EEC ดึงออกใบอนุญาตนักลงทุน บูม “อู่ตะเภา” เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

อีอีซีEEC
แฟ้มภาพ

เลขาฯอีอีซีคนใหม่ “จุฬา สุขมานพ” ชู “อู่ตะเภา” เมืองการบินเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หวังเปลี่ยนเกมพลิกฟื้น EEC พร้อมปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ ดึง 44 ใบอนุญาตลงทุน ทั้งใบ รง.4 ใบอนุญาตพลังงาน ในพื้นที่ 3 จังหวัดมาออกเอง ประกาศเดินหน้าให้การส่งเสริมการลงทุนโดยคณะกรรมการ EEC เป็นครั้งแรก ด้วยการเลือกเจรจาให้สิทธิประโยชน์แบบตัวต่อตัว หวังเจาะตลาดดึงดูดการลงทุนโดยตรงใน 5 คลัสเตอร์ใหม่ แทน 12 อุตสาหกรรม S-curve เดิมเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนแบบ one stop service ดีเดย์ 1 ม.ค. 67

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งเป็นเวลา 5 เดือนนับจากเดือนมีนาคม 2566 ว่า ได้มีการวางนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC 3 จังหวัด (ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา) โดยจะส่งเสริมการลงทุนใน “อู่ตะเภา” ให้เป็นพื้นที่พิเศษในลักษณะ “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”

เพื่อให้เป็นตัวเปลี่ยนเกมในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพราะนักลงทุนที่บินลงที่นี่ เมื่อเข้าพื้นที่แล้วจะเป็นโซนปลอด VAT เป็นเมือง tax free ที่รัฐบาลจะยกเว้นภาษีให้ เพื่อจะดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ ที่ประเทศไทยไม่เคยมี อย่างเช่น ฟอร์มูล่าวัน หรืออุตสาหกรรมด้านความบันเทิงต่าง ๆ ในพื้นที่ 1 ตร.กม. เพื่อรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนและจับจ่ายใช้ชีวิตใน EEC

โดยโครงการอู่ตะเภาเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะเชื่อมโยงกับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ EEC ได้วางเอาไว้ ทั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบิน (MRO) ซึ่งจะมีความเพียบพร้อมทั้งสนามบิน เครื่องบิน ศูนย์ซ่อม และเกี่ยวข้องกับผู้โดยสารจำนวนมาก ในพื้นที่ขนาด 6,000 ไร่ ซึ่งจะเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาลงทุน โดยผ่านบริษัทอู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล หรือ VTA ซึ่งเป็นผู้รับสัญญาสัมปทานในการบริหารพื้นที่ระยะเวลา 45 ปี

จุฬา สุขมานพ
จุฬา สุขมานพ

4 โครงการโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับความคืบหน้าในการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 4 โครงการ มีความคืบหน้าตามลำดับ กล่าวคือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีงานในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของภาครัฐ กองทัพเรือ (ทร.) คือ การก่อสร้างรันเวย์เส้นที่ 2 อยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศเชิญชวนผู้รับจ้างงานก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) รวมไปถึงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 คลังสินค้า และเมืองการบิน (airport city) ด้วย

“โครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา ขณะนี้ได้มีความคืบหน้าในเรื่องการจัดหาวงเงินกู้ ในการพัฒนาโครงการคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้สัดส่วน 85% เงินงบประมาณ 15% จากนี้ทาง EEC จะเปิดประกวดราคาในการก่อสร้างรันเวย์และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ในเดือนกันยายน 2566 นี้ ต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างรันเวย์ 2 โดยทางกองทัพเรือไปแล้ว”

ส่วนโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 กับโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จัดเป็น 2 โครงการที่มีความคืบหน้ามากที่สุดท่าเรือแหลมฉบัง ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน ซึ่งล่าช้ามากว่า 2 ปีแล้ว โดยยังติดปัญหาในเรื่องการเจรจาโอนกรรมสิทธิ์พื้นที่ในส่วนของคู่สัญญาและเงื่อนไขในการชำระเงิน ซึ่งทาง EEC มีความเห็นว่า “ต้องการให้โครงการเสร็จทยอยวิ่งไปจ่ายไปเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในอดีต (โฮปเวลล์) ขณะที่เอกชนต้องการให้ก่อสร้างสร้างไปจ่ายไป”

