IRPC ส่งปุ๋ยหมีขาว เจาะตลาดสวนทุเรียน

ปุ๋ยหมีขาว

IRPC ส่งบริษัทลูก “รักษ์ป่าสัก” ลอนช์ปุ๋ยธาตุอาหารเสริมแบรนด์ REINFOXX หรือ ปุ๋ยหมีขาว ต่อยอดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ซิงก์นาโน เจาะตลาดลูกค้าชาวสวนทุเรียน-ข้าว ชี้ลงทุนน้อยให้ผลตอบแทนสูง คาดปีแรกจำหน่ายได้ 1 หมื่นลิตร พร้อมวางแผนลุยตลาด CLMV

ดร.อรพรรณ แสงสว่าง ผู้จัดการอาวุโสบริหารนวัตกรรมแบบเปิดและทรัพย์สินทางปัญญา ศูนย์นวัตกรรมไออาร์พีซี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทไออาร์พีซีได้มีการพัฒนาต่อยอดผลิตปุ๋ย ธาตุอาหารเสริมจากนาโนซิงก์ แบรนด์ REINFOXX หรือปุ๋ยหมีขาว โดยบริษัท รักษ์ป่าสัก จำกัด

ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวในเดือนกรกฎาคมนี้ วางจำหน่ายในประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ ราคาจำหน่าย ขวดบรรจุ 1 ลิตร ราคา 850 บาท

“สินค้านี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา เป็นสินค้าที่ได้เริ่มพัฒนามา 5-6 ปีแล้ว และใช้เวลาขึ้นทะเบียนประมาณ 2 ปี โดยเกิดจากจุดเริ่มต้นที่เรามีโรงงานสำหรับผลิตซิงก์ออกไซด์นาโน ซึ่งต้องนำเข้าวัตถุดิบซิงก์ออกไซด์ ซัพไมครอน เพื่อจะไปทำเป็นแอดดิทีฟในพวกพลาสติกจะช่วยให้มีคุณสมบัติป้องกันการเกิดเชื้อราแล้วจึงขึ้นรูป

แต่ด้วยความที่ใช้สารนี้ปริมาณน้อยมากในการนำไปทำส่วนผสมนั้น ทำให้มีวัตถุดิบเหลือ จึงหานวัตกรรมต่อยอดว่าทำอะไรได้บ้าง อันหนึ่งคือการทำเป็นธาตุอาหารเสริมจึงต่อยอดมาเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยหมีขาวนี้”

ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับไลน์การผลิตโรงงานจากโรงงานซิงก์ออกไซด์นาโนให้กลายเป็น โรงงานทำปุ๋ย ซึ่งตามที่ได้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยมามีทั้งหมด 5 สูตร (เป็นสูตรใหม่ 4 สูตร และสูตรที่จำหน่ายอยู่แล้ว 1 สูตร) ซึ่งแต่ละสูตรต้องขึ้นทะเบียนสูตรเฉพาะอีก 5 ใบ แต่บริษัทไม่ได้จดคุ้มครองสิทธิบัตร แต่ใช้วิธีจดเรื่องความลับทางการค้า

ดร.อรพรรณกล่าวว่า ปัจจุบันโรงงานมีกำลังการผลิตปุ๋ยผลิตได้ 75,000 ลิตรต่อปี เป้าหมายปีแรกต้องการจะให้ได้ยอดขายเกิน 10,000 ลิตร โดยหากการทำตลาดในประเทศประสบความสำเร็จ บริษัทมีเป้าหมายต้องการจะขยายไปตลาดอาเซียน CLMV ทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรมากใกล้เคียงกับไทย รวมแล้วหลายร้อยล้านไร่

ดร.อรพรรณ แสงสว่าง
ดร.อรพรรณ แสงสว่าง

“ผลิตภัณฑ์นี้มีการออกแบบพัฒนาให้ตอบตรงความต้องการลูกค้าชาวสวน ซึ่งโดยปกติพืชเวลาสังเคราะห์แสงจะดึงน้ำ ดึงออกซิเจนมาสังเคราะห์แสง เราลงลึกไปว่าในกระบวนการนั้นจะใช้เอนไซม์อะไร ประกอบกับอะไร เช่น พืช ต้องการแมงกานีสที่จะแยกน้ำที่จะดูดเข้าไปผลิตออกซิเจน ต่อไปพอพืชต้องการสร้างน้ำตาล มันต้องการใช้เหล็กในการสร้างน้ำตาล ก็ต้องใส่เหล็กเข้าไปเพื่อสร้างน้ำตาล”

เป้าหมายคือสินค้าทุเรียน เวลาจะออกผล จะสะสมอาหารไว้ที่ลำต้นและกิ่ง อาหารที่ทุเรียนสะสมคือน้ำตาล ซึ่งทางเราจึงวางเป้าหมายจะเจาะกลุ่มตลาดชาวสวนผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนก่อน โดยจะแนะนำให้เกษตรกรฉีดก่อนที่ทุเรียนจะออกดอก ก็จะเกิดการสังเคราะห์แสง และสร้างน้ำตาลสะสมไว้ ถ้าอาหารไม่เพียงพอ ทุเรียนจะไม่ออกดอก

สำหรับทุเรียนนี้กำหนดให้ใช้ส่วนผสม 1-2 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร ฉะนั้นปุ๋ย 1 ขวด ใช้ได้ 10 ไร่ ขึ้นอยู่กับเกษตรกรจะฉีดพ่นอย่างไร บางทีอาจจะได้ถึง 20 ไร่ เท่ากับลงทุนไม่ได้สูงมาก แต่ให้ผลผลิตสูงขึ้น

หรืออย่างการปลูกข้าว ในพื้นที่ 10 ไร่ จะใช้ปุ๋ยนี้ปริมาณ 1 ลิตร ได้รับการพิสูจน์แล้วจะช่วยทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 30% หรือ 3 ตันต่อไร่ ซึ่งหากคิดคำนวณเป็นราคา 1 ตัน ราคาตันละ 10,000 บาท เท่ากับเกษตรกรจะได้เงินเพิ่มมา 30,000 บาท จากการลงทุนเพียงแค่ปุ๋ย แค่เพียงไม่เกิน 3,000-5,000 บาท หรือคิดเป็น 10 เท่า

“ปุ๋ยนี้สามารถใช้ได้ในกลุ่มผัก และผลไม้ทุกชนิด แต่ที่เรามุ่งเจาะตลาดทุเรียนก่อน เพราะเกษตรกรมีศักยภาพ ทุเรียนเป็นที่ต้องการของตลาดมีราคาสูง ดังนั้นจำเป็นต้องดูแลทุเรียนในระยะต่าง ๆ ของการเพาะปลูก”