มองผลกระทบไทย เมื่อจีนเบรกส่งออกแร่หายาก ตลาดโลกป่วน รับมือชิปขาดอีกระลอก

ชิปขั้นสูง จีน

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ประเมินภาพรวมตลาดชิปยังไม่กระทบมาก แต่สะเทือนทางอ้อม หลังจีนประกาศจำกัดการส่งออกแร่หายาก เตือนให้รับมือวิกฤตขาดแคลนชิประลอก 2 เหมือนกับที่เคยเกิดกับเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะกลุ่มเอไอขั้นสูง พร้อมจับตาการลงทุนครั้งใหม่ของอุตสาหกรรมชิปต้นน้ำ เผยมีนักลงทุนกำลังยื่นขอ BOI ผลิตชิปในอุตสาหกรรมต้นน้ำให้กับรถไฟฟ้า EV จะเป็นตัวผลักดันให้ตลาดชิปในประเทศโตไม่หยุด

การขาดแคลนชิปขั้นสูงกำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของภาคการผลิต หลังจากที่จีนประกาศ “จำกัด” การส่งออกแร่หายากที่สำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ แกลเลียม (Ga) กับเจอร์เมเนียม (Ge) เพื่อ “ตอบโต้” สหรัฐในฐานะที่เป็นประเทศผู้ผลิตชิปสินค้าเทคโนโลยีอันดับ 1 ของโลก โดยแร่หายากทั้ง 2 ชนิดจะใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมต้นน้ำการผลิตชิป โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป

นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ขาดแคลนชิปอาจกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่จีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบแร่รายใหญ่ของโลกได้ทำการควบคุมและจำกัดการส่งออกแร่ที่ใช้ผลิตชิปเอไอขั้นสูง หรืออุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI)

แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะยังไม่ใช่ผู้ผลิต “ชิปเอไอ” ดังนั้น ผลกระทบทางตรงจึงยังไม่เกิด “แต่แน่นอนว่าผลกระทบทางอ้อมย่อมเกิดขึ้นตามมา” เมื่อผู้ผลิตรายใหญ่ไม่สามารถผลิตชิปได้ตามที่ตลาดต้องการ จะทำให้เกิดการขาดแคลนชิปขึ้นอีกระลอก คล้ายกับช่วงที่ขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์เมื่อปีก่อน และกว่าจะใช้เวลาให้ตลาดชิปนี้กลับคืนมาใช้เวลานานพอสมควร นอกจากนี้ยังจะส่งผลให้ราคาชิปพุ่งขึ้น ปริมาณก็ไม่เพียงพอ ซึ่งจะกระทบมายังผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วยเช่นกัน

“แม้จะบอกว่าผลกระทบมีน้อยมากกับไทย แต่ทางอ้อมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อของหายากราคาก็ขึ้น เพราะเขาจะควบคุมและจำกัดปริมาณระหว่างนี้เรากำลังหารือกับผู้ผลิตชิปรายใหญ่ 2-3 ราย ว่า สถานการณ์แบบนี้เราจะรับมืออย่างไร”

ด้านสถานการณ์อุตสาหกรรมชิปในไทยขณะนี้พบว่า มีนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศ เข้ามาร่วมทุนกับนักลงทุนไทย เพื่อขยายการลงทุนเพิ่มในส่วนของอุตสาหกรรมต้นน้ำ โดยอยู่ระหว่างการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีมูลค่าการลงทุนกว่าหมื่นล้านบาทเพื่อผลิตชิปให้อุตสาหกรรมรถ EV โดยยอมรับว่า ขณะนี้ EV มีการลงทุนในไทยสูงมาก ซึ่งจะเข้ามาเป็นตัวผลักดันให้ตลาดชิปโตไม่หยุด

ทั้งนี้การลงทุนดังกล่าวยังเป็นส่วนทำให้ไทยกำลังจะได้อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำเพิ่มเข้ามา เมื่อครบจนถึงปลายน้ำแน่นอนว่า ไทยจะกลายเป็นแหล่งลงทุนและแหล่งผลิตตลาดชิปที่ใหญ่และครบมาก จากปัจจุบันที่ไทยเป็นผู้ผลิตชิปที่อยู่ในส่วนของปลายน้ำมากกว่าต้นน้ำ ดังนั้นการที่จีนจำกัดการส่งออกแร่หายากจึงไม่กระทบกับไทย

อย่างไรก็ตาม สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการประเมินภาพรวมของ “กลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตฮาร์ดดิส” ซึ่งเคยเป็นสินค้าสำคัญในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตอาร์ดดิสพยายามปรับตัวอย่างมากเพราะ “กำลังถูกดิสรัปต์” แต่กลับพบว่า ยังคงมีการลงทุนและพัฒนาพวกสินค้าเหล่านี้ให้ดีขึ้น เพราะฮาร์ดดิสเหล่านี้ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ ถูกพัฒนาใช้ในคลาวด์ ทำให้ตลาดนี้ยังโตได้อยู่แม้จะโตไม่สูงมาก แต่ตราบใดที่ยังมีการใช้คอมพิวเตอร์อยู่ “สินค้ากลุ่มนี้ก็จะยังไม่ตายหรือปิดตัวลง”

ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ถือว่า ทรงตัวและรอการลงทุนใหม่ ๆ อย่างสินค้าที่เป็น PCD ที่ย้ายจากไต้หวันมาไทย ทำให้อุตสาหกรรมนี้โต 2 เท่า ดันพวกกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า-แอร์ ทั้งยังเห็นปรากฏการณ์ย้ายฐานการผลิตมาจากจีนอย่างพวกสินค้าเวเฟอร์

ดังนั้นจึงเห็นกลุ่มชิปมีแผนลงทุนในไทยมากขึ้น “เราจะมีอุตสาหกรรมพวกนี้ เวเฟอร์ ดีไซน์ ผลิต เกิดขึ้นและโตระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่า สู้เวียดนามไม่ได้ เพราะที่นั่นมีการลงทุนของกลุ่มโทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้ผลิตชิปมุ่งตรงไปที่เวียดนามแทน ภาพรวมอุตฯชิปมีแนวโน้มโต 2 เท่า จากการย้ายฐานลงทุนของชิป PCD ไต้หวันมาไทย อุตฯแอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า มาไทย ทำให้เกิดซัพพลายเชนไทยจนครบวงจร”

ด้าน นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมไทยเป็น IC packing ที่เรานำเข้าชิ้นส่วนแล้วจึงนำมาประกอบ ทำให้ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ไทยได้เพียงแค่ค่าแรงเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมกังวลและต้องการให้ไทยเริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำอย่าง IC Market ที่มีทั้งเรื่อง IC Design และ IC Manufacturing

สำหรับยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน มกราคม-มิถุนายน 2566 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีจำนวนทั้งสิ้น 106 โครงการ มูลค่า 160,276.3 ล้านบาท ครอบคลุมกว่า 30 กิจการย่อย รวมถึงชิปในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น กิจการผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์ที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า กิจการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรม ได้แก่ power inverter, distribution transformer, main circuit breaker กิจการผลิต top cover หรือ base plate หรือ peripheral สำหรับ hard disk drive เป็นต้น เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีจำนวนทั้งสิ้น 108 โครงการ รวมเงินลงทุน 23,416.7 ล้านบาท