รวบออก 44 ใบอนุญาตเอง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ EEC กำลังเร่งปรับการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่หลังจากโควิด-19 คลี่คลายไปแล้ว โดย EEC เตรียมวางระบบการออกใบอนุญาตแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) ในใบอนุญาต 44 ใบที่จะต้องใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งแต่ละใบอนุญาตนั้น ปัจจุบันมีหลากหลายหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ออกใบอนุญาตโดยเฉพาะ อาทิ ใบขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) จะมีกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม หรือใบขออนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งจะมี คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กำกับดูแล

ซึ่งทาง EEC กำลังหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำกับดูแลการออกใบอนุญาตเหล่านี้ เพื่อขอนำเรื่องนี้มาดำเนินการเบ็ดเสร็จที่ EEC เลย โดยจะลดขั้นตอนในการทำงานตั้งแต่การขออนุญาตไปจนถึงการก่อสร้างและการลงทุน รวมถึงการออก EEC VISA ให้กับนักลงทุนและครอบครัว ทั้งนี้กระบวนการออกใบอนญาตทั้ง 44 ใบ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2567

“ในส่วนนี้ไม่ใช่ EEC จะไปแย่งงานของหน่วยงานอื่น ๆ แต่เราอยากให้มองว่า EEC เป็นหน่วยงานหนึ่ง เปรียบเสมือนเป็นสาขาของ BOI ที่เข้ามากำกับดูแลเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัด ขณะที่ BOI ดูแลทั้งประเทศ ดังนั้น EEC ก็จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาในส่วนนี้ ส่วนค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ได้จากการออกใบอนุญาตก็จะส่งกลับไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตไม่มีค่าใช้จ่ายมากนัก” นายจุฬากล่าว

ในส่วนของสถานะของ EEC ปัจจุบันเป็นสำนักงานที่ได้รับงบประมาณประจำปีสนับสนุนประมาณปีละ 400-500 ล้านบาท จะมีบางปีที่ได้เงินในส่วนของ ค่าที่ดิน ส.ป.ก. ก็จะสูงประมาณ 1,000 ล้านบาท โดย EEC มีการตั้งกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการวงเงิน 200 ล้านบาท ในอนาคต EEC มองว่าจะมีโอกาสสร้างรายได้และอยู่ได้โดยลดภาระการใช้งบประมาณจากรัฐบาลลง

ปรับ S-Cuver เหลือ 5 Cluster

นอกจากการ “ดึง” ใบอนุญาตที่จะให้กับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ทั้ง 44 ใบเข้ามาดำเนินการเองแล้ว ในส่วนการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งเดิมทีจะดำเนินการผ่านทาง คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทางสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีแผนที่ให้การส่งเสริมการลงทุนเองด้วย ในประเด็นนี้ นายจุฬา เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า ภายใต้ พ.ร.บ. EEC สามารถให้การส่งเสริมการลงทุนด้วยการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยดำเนินการให้การส่งเสริมแม้แต่โครงการเดียว

“สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนตามรูปแบบนโยบายใหม่จะใช้วิธีการเจรจาแบบ “1 ต่อ 1” และให้สิทธิประโยชน์ในอุตสาหกรรมที่ต้องการดึงลงทุนโดยอาศัยหลักการเดียวกัน แต่อาจจะให้ “มากกว่า” BOI เป็นไปตามกรอบสิทธิประโยชน์กำหนดการ “ยกเว้น” ภาษี 15 ปี ขึ้นอยู่กับการเจรจา และเราจะจัด “โซนโปรโมชั่น” แนะนำพื้นที่เป้าหมายให้นักลงทุน ว่าโซนใดเหมาะสมกับการลงทุนอุตสาหกรรมใด โดยอิงจากความพร้อมในห่วงโซ่ซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมเป็นหลัก”

ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนใน EEC จำนวน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แบ่งเป็น S Curve 5 อุตสาหกรรม และ New S Cuver อีก 7 อุตสาหกรรมนั้น นายจุฬากล่าวว่า จากการลงพื้นที่สอบถามคนในชุมชนท้องถิ่น ปรากฏยังไม่มีความเข้าใจเรื่อง S Curve มากนัก ประกอบกับการทำงานด้านการส่งเสริมการลงทุนมีการกระจายเป็นหลายอุตสาหกรรมมากเกินไป

