จับตา กกพ.กาง 3 ทางเลือก ค่าไฟงวด 3 จะลงต่ำกว่า 4.70 บ.หรือไม่

ค่าไฟ

จับตา กกพ.กาง 3 ทางเลือกค่าไฟงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 “ลดมากกว่า 20 สต.-ลดไม่เกิน 20 สต.-ตรึงราคาไว้ที่ 4.70 บ.” ให้ทุกภาคส่วนแสดงความเห็น ตั้งแต่ 7-21 ก.ค.นี้ กกร.ยืนกรานไม่ควรเกิน 4.25 บ./หน่วย

วันที่ 7 กรกฎาคม 2566 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า วันที่ 7 ก.ค.นี้ กกพ.จะเปิดเวทีชี้แจงผลการคำนวณค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่จะเรียกเก็บค่าไฟฟ้ากับประชาชนในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566

โดยเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ทางเลือก คือ 1.ลดค่าไฟปลายปีนี้งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ได้มากกว่า 20 สตางค์ต่อหน่วย แต่ยังไม่มีตัวเลขชัดเจน 2.ลดค่าไฟได้ไม่เกิน 20 สตางค์ต่อหน่วย และ 3.อาจตรึงค่าไฟอยู่ในระดับปัจจุบัน 4.70 บาทต่อหน่วย

ซึ่งทาง กกพ.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชน และผู้ประกอบการเหมือนที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่วันที่ 7-21 ก.ค.นี้

“ปัจจัยสำคัญในการพิจารณา คือ การผ่อนจ่ายหนี้คงค้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) 1.3 แสนล้านบาท จะยืดการจ่ายหนี้อีกหรือไม่ ท่ามกลางกระแสข่าวการพิจารณาอัตราค่าไฟล่าสุด ยังไม่เป็นที่พอใจของภาคเอกชนมากนัก เนื่องจากเอกชนมองว่า ค่าไฟงวดใหม่ควรลดได้มากกว่า 45 สตางค์ต่อหน่วย หรือค่าไฟไม่ควรเกิน 4.25 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 4.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งที่ผ่านมา กกพ. ระบุว่า อาจลดได้ประมาณ 20 สตางค์ต่อหน่วย”

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (แฟ้มภาพ)

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แสดงความกังวลต่อภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับสูงมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้าและชี้ว่าหากพิจารณาจากปัจจัยที่นำมาคำนวณค่าเอฟทีแล้ว พบว่ามีปัจจัยบวกให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้กว่า 10% จากงวดปัจจุบันเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ทำให้ค่าไฟงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ไม่ควรเกิน 4.25 บาทต่อหน่วย จากเดิม 4.70 บาทต่อหน่วย

เนื่องจากปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยโดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณทยอยเพิ่มจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ในเดือน ก.ค. และเพิ่มเป็น 600 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวันในเดือน ธ.ค.นี้

นอกจากนี้ ปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ลดลง ราคาแอลเอ็นจีสปอทลดลงมากกว่า 30% ทำให้ต้นทุนราคาแอลเอ็นจีจริงต่ำกว่าที่เรียกเก็บ แม้ค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ในระดับ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ประกอบกับทิศทางราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญภาระหนี้ของ กฟผ. ทั้งงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ลดลงเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม กกร.ได้เสนอภาครัฐให้พิจารณาขยายเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. จาก 5 งวด เป็น 6 งวด เพื่อให้ค่าเอฟทีลดลงอีก 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่ง กฟผ. จะได้รับเงินคืนครบภายในเดือน ส.ค. 2568 ขอให้มีการบูรณาการจัดหาเชื้อเพลิงแอลเอ็นจี มอบหมายผู้นำเข้าหลักเพียงรายเดียว ในการจัดหาเพื่อเป็นการสกัดดีมานด์เทียมจากชิปเปอร์หลายรายที่เข้าจัดหาในตลาด สำหรับนำมาผลิตไฟฟ้าในงวดใหม่ให้ได้ราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาด และไม่ให้ประเทศเสียเปรียบ โดยการจัดหาในราคาเฉลี่ยแอลเอ็นจี ช่วง 14-16 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่ง กกร. มีความกังวลว่า หากเข้าสู่ฤดูหนาวจะทำให้ราคาแอลเอ็นจีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานในโลก โดย กกร.จะมีหนังสือ ถึงนายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไปเร็ว ๆ นี้