รื้อ พ.ร.บ.การนิคมฯ เอกชน ชงยกเครื่องรับลงทุนใหม่

พ.ร.บ.การนิคมฯ

พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ปี 2522 ใช้มากว่า 40 ปี มีการปรับปรุงแก้ไขมา 4 ครั้ง ฉบับล่าสุดคือปี 2562 ในบางมาตรากลับมีข้อบกพร่องหลายเรื่อง ทั้งซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นอย่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เรื่องการให้สิทธิประโยชน์ หรือแม้กระทั่งการลักลั่นในการเก็บค่าธรรมเนียม

การกําหนดโทษอาญารวมถึงการให้สิทธิผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม ในการเข้ามามีอำนาจอนุมัติอนุญาตในกฎหมายถึง 4 ฉบับ สามารถดำเนินการตัดสินใจทุกอย่างเกือบทั้งหมด 100% จากเดิมที่ต้องอาศัยอำนาจของท้องถิ่นในการบริหารงานในพื้นที่เพราะคือหน่วยงานที่เข้าใจและรู้ถึงปัญหา ปัจจัย สภาพแวดล้อมดีที่สุด จึงควรมีอำนาจในการเข้ามาดำเนินการให้ได้ทันที แต่ปัจจุบันท้องถิ่นกลับมีหน้าที่เพียงรับแจ้งปัญหาเท่านั้น

กฎหมายต้องสมบูรณ์

รองศาสตรจารย์ ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ทั้งฉบับเก่าและฉบับใหม่ที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งสิทธิประโยชน์การลงทุน เพื่อรองรับการดำเนินงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตามที่ต้องทบทวนทุก ๆ 5 ปี ซึ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นและรับฟังปัญหา 5 ครั้ง เริ่มที่ จ.ระยอง พระนครศรีอยุธยา ลำพูน สงขลา และจบที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 23 ส.ค. 2566

ทั้งหมดก็เพื่อนำไปปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ ให้มีประสิทธิภาพสมบูรณ์มากขึ้น ติดขัดหรือขัดกับหน่วยงานใดบ้าง ทั้งยังเพื่อให้เป็นแนวทางในการเปิดโอกาสให้ กนอ.สามารถตั้งบริษัทลูกเพื่อออกไปลงทุนต่างประเทศ ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการมาโดยตลอด

ตั้งบริษัทลูกทุนนอก

สำหรับประเด็นที่ควรมีการทบทวน คือ การกำหนดองค์กรหน่วยงานและอำนาจหน้าที่ เช่น การให้มีคณะกรรมการ (บอร์ด) คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ กนอ. และการใช้อํานาจของผู้ว่าการ กนอ. ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความเหมาะสมหรือไม่, การกําหนดขอบเขตวัตถุประสงค์และอํานาจกระทําการของ กนอ.

เช่น การปรับปรุงที่ดิน การให้เช่า ขายอสังหาริมทรัพย์ในนิคมอุตสาหกรรม การดําเนินกิจการท่าเรือ การจัดตั้งบริษัทมหาชนจํากัดเพื่อประกอบธุรกิจอื่น การถือหุ้นในนิติบุคคลนั้น สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือไม่ และมีกิจการใดที่ควรกําหนดขึ้นใหม่หรือควรยกเลิก

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซึ่งปัจจุบันมี 2 ประเภท คือเขตอุตสาหกรรมทั่วไป และเขตประกอบการเสรี รูปแบบการนําที่ดินมาจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมเหมาะสมหรือไม่ และ กนอ.ควรมีอํานาจจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในต่างประเทศได้หรือไม่

จี้ตรวจสอบซื้อที่เก็งกำไร

ขณะเดียวกัน การประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมนั้น จะผ่านระบบอนุญาตบริการ one stop service โดยให้อำนาจผู้ว่าการ อนุญาต/เห็นชอบ/รับจดทะเบียน/รับแจ้ง ตามกฎหมายถึง 4 ฉบับ คือกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ซึ่งการให้อำนาจดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีความลักลั่นในการเก็บค่าธรรมเนียม บริการ แทนหน่วยงานของรัฐที่มีอํานาจเรียกเก็บอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในเรื่องของสิทธิประโยชน์ ปัจจุบันให้สิทธิถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในนิคม สิทธินําคนต่างด้าว ช่างฝีมือ ผู้ชํานาญการเข้ามาในราชอาณาจักร สิทธิยกเว้นภาษีอากร ทั้งหมดนี้มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นหรือไม่ อย่างกฎหมายบีโอไอกฎหมาย EEC และสิทธิเหล่านี้สามารถจูงใจให้มีการลงทุน และประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมได้หรือไม่

