เศรษฐกิจไทย พ.ค. 66 ฟื้นตัวต่อเนื่อง แบงก์ชาติเกาะติดการส่งผ่านต้นทุนกระทบกำลังซื้อ

เศรษฐกิจ พ.ค. 66

ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือนเมษายน-พฤษภาคมฟื้นตัวชัดเจน อานิสงส์ท่องเที่ยว-การบริโภค-ตลาดแรงงานเข้าสู่ภาวะปกติ ระบุส่งออกแผ่ว -1.5% ตามอุปสงค์คู่ค้าชะลอตัว ด้านค่าเงินบาทแข็งค่าก่อนทยอยพลิกอ่อนค่าตามปัจจัยเฟดและมุมมองต่อเศรษฐกิจไทย ธปท.พร้อมติดตามการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการ หวั่นกระทบกำลังซื้อ-การบริโภค 

วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ดร.สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนเมษายน 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคเป็นสำคัญ และหากมองไประยะข้างหน้า การขยายตัวยังต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคมตามทิศทางจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และตลาดแรงงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ ภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก และการส่งผ่านต้นทุนที่ยังไม่สามารถส่งผ่านได้ทั้งหมด ซึ่งอาจจะกระทบต่อกำลังซื้อและการบริโภคได้ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง และการจัดตั้งรัฐบาล โดยในส่วนผลกระทบต่อนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำอาจจะต้องรอความชัดเจนของนโยบาย และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงการประเมินความเสี่ยงในระยะต่อไป

“ตัวเลขเศรษฐกิจตามสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ออกมาไตรมาสที่ 1/2566 อยู่ที่ 2.7% และตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนเมษายนที่ออกมาใกล้เคียงกับที่ ธปท.ประเมินไว้ส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง และมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ ทั้งการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หรือการส่งออกที่ยังต้องติดตามอยู่”

สำหรับเครื่องชี้วัดที่ขยายตัวได้ดีในเดือนเมษายน ในส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.18 ล้านคน โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวในกลุ่มเอเชีย โดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติ อาทิ กลุ่มยุโรปไม่รวมรัสเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐ ชะลอลงบ้างหลังเร่งไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้น 0.6% จากการใช้จ่ายในภาคบริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามหมวดโรงแรมและภัตตาคารเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว สำหรับการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนทรงตัวตามยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนปรับลดลงจากทั้งยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์และยอดจำหน่ายรถยนต์หลังเร่งซื้อไปมากในช่วงก่อนหน้า

ดร.สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)


ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังปรับดีขึ้นจากทั้งการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยตลาดแรงงานกลับเข้าสู่ระดับปกติก่อนโควิด-19 สะท้อนจากผู้ประกันตนมาตรา 33 ปรับดีขึ้นต่อเนื่องผู้ขอรับสิทธิ์เดือนเมษายนปรับลดลงใกล้เคียงกับช่วงก่อนควิด-19 โดยอัตราว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.04% อย่างไรก็ดี ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลง -1.5% จากเดือนก่อน หรือปรับลดลง -6.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง โดยเฉพาะการส่งออก 1.ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปสหรัฐ หลังหมดรอบการส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการ 2.น้ำตาลไปอินโดนีเซีย และ 3.เครื่องปรับอากาศไปสหรัฐ และยุโรป อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางหมวดปรับเพิ่มขึ้น อาทิ การส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนไปจีน

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลง -3.3% จากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะการผลิตในหมวด 1.ยานยนต์ จากการรอระบายสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง หลังเร่งผลิตไปมากในช่วงก่อนหน้า 2.อาหารและเครื่องดื่มตามการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป น้ำมันปาล์ม และอาหารทะเลกระป๋องเป็นสำคัญ และ 3.หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ลดลงตามรอบการผลิต อย่างไรก็ดี การผลิตหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับดีขึ้น จากอุปสงค์สำหรับใช้ในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลง -0.8% จากเดือนก่อน โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับลดลงในทุกองค์ประกอบย่อย ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่ออุตสาหกรรม

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือจากจีน ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมหมวดเชื้อเพลิงลดลงจากเดือนก่อน อาทิ การนำเข้าเหล็กรีดแผ่นและพลาสติกจากจีนและญี่ปุ่น

ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อย -1.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเร่งเบิกจ่ายรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีผลของฐานสูงในปีก่อน จากรายจ่ายในโครงการโทรคมนาคมและระบบรถไฟชานเมือง หากไม่รวมผลของฐาน รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวจากโครงการลงทุนด้านโทรคมนาคมและสาธารณูปโภค ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายของกรมชลประทาน และกรมโยธาธิการและผังเมือง 

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจาก 2.83% มาอยู่ที่ 2.67% ผลของฐานสูงในหมวดอาหารสด และหมวดเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจาก 1.75% มาอยู่ที่ 1.66% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ

ขณะที่ค่าเงินบาทในเดือนเมษายน-25 พฤษภาคม 2566 เฉลี่ยแข็งค่าเล็กน้อย โดยในเดือนเมษายนแข็งค่า 0.6% และพฤษภาคม 0.38% ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยตลาดมีการปรับคาดการณ์ของนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมถึงเศรษฐกิจไทยที่มีมุมมองเป็นบวกมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคมเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าจากทิศทางเฟดส่งสัญญาณเข้มนโยบายการเงิน อย่างไรก็ดี หากดูดัชนีเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่ง (NEER) ในช่วง 2 เดือน ไม่ได้ปรับตัวสูงมายังคงทรงตัว    


“เดือน เม.ย.จะมีตัวชี้วัดปรับดีขึ้นและปรับลดลง แต่ภาคบริการและการบริโภคยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว และการท่องเที่ยวไทยและต่างชาติปรับดีขึ้น แต่เรายังต้องติดตามการส่งออกที่ชะลอตัว แต่ยังอยู่ในอัตราที่เราประเมินไว้ ส่วนเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐ เริ่มคลี่คลายแล้ว ซึ่งไม่มีผลต่อฟันด์โฟลว์ แต่เป็นปัจจัยของเฟด การพึ่งพาจีน รวมถึงปัจจัยภายในประเทศ”