ส.อ.ท.เปิดเครื่องยนต์ตัวใหม่ อุตสาหกรรมไทยเตรียม TAKEOFF สู้เศรษฐกิจโลกหดตัว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

“เกรียงไกร” ประธาน ส.อ.ท. มอง “โลกเปลี่ยนไปเร็ว อุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัวให้ไว” หลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งออกส่อติดลบ เอกชนไทยเร่งปรับตัวเตรียม TAKEOFF ตัวเอง หันหน้าเปลี่ยนจาก OEM สู่ ODM ดึงลงทุนจาก S-curve เดินหน้านโยบาย BCG ปักธงใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแทนแรงงาน สู้คู่แข่งทั้งเวียดนาม-อินโดนีเซีย หวังรัฐบาลใหม่เร่งกีโยตินกฎหมายลดต้นทุนได้กว่าแสนล้านบาท

วันที่ 21 มิถุนายน 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานร่วมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนา Thailand TAKEOFF ในหัวข้อ ”อุตสาหกรรมไทยติดปีก โกอินเตอร์” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่า การส่งออกจะไม่ใช่เครื่องยนต์ที่สำคัญและสร้าง GDP ในปี 2566

เพราะกำลังซื้อจากตลาดสหรัฐและยุโรปลดลงและติดลบมาตลอดตั้งแต่ไตรมาส 4/2565 ดังนั้น กกร.จึงประเมินว่าปีนี้ส่งออกของไทยดีที่สุดจะอยู่ที่ 0% หรืออาจติดลบ 1% ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐอาจดีขึ้นเล็กน้อย แม้จะแก้ปัญหาเรื่องพลังงานได้ก็ตาม แต่การสร้างแรงงานใหม่กลับไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้ค่าแรงลดลง ส่วนยุโรปยังคงอ่วมจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ในขณะที่ไทยเองจะเห็นจากดัชนีความเชื่อมั่มภาคอุตสาหกรรม 25 กลุ่มอุตสาหกรรมออร์เดอร์ลดลง และจำเป็นที่ต้องผลิตสินค้าเพื่อเก็บสต๊อกไว้ก่อน เพื่อรอการส่งออก และรักษาการจ้างแรงงานไว้

เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว สิ่งที่ไทยต้องทำคือ อุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัวให้ไว เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็ว

“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เราเห็นการย้ายฐานการผลิต อย่างล่าสุดบริษัทอินเทล (Intel Corp) ผู้ผลิตชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์สัญชาติอเมริกัน มีแผนจะลงทุน 25,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในอิสราเอล นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเราจะเริ่มเห็นว่า เรื่องของสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต และไทยยังเจอคู่แข่งทั้งเวียดนามและอินโดนีเซีย โดยเฉพาะการดึงการลงทุนในกลุ่ม EV ด้วยอินโดนีเซียที่มีข้อได้เปรียบเรื่องของแร่นิกเกิล ทำให้ครองสัดส่วนตลาดไปถึง 24% ของโลก”

ส.อ.ท.

ดังนั้น การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในอนาคตต้องมาจาก 2 ส่วนคือ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการมีอุตสาหกรรมใหม่ (First industries) เช่น เปลี่ยนจาก OEM (รับจ้างผลิต) เป็น ODM (รับจ้างออกแบบและผลิตสินค้าให้กับบริษัทเพื่อนำไปขายในแบรนด์ตัวเอง) เปลี่ยนจากใช้แรงงานเป็นใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เปลี่ยนจากผลิตเพื่อกำไร เป็นการผลิตคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนจากแรงงานเป็นแรงงานขั้นสูง

นอกจากนี้ จะต้องสร้างเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Next-Gen industries) คือการมุ่งดึงการลงทุนจาก S-curve เดินหน้านโยบาย BCG และคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเอกชนเองเตรียมเสนอให้รัฐบาลตั้งทั้ง กรอ.พลังงาน และ กรอ.น้ำ เนื่องจากเอลนีโญ่กำลังส่งผลกระทบภาคการเกษตรของไทยอย่างหนักและนานกว่าที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคเอกชนยังคงทำหน้าที่ในการประเมินตัวเอง เพื่อรับมือและปรับเปลี่ยนตัวเองให้ได้ แต่อีกส่วนคือ รัฐบาลจะต้องเข้ามาเป็นส่วนช่วย และมีเครื่องมือเข้ามาช่วยทั้งการแก้ปัญหาและการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ

ล่าสุดจากการหารือกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หลังชนะการเลือกตั้ง และในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ของไทย ซึ่งการหารือดังกล่าวยังคงมุ่งไปที่ 5 เรื่องหลัก เช่น เรื่องของค่าแรง 450 บาท เพราะการแก้ปัญหาควรเกิดที่ต้นเหตุ คือต้องแก้ค่าครองชีพไม่ให้พุ่งขึ้น ซึ่งการใส่ยาแรงขนาดนั้นจะทำให้รายเล็กอย่าง SMEs พัง

เรื่องของการหามาตรการช่วย SMEs การกีโยตินกฎระเบียบล้าสมัย หรือปฎิรูปกฎหมายที่มีราว 1 แสนฉบับให้ลดลง ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้กว่าแสนล้านบาท ขณะเดียวกัน ขอให้รัฐบาลเดินหน้านโยบาย BCG ต่อ

“ในทุกเรื่องที่เราคุยโดยเฉพาะการปรับลดแก้กฎหมายแค่บางข้อ มันทำให้เราลดกระบวนการต้นทุนการขออนุญาตต่างๆ ลดลงอย่างมาก อย่างจะปิดร้านอาหารเราต้องผ่านถึง 14 หน่วยงาน กฎระเบียบพวกนี้มันล็อกทำให้เราขยับตัวไม่ได้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลเรื่องกีโยตินกฎหมายจะต้องทำก่อน นี่คือนิมิตใหม่ที่เราจะ TAKEOFF และร่วมกันทำด้วยกันและถ้าทำได้เราจะไม่ใช่แค่ค่อยทยาน TAKEOFF ขึ้นไป แต่เราจะโตแบบจรวด”