เศรษฐกิจสีเขียว ทางรอดจากภาวะโลกเดือด

เศรษฐกิจสีเขียว
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้เขียน : ดร.กิ่งกาญจน์ เกษศิริ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.

เมื่อไม่นานมานี้ องค์การสหประชาชาติได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยชี้ว่าโลกกำลังสิ้นสุดยุคโลกร้อนแล้ว และกำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือด (global boiling) จากสัญญาณที่ว่าเดือนกรกฎาคม 2566 มีช่วง 3 สัปดาห์ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการกระตุ้นให้ทุกประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ก่อนที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะกลายมาเป็นปัญหาเศรษฐกิจและการเงิน

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในโครงการ Business Liaison Program ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และโครงการ ธปท. สัญจรพบผู้ประกอบการ พบว่า ภาคการผลิตและธุรกิจขนส่งปรับตัวสู่กระแสเศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้นกว่าในอดีต

เนื่องจากเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าภาคอื่น ๆ รวมถึงคู่ค้าหลายประเทศเริ่มออกกฎหมายบังคับใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป

ซึ่งเป็นแรงกดดันให้ธุรกิจหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถแข่งขันได้ในตลาดยุโรป นอกจากนี้ ต้นทุนด้านเชื้อเพลิงและพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนดังกล่าวด้วย

ปัจจุบันหลายบริษัทประกาศเป้าหมายการ “ลดคาร์บอน” อย่างชัดเจน โดยเห็นการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และสร้างโรงงานที่ใช้พลังงานแบบผสมผสาน (hybrid power plant) ภายในอาคารและโรงงานมากขึ้น และในระยะข้างหน้า ภาคธุรกิจมีแนวโน้มจะลงทุนสร้างระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) เพิ่มเติม

หากต้นทุนแบตเตอรี่ถูกลง แต่บางแห่งพบอุปสรรคในการปรับตัว เช่น มีสัญญาซื้อไฟฟ้าระยะยาว ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนมาลงทุนพลังงานทางเลือกได้ทันที

สำหรับบางบริษัทที่ไม่ได้ลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ แต่มีความใส่ใจในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็เลือกซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะได้ใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC : Renewable Energy Certificate) สำหรับใช้เป็นหลักฐานเพื่อจัดทำรายงานความยั่งยืนและการจัดอันดับของบริษัทชั้นนำต่าง ๆ

นอกจากนี้ บางบริษัทเริ่มเก็บข้อมูล carbon credit ในกิจกรรมดำเนินงานเท่าที่ทำได้ เพราะเชื่อว่าในอนาคต คู่ค้าจะให้ความสำคัญมากขึ้น รวมถึงเริ่มใช้สินค้าและอุปกรณ์ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ชุดแต่งกายพนักงานที่ทำจาก
วัสดุรีไซเคิล เลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสินค้าพรีเมี่ยมสำหรับลูกค้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่อความยั่งยืนมักใช้เงินทุนสูงและใช้เวลานานกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน ทำให้เห็นเฉพาะธุรกิจการผลิตขนาดใหญ่ที่ปรับตัวอย่างจริงจัง ขณะที่ธุรกิจ SMEs ที่ฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 ช้ากว่าและมีเงินทุนน้อยกว่า ยังไม่พร้อมที่จะลงทุน ส่วนธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม ยังมองว่าไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน

เนื่องจากลูกค้ายังไม่พร้อมจ่ายค่าบริการที่สูงขึ้น หากโรงแรมเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมที่มีต้นทุนสูงกว่า แต่โรงแรมหลายแห่งก็เริ่มปรับตัวให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น คัดแยกขยะ รณรงค์ให้ลูกค้าไม่ต้องเปลี่ยนผ้าเช็ดตัวทุกวันเพื่อลดการใช้น้ำ เป็นต้น

เห็นได้ว่าหนึ่งในอุปสรรคสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว คือ “เงินทุน” เพราะแนวทางในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation)

เช่น การจัดทำฐานข้อมูล การเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีสีเขียว จำเป็นต้องใช้เงินทุนสูง ภาคการเงินจึงเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรเงินทุนแก่ภาคธุรกิจเพื่อลงทุนปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว แต่ปัจจุบันความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอาจแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน ทำให้การจัดสรรเงินทุนไม่ตรงจุดและไม่เพียงพอ

ดังนั้น ธปท.จึงกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) เพื่อให้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับใช้อ้างอิงและเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน สถาบันการเงินสามารถนำไปใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน และใช้ในกระบวนการประเมินความเสี่ยงเพื่อช่วยสนับสนุนธุรกิจไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น

การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องลงมืออย่างจริงจังและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกวันนี้เป็นผลที่สั่งสมมาจากในอดีต หากไม่เร่งปรับตัวและแก้ไขปัญหาตั้งแต่วันนี้

วิกฤตจะยิ่งรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต จนอาจถึงจุดที่ระบบนิเวศเลวร้ายลงจนแก้ไขไม่ได้ ภาครัฐควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดำเนินการเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และมีนโยบายควบคุมดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างชัดเจน ภาคธุรกิจต้องตระหนักถึงความสำคัญและเร่งด่วนของการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

ขณะเดียวกัน ภาคการเงินต้องพร้อมสนับสนุนเงินลงทุน เพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างทันการณ์ เพราะ “Doing business as usual is not an option” ในยุคโลกเดือดนี้