สอดคล้องกับพันธกรณีและความตกลงระหว่างประเทศหรือไม่ และหากเอกชนซื้อที่ดินในเขตพื้นที่ที่ได้รับการจัดตั้งให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม แต่ยังไม่ลงทุนสร้างโรงงาน เป็นการซื้อเพื่อหวังเก็งกําไรโดยมิได้มุ่งหวังที่จะประกอบการเช่นนี้ทําได้หรือไม่ จะมีวิธีการตรวจสอบเจตนานี้อย่างไร

นอกจากนี้ ควรมีการลดอํานาจจับของเจ้าพนักงานหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายให้อํานาจจับในกรณี “พบผู้ใดกําลังกระทําความผิด หรือพยายามกระทําความผิด หรือใช้ หรือช่วย หรือยุยง ให้ผู้อื่นกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรในนิคมอุตสาหกรรม” ส่วนบทกําหนดโทษ อัตราปรับที่มีการใช้บังคับมาเป็นเวลานานควรมีการพิจารณา

คืนอำนาจให้ท้องถิ่น

ตัวแทนจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ตั้งคำถามว่าปัจจุบันการมีนิคมอุตสาหกรรมและกฎหมายที่มีอยู่นั้น มีกฎระเบียบที่ยุติธรรม เท่าเทียม หรือไม่ โดยเฉพาะค่าเช่า ค่าบริการ สามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุน จากนอกนิคม ให้เข้ามาอยู่ในนิคมได้หรือไม่ และสามารถสู้กับเวียดนามได้หรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้ว กนอ. ก็ต้องหารายได้และต้องมีกำไรคล้ายบริษัททั่วไป

ในส่วนของนักลงทุนบางรายยังคงมุ่งเป้าไปที่เรื่องของการซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ที่มองว่าในเมื่อมีความคล้ายกันมาก สามารถนำกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมาเชื่อมโยงหรือรวมกันได้หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนจากปลัด อบต.นิคมพัฒนา ในมุมมองของท้องถิ่นที่พบว่า นิคมอุตสาหกรรมบางแห่งที่มีการขยายพื้นที่ใหม่และได้สร้างความเดือดร้อนกับชุมชนโดยรอบ แต่ท้องถิ่นกลับไม่มีอำนาจในการเข้าไปจัดการได้เพียงการส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบ

และขณะนี้ยังคงรอการแก้ไขจาก กนอ. ซึ่งอำนาจเหล่านี้ควรกลับมาให้ท้องถิ่น เพื่อเข้าไปช่วยเหลือประชาชนทำงานได้เต็มที่มากกว่าที่จะรอเพียง กนอ.เท่านั้น

ทางด้าน GPSC ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า เห็นว่าควรให้มีการยกเลิกโทษอาญาในบางมาตรา และเพิ่มโทษทางวินัยและทางแพ่งแทน รวมทั้งให้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ 30 วันเท่ากับกฎหมาย EEC ในขณะที่บริษัท Global Technical ที่ได้เสนอให้ กนอ.นั้นหารือร่วมกับ EEC ให้ผู้ประกอบการไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนกันและได้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม

ยกเครื่องรับลงทุน แบตลิเทียม

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้ถอดตัวกฎหมายการสาธารณสุข กฎหมายอาคาร กฎหมายขุดถมที่ดินออกจากกฎหมายการนิคมฯ และให้ศูนย์ OSS มีหน้าที่รับเรื่อง จากนั้นส่งให้ท้องถิ่นพิจารณาหรือพิจารณาร่วมกัน ก่อนออกใบอนุญาตประกอบกิจการ

ขณะเดียวกันยังเสนอให้ กนอ.พัฒนากฎหมายที่สอดคล้องกับธุรกิจใหม่ ๆ เช่น แบตเตอรี่ลิเทียม นวัตกรรม ที่ไม่ใช่ลักษณะเป็นโรงงานขนาดใหญ่

ในขณะที่ตัวกฎหมายฉบับรองที่มีถึง 34 ฉบับนั้น เอกชนยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาอีกว่า มีการกำหนดให้อุตสาหกรรมบริการแยกออกจากนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป ตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกิจการบริการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท อย่างศูนย์วิจัยเรื่องแบตเตอรี่ + service

จำเป็นต้องตั้งใกล้กับโรงงานในพื้นที่เดียวกัน ไม่สามารถแยกจากกันได้เพราะมันคือธุรกิจเดียวกันที่ต้องพึ่งพากัน ดังนั้นกฎหมายต้องยืดหยุ่นมากกว่านี้

นี่คือเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนที่ลงทุนในพื้นที่ ถึงอุปสรรค และปัญหาที่เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภายในวันที่ 11 พ.ย. 2566 จะต้องวิเคราะห์และรวบรวมข้อคิดเห็น เสนอกลับไปยัง กนอ.เพื่อสรุปผล อาจใช้ระยะเวลาประมาณ 6-7 เดือน ซึ่งผลที่ออกมานั้นอาจจะคงเดิม แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายก็เป็นได้