หากเทียบกับจำนวนบุคลากรที่มีอยู่ ดังนั้น EEC จึงมีการปรับโครงสร้างภายในใหม่ เพื่อให้สอดรับกับแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาฉบับใหม่ โดยจะทำการปรับ 12 อุตสาหกรรม S Curve รวมเข้ามาเป็น 5 Cluster หลักคือ การแพทย์ขั้นสูง, ดิจิทัล, ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), อุตสาหกรรม BCG และบริการ แต่จะมีบางอุตสาหกรรม S Curve ที่ปรับลดลงหรือหายไป เช่น อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อให้สอดรับกับบริบทการลงทุนในแต่ละช่วง

“การปรับจาก 12 S Curve มาเป็น 5 Cluster จะช่วยให้เราเข้าไปโฟกัสรายอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น จะมีการทำแผนส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้เข้ามาในพื้นที่ EEC อย่างเข้มข้นต่อไป โดยนโยบายใหม่ที่ EEC จะดำเนินการจะต้องเสนอต่อคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ชุดใหม่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก่อน” นายจุฬากล่าว

โรดโชว์ช่วงไตรมาสสุดท้าย

ส่วนคณะเดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศนั้น นายจุฬากล่าวว่า “โรดโชว์ดึงดูดการลงทุนก็จะปรับใหม่” โดย EEC จะเชิญภาคเอกชนไปร่วมด้วยในลักษณะของการเป็น “พาร์ตเนอร์” เช่น การเชิญนิคมอุตสาหกรรมร่วมไปกับคณะตามเป้าหมายการดึงดูดการลงทุนในพื้นที่นั้น ๆ โดย EEC จะจัดในลักษณะของบิสซิเนสแมตชิ่งให้ โดยจะเลือกประเทศและอุตสาหกรรมเป้าหมายแบบไม่หว่าน

“ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ เราเตรียมจะไปโรดโชว์ที่อินเดีย โดยประสานงานร่วมกับเอกอัครราชทูตอินเดียแล้ว ครั้งนี้มุ่งจะดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมที่อินเดียมีศักยภาพคือ ยากับไอที จากก่อนหน้านี้ที่เคยไปโรดโชว์แล้วในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีสิทธิบัตรยา ประเทศอิตาลีเป็นประเทศที่มีโรงงาน OEM ยา เพื่อให้ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมยาที่แข็งแกร่งได้ จากปัจจุบันไทยผลิตยาได้เองเพียง 18% นำเข้า 82% และในจำนวน 18% นี้ มีถึง 80% ที่ต้องใช้สารตั้งต้นจากการนำเข้า หากทำได้สามารถลดการพึ่งพายานำเข้าและจะเป็นโอกาสในการส่งออกในอนาคตได้ โดยยาถือเป็น Cluster การแพทย์ขั้นสูง”

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเดินทางไปประเทศจีนในอุตสาหกรรม EV ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น โดยในส่วนของจีนมีความแกร่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีผู้ผลิตจีนหลายรายเข้ามาประกาศลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย เช่น เกรทวอลล์ BYD และล่าสุดยังมี ฉางอัน แต่นอกเหนือไปจากนั้นเรายังมีการเจรจากับผู้ลงทุนที่เป็นผู้ผลิต “แบตเตอรี่ EV” รายใหม่ ๆ อีก 2-3 ราย ให้เข้ามาลงทุนใน EEV

“ในส่วนของแบตเตอรี่นี้มีผู้ที่เชี่ยวชาญหลากหลายแบบ มีทั้งค่ายรถที่เดิมเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ อย่าง BYD หรือบางรายทำรถยนต์ก่อนและกำลังจะขยายไปทำแบตเตอรี่ เช่น เกรทวอลล์ หรือผู้ที่ทำแบตเตอรี่เฉพาะเลย การดึงดูดการลงทุนเรื่องแบตเตอรี่ รวมถึงรีไซเคิลแบตเตอรี่จะมีส่วนสำคัญกับอุตสาหกรรม EV ในอนาคต”

อย่างไรก็ตามเพื่อให้มีการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีความ “จำเป็น” ที่จะต้องมีการวางโครงสร้างสำนักงานใหม่ โดยขณะนี้มีการลดจำนวนที่ปรึกษาที่มีอยู่เป็นจำนวนมากลงแล้ว และเตรียมจะตั้ง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกสาขา ขึ้นในพื้นที่ EEC เพื่อเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน เบื้องต้นกำลังพิจารณาตั้งสำนักงานสาขาในพื้นที่ของทางมหาวิทยาลัยบูรพาอยู่ รวมไปถึงการวางแนวทางรับบุคลากรเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการออกใบอนุญาตทั้ง 44 ใบด้วย