440 บริษัทไทยตั้งรับ EU CBAM ภาษีคาร์บอนสะเทือนส่งออก 4 แสนล้าน

ทุกครั้งที่สหภาพยุโรป (อียู) ออกมาตรการทวีความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผลกระทบส่งแรงกระเพื่อมมาถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) มีแผนการสนับสนุนประเทศสมาชิกสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions นโยบายที่ต้องการลดการปล่อยให้ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050 โดยอุณหภูมิของโลกจะต้องไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2.0 องศาเซลเซียส

เดดไลน์ CBAM บังคับ 1 ต.ค. 66

นำมาสู่มาตรการใหม่ที่เป็นบันไดขั้นแรก “European Green Deal” หรือมาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกลง 55% ภายในปี 2030

กลายเป็นแรงกดดันสำคัญที่ผู้ส่งออก ผู้ผลิตสินค้า ผู้นำเข้ายุโรป จำเป็นต้องเตรียมรับมือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งด้านศักยภาพการแข่งขัน การผลิตตลอดซัพพลายเชน เพราะการนำสินค้าเข้ายุโรปได้ต้องผ่าน “กลไกการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน” หรือ CBAM-Carbon Border Adjustment Mechanism ที่ยุโรปได้ออกประกาศล่วงหน้าว่า จะมีการบังคับใช้ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 นี้

ไทม์ไลน์ระหว่างการปรับตัว ยุโรปได้กำหนดให้ผู้ส่งออกต้องทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายไตรมาส ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2568 จากนั้นดีเดย์ 1 มกราคม 2569 จะบังคับใช้จริง ผลกระทบคือจะมีการเก็บภาษี และการทำรายงาน ดังนั้น ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตอุตสาหกรรมไทย จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อการส่งออกและการแข่งขันในตลาดยุโรป

แม้ว่าประเทศไทยส่งออกสินค้าเข้ายุโรปในกลุ่มสินค้าที่ออกประกาศลอตแรก 6 รายการ คือ “เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน” จำนวนน้อยมาก แต่อนาคตยังต้องติดตามและรับมือ หากจะมีการขยายผลไปยังสินค้ากลุ่มอื่น

ทั้งนี้ ตลาดสหภาพยุโรปนับเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย สถิติปี 2565 มีการส่งออก 26,812.3 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากยุโรป 20,395.38 ล้านเหรียญสหรัฐ ล่าสุดช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย. 2566) ส่งออก 8,843.77 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 7,174.93 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ต้นทุนอนาคต” เตรียมควักจ่ายค่าใบรับรอง

เรื่องเดียวกันนี้ “อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยในการสัมมนาหัวข้อ “ภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) : ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยและการปรับตัว” จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ศูนย์ศึกษาฯประเมินและรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากนโยบาย CBAM อาจมองได้ว่าเป็นมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง

โดยไทยส่งออกสินค้ากลุ่ม “อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า” คิดเป็น 0.1% ส่วน “ไฟฟ้า ซีเมนต์ ปุ๋ย” ไทยไม่ได้ส่งออกไปอียู สำหรับสินค้าประเภทอื่น เช่น “พลาสติก” ไทยส่งออกไปอียู 0.2% “ผลิตภัณฑ์ยาง” ส่งออก 3.2% “สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย” ส่งออก 0.2% และ “อาหาร” ส่งออก 0.5% ประเด็นอยู่ที่ในอนาคตมีโอกาสที่อียูจะเพิ่มรายการสินค้ามากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องมีแผนรับมือตั้งแต่เนิ่น ๆ

ศูนย์ศึกษาฯได้ประเมินค่าใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) แต่ละสินค้าที่ต้องจ่าย ซึ่งนับเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มีการส่งออก พบว่า เหล็กและเหล็กกล้า มีค่าใบรับรอง 8.12 ล้านเหรียญสหรัฐ/ตัน, อะลูมิเนียม 7.66 ล้านเหรียญสหรัฐ, ปุ๋ย 0.001 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น

ส่วนสินค้าที่อียูนำเข้าจากไทย แต่ยังไม่อยู่ในมาตรการ CBAM ซึ่งในอนาคตหากมีการบังคับใช้ CBAM จะทำให้มีต้นทุนเพิ่มในการออกใบรับรอง ดังนี้ สินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 456.81 ล้านเหรียญสหรัฐ อาหาร 233.51 ล้านเหรียญสหรัฐ

สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย 130.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ยาง 91.23 ล้านเหรียญสหรัฐ พลาสติก 60.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เคมีภัณฑ์ 43.74 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมมูลค่าที่ต้องจ่ายเพิ่ม 1,016.78 ล้านเหรียญสหรัฐ

