ตั้งรับ Decoupling พิษเทรดวอร์สหรัฐโรงงานมูฟหนีจีน

อุตฯจีน

จากสงครามการค้าสู่สงครามเทคโนโลยี สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งโลก เพราะการแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างบิ๊กอุตสาหกรรมโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อสหรัฐผ่านกฎหมาย Chip and Science Act เพื่อจูงใจให้เกิดการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ แรงกระเพื่อมไปทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่มีการผลิตชิปให้พากันออกมาตรการดึงดูดการลงทุนในประเทศ

ฝ่ายจีนไม่ยอมแพ้จึงแก้เกมด้วยการประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกแร่แกลเลียมและเจอร์เมเนียม ซึ่งเป็นแร่ที่สำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 สิงหาคม 2566 นี้

ไทยในฐานะประเทศคู่ค้าทั้งสหรัฐและจีน จึงต้องเตรียมพร้อมกับ การแยกห่วงโซ่อุตสาหกรรมจากจีน หรือ decoupling ในเวทีเสวนา “การเตรียมรับมือกับการแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน” ที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดขึ้น

เตรียมพร้อมก่อนได้เปรียบ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า decoupling ระหว่างสหรัฐและจีนส่งผลให้ไทยได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การลงทุนจากจีนในกลุ่มยานยนต์ในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์และยางรถยนต์ แต่อย่างไรก็ตาม มูลค่าการลงทุนในไทยก็ยังน้อยกว่าประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ดังนั้น ไทยจึงต้องเตรียมเพิ่มศักยภาพทางด้านการผลิต โดยเฉพาะด้านแรงงาน เพื่อตักตวงผลประโยชน์จาก decoupling ที่เกิดขึ้นอย่างมีระบบ โดยมีแผนระยะสั้นและระยะยาวที่สอดรับกัน ตลอดจนเดินหน้ากระจายตลาดส่งออก เพื่อลดความเสี่ยงจากโครงสร้างตลาดส่งออกของไทยที่กระจุกตัว รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศสมัยใหม่ ที่ต้องลดความสลับซับซ้อนของกฎระเบียบ ยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ไม่ใช่เพียงการให้สิทธิประโยชน์การลงทุน แต่ต้องดึงดูดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาทำงานในประเทศด้วย

“หัวใจสำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจนในการขับเคลื่อน มีอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางของการออกแบบนโยบาย ที่ตั้งอยู่บนความสมเหตุสมผล สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ ว่าเราทำอะไรได้ เราต้องระวังอะไร และเราพร้อมอะไร และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาในระยะยาว”

เสริมแกร่งห่วงโซ่อุปทาน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้สำหรับประเทศไทยคือ การสร้างศักยภาพและเสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) อย่างชาญฉลาดและมีการบูรณาการอย่างครบวงจร

“จีนที่มีห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้กลายเป็นโรงงานโลก ทั้งยังสามารถเป็นผู้นำด้านราคาต้นทุน (cost leadership) ดังนั้น ไทยต้องหาทางอื่นที่ไม่ใช่การแข่งขันเรื่องต้นทุนราคา แต่ต้องเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ส่วนสหรัฐเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงเรื่องแบรนด์ จะเห็นว่าสหรัฐครอบครองสินค้าที่มีมูลค่าด้านการออกแบบ รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นตลาดขนาดใหญ่ ดังนั้น หากประสานกับจีนซึ่งเป็นโรงงานโลก และสหรัฐซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคได้ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ”

สิ่งแรกตอนนี้จีนเริ่มมองหาตลาดใหม่อย่างเอเชียกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่รอการลงทุน เช่นเดียวกับที่เคยปักหมุดหมายไปที่แอฟริกาและตะวันออกกลางมาแล้ว โดยจีนมีโครงการความร่วมมือสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ทำให้สามารถเชื่อมต่อไปยังยุโรปและเอเชียกลางได้

สิ่งที่สองคือ ไทยไม่ควรมองข้ามการเปลี่ยนขั้วการจับเศรษฐกิจทางการค้า โดยเฉพาะ BRICS ประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้

สุดท้ายคือ ไทยเป็นจุดหมายสำคัญของนักลงทุนจีนที่กำลังย้ายฐาน เพราะไทยมีโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งตอบโจทย์ เชื่อมทางรถไฟไทย-ลาว-จีน ทั้งยังพยายามสร้างระบบการขนส่งหลายรูปแบบ ทั้งรถ ราง เรือ อย่างโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็เป็นที่น่าจับตามองของนักลงทุนจีน

ถึงเวลาเปลี่ยน Positioning

“ไทยต้องปรับ positioning รักษาสมดุลระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงต้องอัพสกิลและรีสกิลแรงงาน เพื่อตอบโจทย์กับการย้ายฐานการผลิตของจีนและคุณภาพสอดคล้องกับค่าแรง พร้อมแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน”

