TDRI ชำแหละปัญหาผู้ใช้ไฟ เร่งแก้ กม.ชดเชยไฟดับทุกบ้าน

ไฟฟ้า

ในช่วงเวลา 2 เดือนนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกำกับพลังงาน (กกพ.) ได้จัดเดินสายรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าใน 4 จังหวัด 4 ภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่, นครราชสีมา, สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการของผู้จำหน่ายไฟฟ้า

นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกำกับพลังงาน (กกพ.) กล่าวในการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “การปรับปรุงหรือจัดทำประกาศและระเบียบ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เกี่ยวกับคุณภาพการใช้บริการและการชดเชยผู้ใช้พลังงาน”

ภายใต้โครงการศึกษาการชดเชยผู้ใช้พลังงานตามมาตรฐานการให้บริการ จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า กกพ.อยู่ระหว่างการปรับปรุง เพื่อแก้ พ.ร.บ.กิจการพลังงาน ในส่วนที่เป็นการให้บริการกับประชาชนผู้ใช้ไฟทุกประเภท ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม กิจการขนาดเล็ก บ้านเรือน

“กกพ.พยายามหาความพอดี ระหว่างต้นทุนพลังงานกับการให้บริการ แม้ว่าโจทย์ดังกล่าวจะค่อนข้างยาก ทีดีอาร์ไอจะมาช่วยวิเคราะห์หาสาเหตุและแนวทางในการปรับปรุง เพื่อออกเป็นประกาศ ระเบียบ และนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กกพ. ในมาตรา 89 มาตรฐานคุณภาพการให้บริการ และมาตรา 91 สัญญาการให้บริการไฟฟ้า”

วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา
วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา

ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรู้

นายสุเมธ องกิตติกุล รองประธานและผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า 3 สิ่งที่ผู้ใช้ไฟทุกคนควรรู้และได้รับคือ 1.การรับเงินชดเชยของผู้ใช้ไฟที่ยังไม่เท่าเทียมกัน

เนื่องจากปัจจุบันมีเพียงแค่ผู้ใช้ไฟรายใหญ่หรือธุรกิจที่ได้รับการชดเชยเงินคืนในกรณีเกิดความขัดข้อง เช่น ไฟตก ไฟดับ 2.การได้รับการแก้ไขความเสียเปรียบ ในกรณีที่มีความผิดพลาดในการคำนวณค่าไฟฟ้า ถ้าคิดไฟเกินผู้ใช้ไฟจะได้รับเงินคืนภายใน 30 วัน แต่ถ้าคิดค่าไฟขาด ผู้ใช้ไฟต้องจ่ายค่าไฟที่ขาดย้อนหลังถึง 3 ปี ซึ่งการต้องอาศัยการตรวจสอบมิตเตอร์ไฟว่าเสียหรือไม่ หรือผิดพลาดจากส่วนใด การหาเหตุที่แท้จริงจึงเป็นเรื่องยาก

และ 3.การได้รับรู้ข้อมูลปัญหาการใช้ไฟ ที่ผ่านมาผู้จำหน่ายไฟยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลคุณภาพการจ่ายไฟโดยละเอียด ทำให้ผู้ใช้ไฟไม่สามารถประเมินคุณภาพการให้บริการได้ ดังนั้น เพื่อแก้ไขความได้เปรียบ เสียเปรียบของผู้จำหน่ายและผู้ใช้ไฟ

เปิดผลศึกษา TDRI

ทีดีอาร์ไอได้ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการให้บริการและแนวทางการชดเชยให้กับผู้บริโภค ซึ่งถือว่าเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างหนึ่ง และแน่นอนว่าในอนาคตไทยกำลังจะเป็นฐานการผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV)

รวมถึงการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ในส่วนนี้กลับยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการให้บริการที่ชัดเจน เมื่อดีมานด์เพิ่มขึ้นจึงกังวลผลที่จะตามมาหากไฟฟ้ายังไม่เสถียร และเกิดไฟตก ไฟดับ ผู้ใช้ไฟจะได้รับการบริการและชดเชยในส่วนใดบ้าง จากการศึกษาพบว่า ประเด็นปัญหาที่ผู้ใช้ไฟพบมากที่สุดคือ ไฟดับในพื้นที่เดิมซ้ำซากแบบไม่แจ้งล่วงหน้า ตรงนี้มีผลต่อการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมแน่นอน รวมถึงการคิดคำนวณค่าไฟที่ผิดประเภท ส่งผลให้เกิดความเสียหายในส่วนของค่าใช้จ่ายตามมา

