มาตรฐาน EV สมอ. 148 ฉบับ

รถอีวี

แน่นอนว่าการพัฒนาสินค้าเกี่ยวกับอีวีจะเกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยจากสถิติการจดทะเบียนของรถพลังงานไฟฟ้าทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค. 2566 ระยะเวลา 5 เดือน มีรถที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ทั้งสิ้น 32,450 คัน โดยในปี 2566 มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาจดทะเบียนที่ ขบ. เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกันถึง 474.43% แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

โดยหากแยกเฉพาะในเดือนพฤษภาคม พบว่า ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทมีการจดทะเบียนสูงสุดถึง 7,123 คัน แบ่งเป็น ประเภท รย.2 รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน จำนวน 5,557 คัน, รย.3 รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจำนวน 5 คัน, รย.4 รถยนต์สามล้อส่วนบุคคลจำนวน 3 คัน, รย.6 รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน จำนวน 18 คัน,

รย.8 รถยนต์รับจ้างสามล้อ จำนวน 11 คัน, รย.10 รถยนต์บริการทัศนาจร จำนวน 1 คัน, รย.12 รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล จำนวน 1,368 คัน, รย.17 รถจักรยานยนต์สาธารณะ จำนวน 8 คัน และรวมรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก จำนวน 161 คัน, รถบรรทุก จำนวน 28 คัน

ขณะที่สถานการณ์การลงทุนอีวีในประเทศไทย ตามข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ขณะนี้มีบริษัทอีวีที่มาลงทุนในไทย 7 แบรนด์ ประกอบด้วย BYD, GWM, MG, Horizon plus, Changan, DFSX และ GAC GROUP รวมมูลค่ากว่า 95,000 ล้านบาท รวมกำลังการผลิตเกือบ 500,000 คัน

สำหรับการเตรียมพร้อมภายในประเทศนั้น นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างต่อเนื่อง

โดยคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ. หรือบอร์ด สมอ.) ได้ประกาศมาตรฐาน มอก. ที่เกี่ยวกับ EV เช่น มาตรฐานแบตเตอรี่ไฟฟ้า ทั้งมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ มาตรฐานสถานีชาร์จ รวมทั้งสิ้น 148 เรื่อง ล่าสุดประกาศแล้ว 130 มาตรฐาน ในส่วนนี้เห็นชอบให้เป็นมาตรฐานบังคับ 4 มาตรฐาน

ได้แก่ 1.แบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า (มอก.3026-2563) 2.แบตเตอรี่สำหรับจักรยานไฟฟ้า (มอก.2952-2561) 3.การป้องกันผู้โดยสารจากการชนด้านหน้า (2400-2563) 4.การป้องกันผู้โดยสารจากการชนด้านข้าง (มอก.2399-2563) ซึ่งครอบคลุมครบถ้วนทั้งด้านความปลอดภัยและผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ ผ่านบอร์ดและรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนาม 13 เรื่อง อยู่ระหว่างจัดทำอีก 5 เรื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีผู้ยื่นคำขอตามมาตรฐานที่จัดทำไว้ แต่ สมอ.ต้องจัดทำมาตรฐานไว้รองรับ กำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

สำหรับมาตรฐานทั้ง 148 เรื่องนั้น ประกอบด้วย เต้าเสียบและเต้ารับสําหรับยานยนต์ไฟฟ้า, ระบบประจุไฟฟ้าสําหรับยานยนต์ไฟฟ้า, ความปลอดภัยของยานยนต์ไฟฟ้า, สมรรถนะของยานยนต์ไฟฟ้า, มอเตอร์สําหรับยานยนต์ไฟฟ้า, เซลล์และแบตเตอรี่สําหรับยานยนต์ไฟฟ้า, สายไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่น ๆ สําหรับยานยนต์ไฟฟ้า, ระบบสื่อสารสําหรับยานยนต์ไฟฟ้า, ระบบอัจฉริยะสําหรับยานยนต์ไฟฟ้า และคําศัพท์สําหรับยานยนต์ไฟฟ้า