นอกจากนี้ เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ไทยต้องเพิ่มความหลากหลายและกลายเป็นศูนย์กลางของการขนส่ง (logistic hub) และต้องมองโอกาสการลงทุนในตลาดใหม่ เช่น ละตินอเมริกา เม็กซิโก ซึ่งอยู่ใกล้กับสหรัฐ ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่

“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ไทยต้องพัฒนาศักยภาพของคน ด้วยการพัฒนาการศึกษาตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างในปัจจุบันที่มุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพราะการศึกษาและการสร้างบุคลากรต้องทำคู่ขนานไปพร้อมกับเศรษฐกิจ”

8 แนวทางยกระดับ

นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอ 8 แนวทางยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน ดังนี้ 1) ยกระดับห่วงโซ่มูลค่าภาคอุตสาหกรรมสู่การใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมอีวี พลังงานหมุนเวียน หรือเรื่อง automation และหุ่นยนต์ เป็นต้น

“อุตสาหกรรมไทยเป็น IC packing ที่เรานำเข้าชิ้นส่วนแล้วจึงนำมาประกอบ ทำให้ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไทยได้เพียงแต่ค่าแรงเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมกังวลและต้องการให้ไทยเริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำอย่าง IC market ที่มีทั้งเรื่อง IC design และ IC manufacturing”

2) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนา หรือการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และ 3) ส่งเสริมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเกษตรตาม BCG model

วิวรรธน์ เหมมณฑารพ
วิวรรธน์ เหมมณฑารพ

“เราต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรที่มีสัดส่วนในจีดีพีถึง 10% มาช่วยเสริมความเข้มแข็งให้ภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ BCG model เช่น ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้ smart farming ผนวกกับ smart industry จนเกิดเป็น smart agricultural industry”

4) ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน สร้างและดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ และพัฒนาระบบการศึกษาตอบโจทย์ความต้องการและทิศทางอุตสาหกรรมในอนาคต 5) การปฏิรูปกฎหมาย ปรับปรุงขั้นตอนการอนุมัติ อนุญาตของราชการด้วยระบบดิจิทัล ซึ่งสามารถเพิ่ม 1% จีดีพี หรือ 1 แสนล้านบาทต่อปี เพียงปรับปรุงกฎหมายให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ รวมถึงยกเลิกกฎหมายที่ไม่ใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน

6) เร่งการเจรจาความตกลงเปิดเสรีทางการค้า (FTA) และใช้ประโยชน์จาก FTA ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมี FTA กับ 19 ประเทศเท่านั้น ขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนามมีมากถึง 55 ประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างทีมไทยแลนด์ กระตุ้นเครื่องยนต์การส่งออกของไทยให้กลับมาอีกครั้ง

7) การพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน ส่งเสริม และสนับสนุน SMEs และ startup ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และสุดท้ายคือ 8) ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ปรับกระบวนการผลิตสู่คาร์บอนต่ำ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ไทยต้องลงมือทำจริง

นายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีนกล่าวว่า การเจาะตลาดจีนต้องเริ่มจากทำความเข้าใจจีนในเชิงลึกก่อน ต่อมาคือการเข้าไปทำจริงและต่อเนื่อง อย่างที่เป็นในปัจจุบันนี้เป็นผลจากการลงทุนสร้างความสัมพันธ์กับจีนในอดีต

“ไทยก็ต้องมีกรอบการลงทุนและภาพความร่วมมือกับจีนระยะยาวให้ชัดเจน เพื่อได้รับผลประโยชน์จากแนวคิดของจีนที่ว่า คฤหาสน์เศรษฐีไม่สง่างาม ถ้ารายล้อมไปด้วยสลัม หมายความว่าจีนไม่ปล่อยให้ประเทศเพื่อนบ้านย่ำแย่ เพราะสุดท้ายปัญหาจะกลับมาที่จีน”

อีกเรื่องสำคัญที่ไทยต้องแก้ไขนั่นคือ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา จากเดิมที่คุ้มครองเฉพาะในประเทศ ให้เปลี่ยนมาเป็นการส่งเสริมระหว่างประเทศแทน โดยต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

นายไพจิตรกล่าวว่า ในอาเซียนต้องร่วมมือกัน เพื่อไม่ให้ความอ่อนแอของอาเซียนเป็นจุดอ่อนของความร่วมมือในบางด้าน อย่างการทำ EEC ก็อยากเห็นความร่วมมือเป็น multiple cluster ระหว่างประเทศในอาเซียน ตลอดจนการสร้าง twin cluster ไทย-จีนให้เกิดขึ้นอย่างมีทิศทางและเป็นรูปธรรม หากไทยสามารถเชื่อมโยงความร่วมมือได้จะสร้างโอกาสที่ดีในอนาคต