผู้ประกอบการให้ส่งออกและขยายตลาด ซึ่งทั้ง 2 ภูมิภาคดังกล่าวเติบโตอย่างมาก

“เราหวังว่าการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 นี้ เราจะได้รัฐบาลที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเราเองก็มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ ขอให้ภาครัฐบริหารจัดการการปรับค่าพลังงาน (ค่าไฟฟ้า Ft) อย่างเหมาะสม เพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนของภาคการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นและเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อคู่ค้าคู่แข่งที่สำคัญ เป็นไปในทิศทางเดียวกับ กกร. ที่ได้พยายามให้รัฐใช้สมมุติฐานการคำนวณค่าไฟใหม่ การดูปรับโครงสร้างพลังงาน ซึ่งภาคเอกชนจะยังขอให้รัฐแก้เรื่องนี้ให้ได้”

สำหรับภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมีนาคม 2566 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 27,654.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.2% หรือ 942,939 ล้านบาท ขยายตัว 2.2% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนมีนาคมขยายตัว 0.01%)

ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 24,935.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7.1% หรือ 860,535 ล้านบาท หดตัว 1.0% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2566 เกินดุล 2,718.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 82,403 ล้านบาท

ขณะที่ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม-มีนาคมของปี 2566 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 70,280.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.5% หรือ 2,373,189 ล้านบาท หดตัว 1.1% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม-มีนาคม หดตัว 0.9%)

ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 73,324.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 0.5% หรือ 2,508,390 ล้านบาท ขยายตัว 2.9% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม-มีนาคม 2566 ขาดดุลเท่ากับ 3,044.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 135,201 ล้านบาท