เท่ากับว่าเมื่อมีการบังคับใช้มาตรการ CBAM จะส่งผลกระทบกับสินค้าไทย คือ 1.ทำให้ราคานำเข้าสินค้าไทยไปอียูแพงขึ้น 2.ทำให้ส่งสินค้าไปอียูได้น้อยลง และ 3.ผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าของไทย และจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย (ดูกราฟิกประกอบ)

440 บริษัทร่วมมือลดปล่อยก๊าซ CO2

ด้าน “นางสาวภคมณ สุภาพพันธ์” ผู้อำนวยการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันมีภาคเอกชนที่เข้าร่วมลดการปล่อยก๊าซกว่า 440 บริษัท มีการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตแล้วประมาณ 4 แสนตัน

ขณะที่คาร์บอนเครดิตที่มีปริมาณ 14 ล้านตัน ถือว่าเป็นคาร์บอนเครดิตก้อนใหญ่ซึ่งเอกชนยังไม่ได้นำมาทำการซื้อ-ขายแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยุโรปเปิดให้ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าได้มาลงทะเบียน กำหนดสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2567 นี้ เพราะหากไม่ลงทะเบียนไว้จะทำการส่งออกสินค้าเข้าอียูยากลำบากกว่าเดิม

ทั้งนี้ ทางองค์การอยู่ระหว่างการส่งเสริม สนับสนุน ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมลดการปล่อยก๊าซ และเพิ่มพื้นที่ดูดซับก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย และเพื่อให้มีพื้นที่ปล่อยก๊าซและดูดซับให้อยู่ในปริมาณที่เท่ากัน เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศไทยและโอกาสการแข่งขันในตลาดได้

เอกชนตื่นตัว-สร้างความพร้อมรับ CBAM

“นายหลักชัย กิตติพล” ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทเตรียมพร้อมมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว โดยเป็นคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากการลงทุนปลูกยางพาราใน สปป.ลาว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าต้นยางพาราเป็นต้นไม้ที่ดูดซับคาร์บอนได้ดี คำนวณ 1 ไร่ ดูดซับได้ 4 ตัน ทำให้บริษัทสามารถซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตได้ 1 ปี ประมาณ 5 ล้านบาท

ขณะที่รัฐบาลไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้มีการส่งเสริมให้ยางพารา หรือแม้แต่สินค้าเกษตรอื่น ๆ เช่น มันสำปะหลัง ในการดูดซับการปล่อยก๊าซ

ข้อเสนอแนะ ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน สถาบันทางการเงินก็ต้องดูแลเพื่อให้เดินหน้าเรื่องการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ รวมทั้งจำเป็นจะต้องมีกฎหมาย กฎระเบียบ และต้องมีการบูรณาการในการทำงานให้ชัดเจน เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่วน “นายฉัตรพล ศรีประทุม” ผู้อำนวยการ โครงการกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ในฐานะผู้แทนประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎระเบียบและมาตรการชัดเจนที่จะรองรับ CBAM ของอียู เปรียบเทียบกับในหลายประเทศเริ่มกำหนดให้มีความชัดเจนอย่างมาก เช่น ญี่ปุ่น

ดังนั้น รัฐบาลไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ รวมถึงผู้ประกอบการก็ต้องเตรียมการรับมือ แม้สินค้าส่งออกที่เข้ายุโรปจะน้อย แต่ต้องยอมรับว่ากลุ่มสินค้าที่ยุโรปประกาศใน CBAM เป็นสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน ภาคการขนส่ง

หากไทยมีการปรับเปลี่ยนเข้าสู่พลังงานสีเขียว พลังงานทดแทนมากขึ้น จะทำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เป็นไปตามที่รัฐบาลไทยได้ประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซ ในเวที COP26

“ในส่วนของ EA ให้ความสำคัญ และต้องการส่งเสริมการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต มีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย เพราะเรามีสัดส่วนคาร์บอนเครดิตจำนวนมาก”

อุตฯเหล็กมีทั้งได้และเสียประโยชน์

สุดท้าย “นายณัฐพล รัตนมาลี” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีกฎหมาย กฎระเบียบที่ยังไม่ชัดเจน

ขณะที่ยุโรปผู้กำหนดมาตรการ CBAM ก็ยังไม่ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการเรียกเก็บภาษี ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยมองได้ 2 ทาง ทั้งได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากมาตรการ CBAM ดังนั้นอาจจะต้องรอความชัดเจนอีกครั้งตลอดกระบวนการผลิตเหล็ก ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันในแต่ละขั้นตอน

เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ มีทั้งผลิตในประเทศปีละ 7 ล้านตัน แต่ก็ยังมีการนำเข้า 11 ล้านตัน ขณะที่การส่งออกมีเพียง 1.5 ล้านตันเท่านั้น