แม้ว่าปัญหาดังกล่าวอาจเป็นเรื่องสุดวิสัย หรือเกิดจากความผิด ไม่รู้ จากการไม่แจ้งเปลี่ยนประเภทของผู้ใช้ไฟ แต่ในฐานะที่การไฟฟ้าฯหน่วยงานรัฐคือผู้จำหน่ายไฟ จะต้องเข้ามาดูแลรับผิดชอบและกำหนดแนวทาง ขั้นตอนการชดเชยให้ละเอียดชัดเจนมากกว่านี้

เช่น บางบ้านเปิดทำกิจการเล็ก ๆ แจ้งการใช้ไฟเป็นประเภทกิจการ ซึ่งจะมีอัตราการคำนวณค่าไฟต่างออกไป และต่อมาเลิกกิจการมาเป็นที่อยู่อาศัย แต่อัตราค่าไฟยังไม่ปรับ ปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งการไฟฟ้าฯจะต้องประชาสัมพันธ์ และต้องคอยตรวจสอบว่ามีการเปลี่ยนแปลงประเภทการใช้หรือไม่ รวมถึงขั้นตอนการอำนวยความสะดวกและระบุค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ที่ต้องเข้ามาติดต่อกับหน่วยงานรัฐ

ปัจจุบันการชดเชยนั้นได้กำหนดไว้ 5 กรณีคือ 1.ไฟฟ้าดับ จ่ายเงินชดเชยครั้งละ 400 บาท โดยจ่ายให้เฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้า 300 kVA ขึ้นไป 2.ปัญหาแรงดันไฟฟ้าและไฟกะพริบ จ่ายเงินชดเชย 200 บาทต่อวัน แต่ไม่เกิน 2,000 บาท 3.เครื่องวัดหน่วย (มิเตอร์ไฟ) เสีย หรือจดหน่วยผิดจ่ายเงินชดเชย 200 บาทต่อวัน แต่ไม่เกิน 2,000 บาท

4.การดับไฟฟ้าล่วงหน้าแบบแจ้งก่อน จ่ายเงินชดเชยครั้งละ 400 บาท โดยจ่ายให้เฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้า 300 kVA ขึ้นไป 5.การต่อไฟกลับของลูกค้าเดิม กรณีถูกงดจ่ายไฟฟ้า จ่ายเงินชดเชย 200 บาทต่อวัน แต่ไม่เกิน 2,000 บาท

“ปัญหาคือการชดเชยกรณีไฟฟ้าดับไม่ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท ปัจจุบันจ่ายเงินชดเชยครั้งละ 400 บาท ให้เฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้า 300 kVA ขึ้นไป ถ้าไฟฟ้าดับเกิน 4 ชั่วโมง ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าที่ 300 kVA มักครอบคลุมเพียงผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่และใหญ่มาก ซึ่งมีเพียง 0.04% เท่านั้น และปริมาณการใช้ไฟฟ้าคิดเป็น 58.34%”

ดึงโมเดลอินเดียช่วย

สำหรับแนวทางการชดเชยในต่างประเทศ เช่น รัฐเดลี ประเทศอินเดีย หากซ่อมระบบนานเกิน 2 ชั่วโมง (6 ชั่วโมงถ้าต้องเปลี่ยนอุปกรณ์) ให้จ่ายค่าชดเชย 5 รูปี (ค่าไฟ 4.5 Rs/kWh) หรือ 10 รูปี (ค่าไฟรายใหญ่ 8.5 Rs/kWh) ต่อหนึ่งกิโลวัตต์ คูณกับจำนวนกิโลวัตต์สูงสุดที่ใช้ต่อชั่วโมงที่ระบุในสัญญา

ดังนั้น แม้ไทยจะไม่สามารถใช้แนวทางแบบเดียวกันกับต่างประเทศได้ แต่ข้อเสนอคือเงินชดเชย เมื่อดับนานกว่า 2 ชั่วโมง=หน่วยไฟฟ้าที่ใช้ โดยเฉลี่ยต่อชั่วโมง (ถ้าไม่มีข้อมูลให้นับหน่วยไฟฟ้า ที่ใช้สูงสุดต่อชั่วโมงตามสัญญาของแต่ละประเภท ผู้ใช้ไฟ) x ระยะเวลาที่ไฟฟ้าดับ x ค่าไฟฟ้าต่อหน่วย โดยจะเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าในรอบบิลถัดไป สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท