ฟลายอิ้ง สปาร์ค ผนึกทียู ผลิต “โปรตีนแมลงวันทอง”

อีราน โกรนิช
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

โปรตีนทางเลือก กำลังเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ รวมถึงผู้รักสุขภาพ ทำให้ตลาดนี้มีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โปรตีนทางเลือกมีที่มาจากหลายแหล่ง ทั้งพืชและแมลง ซึ่งผู้บริโภคในประเทศไทยนิยมรับประทานแมลงกันอยู่แล้ว ทั้งตั๊กแตน จิ้งหรีด หนอนไม้ไผ่ รถด่วน แต่ปัจจุบันนี้มีผู้คิดค้นนวัตกรรมด้วยการนำแมลงบางชนิดไปผลิตเป็นโปรตีนทางเลือกให้กับผู้บริโภค

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายอีราน โกรนิช ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟลายอิ้ง สปาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทชั้นนำจากประเทศอิสราเอลที่เพิ่งคิกออฟเปิดโรงงานแห่งแรกที่ประเทศไทยใน จ.เพชรบุรี หลังจากใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี

ที่มาที่ไปเลือกตั้งโรงงานในไทย

บริษัท FLYING SPARK (ฟลายอิ้ง สปาร์ค) ในประเทศอิสราเอล ได้ก่อตั้งในปี 2015 ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหารมาหลายปี ผ่านการลงทุนรวม 14 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 482,440,000 ล้านบาท จนสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอิสราเอลได้

การเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทยเริ่มเมื่อปีที่ผ่านมา เราเลือกพื้นที่ 7,000 ตารางเมตรที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ทุนจดทะเบียนบริษัท 50 ล้านบาท และขณะนี้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างโรงงานไปแล้วกว่า 150 ล้านบาท เพื่อผลิตโปรตีนจากแมลงวันทอง หรือตัวอ่อนแมลงวันผลไม้ (FRUIT FLY LARVAE) ผลิตเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง สัตว์น้ำ และน้ำมันเพื่อผลิตเป็นเครื่องสำอาง

“เราเลือกประเทศไทย ด้วยภูมิศาสตร์ของประเทศ อุณหภูมิ วัฒนธรรมในการรับอาหารทางเลือกของไทยเปิดกว้าง ทำให้เรามาปักหมุดที่นี่ เพื่อผลิตโปรตีนทางเลือกแห่งแรกของโลก โดยเลือกแมลงวันผลไม้เป็นวัตถุดิบ เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการ วิตามิน ไขมันดี กากใยอาหาร และปราศจากคอเลสเตอรอล

ซึ่งบริษัทใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยและเป็นการเลี้ยงในระบบปิด มั่นใจว่าแมลงที่เลี้ยงจะไม่หลุดออกไปข้างนอกอย่างแน่นอน พร้อมเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางผลิตโปรตีนทางเลือกด้วย”

ฟลายอิ้ง สปาร์ค

ผนึกทียูร่วมลงทุนเชิงกลยุทธ์

จากความพร้อมและผู้นำของบริษัทในการผลิตโปรตีนทางเลือกของเรา บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย ตัดสินใจเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนเชิงกลยุทธ์ สัดส่วน 8% เพื่อสนับสนุนโปรตีนจากแมลง รวมไปถึงการให้ความรู้ การวิจัย ในการต่อยอดผลิตโปรตีนเพื่อเป็นอาหารสัตว์ และไทยยูเนี่ยน เป็นลูกค้าสำคัญและรายใหญ่ในการรับซื้อโปรตีนทางเลือกที่ผลิตได้จากแมลงด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังมีผู้ลงทุนเชิงกลยุทธ์อื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ สเตราส์ กรุ๊ป (Strauss Group) หนึ่งในผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของอิสราเอล และบริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นอย่างซูมิโตโม เคมิคอล (Sumitomo Chemical)

เลี้ยงแมลงระบบปิด

กระบวนการผลิตในโรงงานผลิตโปรตีนทางเลือกจากแมลงวันนี้ บริษัทใช้ระบบการเลี้ยงตัวอ่อนแบบปิดทั้งระบบ และใช้เทคโนโลยี EntoFarm ที่ช่วยประหยัดน้ำและพื้นที่มากถึง 99% เมื่อเทียบกับปศุสัตว์ดั้งเดิม และลดการปล่อยก๊าซมีเทนและของเสียจากฟาร์มได้ ระบบการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนแมลงวันผลไม้ มีวงจรการเลี้ยงแมลงวัน

