สินค้าจีนถล่มไทย 6 แสนล้าน สู้ไม่ไหว “เกรดต่ำ-ราคาถูก”

สินค้าจีน

สินค้าจีนถล่มไทยขาดดุล 6 แสนล้าน ครึ่งปีเพิ่มขึ้น เกินเท่าตัวในช่วงเวลา 4 ปี ส.อ.ท.ชำแหละ 20 สินค้าไทยอ่วมหนักถูกจีนดัมพ์ตลาด ลามสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ “เครื่องใช้ไฟฟ้าคุณภาพต่ำ” อันดับ 1 หวั่นสูญเสียหลายหมื่นล้าน เอสเอ็มอีไทยต้องปรับตัวด่วน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการหารือร่วมกับประธานกลุ่มอุตสาหกรรม ส.อ.ท. ทั้ง 45 กลุ่ม ถึงสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย พบปัญหาการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนมาตีตลาดในไทยจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต และทำให้ไทยเกิดปัญหาการขาดดุลการค้ากับจีนอย่างมากต่อเนื่องในช่วงหลายปี

โดยในผลการศึกษาพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนเข้ามาตีตลาด 20 กลุ่มอุตสาหกรรม แบ่งระดับความรุนแรงเป็น 2 ระดับคือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนเข้ามาตีตลาด ขยายตัวมากกว่า 10%

ได้แก่ เครื่องจักรกลโลหการ เครื่องจักรกลการเกษตร ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือแพทย์ เคมี แก้วและกระจก อาหารและเครื่องดื่ม เนื้อสัตว์ อัญมณีและเครื่องประดับ เยื่อและกระดาษ การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ไม้อัด ไม้บางฯ เซรามิก หัตกรรมสร้างสรรค์ หล่อโลหะ เหล็ก และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนเข้ามาตีตลาด การนำเข้าขยายตัว 5-10% คือ พลาสติกและปิโตรเคมี

เศรษฐกิจจีนทรุด ส่งสินค้าถล่มไทย

สาเหตุจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าจีน ขณะเดียวกัน ตลาดในประเทศจีนก็ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร แต่จีนยังคงรักษาระดับการผลิตสินค้าเท่าเดิม เพื่อให้ได้ปริมาณมากต้นทุนต่ำ ดังนั้น สินค้าที่ล้นจากกำลังการผลิตจึงถูกส่งมาที่ตลาดในอาเซียน รวมถึงไทย

สินค้าดังกล่าวมีราคาถูก เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของผู้ผลิตในไทย ซึ่งตลาดภายในของไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง กำลังซื้อลดลง ขณะที่ตลาดส่งออกของไทยชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน นี่จึงทำให้สินค้าจีนที่ขายไม่ออกเข้ามาซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรมไทย และทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้น

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศไทย-จีน ย้อนหลังไปถึงปี 2563-ปัจจุบัน พบว่าไทยมีปัญหาขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ขาดดุล 640,994 ล้านบาท จากการส่งออก 926,646 ล้านบาท นำเข้า 1,567,640 ล้านบาท ปี 2564 ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 954,194 ล้านบาท จากการส่งออก 1,173,761 ล้านบาท นำเข้า 2,127,955 ล้านบาท

และปี 2565 ขาดดุล 1,295,247 ล้านบาท จากการส่งออก 1,191,875 ล้านบาท นำเข้า 2,487,122 ล้านบาท และล่าสุดช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ขาดดุลไปแล้ว 603,197 ล้านบาท จากการส่งออก 603,092 ล้านบาท และนำเข้า 1,206,289 ล้านบาท ซึ่งการขาดดุลในรอบครึ่งปีนี้สูงเทียบเท่ากับปี 2563 ทั้งปี

ลามจัดซื้อจัดจ้าง

นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งดูแลสายงานมาตรฐานสินค้า เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ไม่ใช่เพียงมีปัญหาสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดในประเทศในระบบตลาดทั่วไปเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องสินค้าจีนที่ด้อยคุณภาพเข้าไปสวมสิทธิร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน

ประเมินความเสียหายประมาณหลายหมื่นล้านบาท เพราะไทยขาดความเข้มงวดในการกำกับดูแลเรื่องการนำเข้ายังไม่ทั่วถึง และมาตรฐานสินค้าแบบบังคับมีจำนวนน้อยเพียง 400 รายการ ยังไม่ครอบคลุมรายการสินค้านำเข้าทั้งหมด ขณะที่หากเทียบกันสินค้าไทยที่ส่งไปจีนจะถูกตรวจสอบและมีข้อกำหนดต่าง ๆ ละเอียดมาก ทั้งเรื่องการออกฉลากภาษาจีน ซึ่งเป็นมาตรการทางเทคนิคที่เป็นอุปสรรคทางการค้า (TBT)

“ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์เปิดตลาดลดภาษีให้สินค้าภายใต้ความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อให้มีสินค้าเข้ามามากขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือก แต่อีกด้านหนึ่งเรายังมีมาตรฐานบังคับน้อย มีเพียง 400 รายการ ทำให้สินค้าไม่มีมาตรฐานราคาถูกเข้ามาตีเอสเอ็มอีกระจุย ซึ่งเรื่องนี้เมื่อทัพหน้าไปเจรจาทัพหลังต้องตามให้ทัน”

นอกจากนี้ เรายังพบว่าการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเป็นทางหนึ่งที่ทำให้สินค้าจีนด้อยคุณภาพเข้ามามากขึ้น เพราะตามกฎระเบียบของไทยคือ หากนำเข้ามูลต่ำกว่าหมื่นบาทไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ผู้นำเข้าเหล่านี้ใช้วิธีแบ่งลอตเล็ก ๆ โดยมีบริษัทโลจิสติกส์จีนเข้ามาตั้งฐานในไทย อำนวยความสะดวกในการนำเข้าใช้วิธีแบ่งลอตเล็ก ๆ

ประเด็นนี้เอกชนได้มีการหารือกันถึงทางออก ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เช่น อาจมีการเพิ่มการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ระดับโรงงานผลิต และเป็นไปได้หรือไม่ ในการกำหนดเงื่อนไขว่าสินค้าที่จะนำเข้ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต้องผลิตในประเทศ โดยจะต้องกำหนดขนาดกำลังการผลิตด้วย

ชูคุณภาพ-บริการสู้สินค้าจีน

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการสินค้าจีนเข้ามาทุ่มตลาดใน 20 อุตสาหกรรมของเรา ซึ่งเรามีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตสูง

ทั้งค่าพลังงาน ค่าขนส่ง มีผลกระทบไปถึงเรื่องราคาสินค้า และยังมีต้นทุนทางการเงินอย่างดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นอีก ซึ่งต้องฝากรัฐให้หามาตรการเข้ามาช่วยเหลือ ทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีผ่านวิกฤตตรงนี้ไปได้

“สินค้าต่อสู้เรื่องราคา สินค้าจีนที่เข้ามาได้เปรียบ เอสเอ็มอีต้องปรับตัวต้องรวมกลุ่มกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง โดยข้อได้เปรียบคือสินค้าไทยมีเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน และด้านบริการของเรายังเป็นที่ไว้วางใจได้ สินค้าจีนที่นำเข้ามาหลาย ๆ แห่งพอพบปัญหาสินค้าชำรุดไม่สามารถจะไปเคลมได้ เพราะไม่รู้จะเคลมที่ไหน

“ส.อ.ท.และหน่วยงานภาครัฐ ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีหลายด้าน เช่น มีโครงการเอสเอ็มอีปังตังค์ได้คืน เอสเอ็มอีวันไอดี คลังให้คำปรึกษา ให้มีการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เข้าโครงการเมดอินไทยแลนด์ เข้าร่วมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จะได้เปรียบเรื่องการเสนอราคามีแต้มต่อ 10% และหากเป็นสมาชิกโครงการเราจะได้แต้มต่อออนท็อปไปอีก 5% ซึ่งจะมีส่วนทำให้สินค้าของผู้ผลิตเอสเอ็มอีสามารถเข้าไปแข่งขันได้ในตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ”

เครื่องไฟฟ้าจีนทะลัก

นายอเล็กซ์ มา รองประธานบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 มีกระแสบนตลาดออนไลน์ที่สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็กมีการเติบโตสูง สินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ราคาถูก ซึ่งอาจเป็นการนำเข้ามาแบบไม่เป็นทางการ และหลายตัวไม่มีมาตรฐาน มอก. บังคับ

ซึ่งประเด็นนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบด้านการใช้งาน ด้านคุณภาพ แต่หากไม่มีการควบคุมสินค้าเหล่านี้จะกลายเป็นขยะในประเทศไทยด้วย ซึ่งขณะนี้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ก็กำลังไล่คุมสินค้ากลุ่มนี้อยู่

“ในระยะยาว เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงขึ้น ก็จะกลับมาคำนึงถึงคุณภาพต่อเงินที่จ่าย และให้ความสำคัญกับความเชื่อมั่นในแบรนด์-บริการหลังการขาย การรับประกันมากขึ้น”