นับจากวันแรกที่เป็นไข่ไปจนเป็นตัวหนอนในวันที่ 5 จะสามารถนำไปสกัดโปรตีนผง หรือน้ำมันเพื่อไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้

หลังจาก 5 วันที่แมลงวันได้เป็นตัวหนอน เราจะแบ่งตัวหนอนบางส่วนให้โตเป็นแม่พันธุ์ โดยจะปล่อยให้โตเต็มวัยจนสามารถกลับมาผลิตไข่ได้ใหม่ภายใน 21 วัน เป็นวงจรการผลิตในแต่ละรอบ

ฟลายอิ้ง สปาร์ค

เพิ่มกำลังผลิต 10 เท่าใน 3 ปี

ปัจจุบันเรามีกำลังการผลิตตัวอ่อนแมลงวันผลไม้ 120 กิโลกรัมต่อวัน และคาดว่าใน 1 เดือน จะสามารถผลิตโปรตีนได้มากเทียบเท่าเนื้อวัว 300-400 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร

ขณะที่กำลังการผลิตโปรตีนสูงสุดของโรงงานอยู่ที่ 100 ตัน ภายในปี 2566 โดยตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ตัน ภายในปี 2567 และขึ้นเป็น 10,000 ตัน ในปี 2570

โดยผลิตภัณฑ์มี 3 รูปแบบ ทั้งโปรตีนพรีเมี่ยมสำหรับสัตว์เลี้ยง ผงโปรตีนจากแมลงสำหรับสัตว์น้ำ โปรตีนแบบน้ำมันจากแมลง เพื่อป้อนอุตสาหกรรมความงามและเครื่องสำอาง

ในอนาคตมีแผนขยายกำลังการผลิตและเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมทั้งอาหารสัตว์ อาหารมนุษย์ อาหารสำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมความงาม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าหลายบริษัท

ฟลายอิ้ง สปาร์ค

เจาะตลาดเอเชีย-แปซิฟิก

บริษัทเน้นการผลิตเพื่อส่งขายไปที่ตลาดเอเชีย-แปซิฟิก โดยจะสามารถเริ่มส่งผลิตภัณฑ์ได้ในเดือนมิถุนายน 2566 นี้ ซึ่งสินค้าโปรตีนพรีเมี่ยมจะมีราคาอยู่ที่ 10 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม (หรือ 340 บาทต่อกิโลกรัม) ส่วนโปรตีนผงของสัตว์น้ำมีราคาไม่ถึง 1 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม (34 บาท/กก.)

บริษัทตั้งเป้าเรื่องรายได้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ในช่วงแรกการผลิตเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ จะทำรายได้ 125 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ประมาณ 4,200 ล้านบาท) ส่วนระยะถัดไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 250 ล้านเหรียญต่อปี (ประมาณ 8,500 ล้านบาท)

“จากวิสัยทัศน์ของเรา กับนวัตกรรมที่เรามี มั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบโปรตีนและน้ำมันที่มีคุณภาพให้กับตลาด ปัจจุบันแม้ว่าเราจะผลิตโปรตีนสำหรับอาหารสัตว์ ในอนาคตก็มีโอกาสที่เราจะผลิตเป็นอาหารคนได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่รักสุขภาพ ไม่ทานเนื้อสัตว์ จึงมั่นใจว่าจะมีนักลงทุนจากหลากหลายวงการสนใจมาร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับบริษัทเพิ่มมากขึ้น”

ฟลายอิ้ง สปาร์ค

หวังรัฐบาลใหม่หนุน

สินค้าโปรตีนทางเลือกจะเข้ามาช่วยทดแทนโปรตีนจากสัตว์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีระบบการผลิตแบบฟาร์ม ต้องใช้ทรัพยากรทั้งน้ำและอาหารจำนวนมาก และสร้างปัญหากับสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (มีเทน) ขณะที่แมลงใช้ทรัพยากรน้อยกว่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

“แม้ว่าจะโปรตีนทางเลือกจะไม่สามารถเข้ามาทดแทนเนื้อสัตว์ได้ทั้งหมด แต่จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้”

ทางเราก็อยากฝากรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ขอให้ยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร เทคโนโลยี นวัตกรรมด้านอาหาร เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ส่งเสริมสตาร์ตอัพ เพื่อต่อยอดไปสู่ตลาดโลกได้ในอนาคต เพราะอิสราเอลทำสำเร็จมาแล้ว