เปิดไทม์ไลน์เจรจา FTA รับนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
สัมภาษณ์พิเศษ

การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เป็นหนึ่งนโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1 ที่จะใช้เปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ ๆ สร้างรายได้กลับสู่ประเทศ โดยมุ่งขยายตลาดสินค้าและบริการของประเทศไทย อาทิ กลุ่มสหภาพยุโรป กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา อเมริกาใต้ ด้วยการเร่งเจรจากรอบความตกลงการค้าระหว่างประเทศ (FTA)

ซึ่งตามแผนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่จัดทำไว้โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการวางหมุดหมายไว้แล้วและพร้อมจะเดินหน้าเต็มที่

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่ได้รายงานแผนงานเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ต่อ “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยแผนที่รายงานประกอบไปด้วย กรอบความตกลง FTA ปัจจุบัน FTA ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งจะต้องรอแนวนโยบายของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ กนศ. โดยปกติแล้วนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานหรือมอบหมายให้รองนายกฯเป็นประธาน

เจรจา FTA 3 ฉบับ จบปี’67

ขณะนี้มี FTA จะปิดดีลในปีนี้ 1 ฉบับ คือ การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศในตะวันออกกลาง มีการเปิดเจรจาในปีนี้และกำลังจบในปีนี้ โดย FTA ฉบับนี้จะเป็นประตูการค้าสู่กลุ่มคาบสมุทรอ่าวอาหรับ (GCC) ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกปีแรกไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท ส่วน FTA ที่คาดว่าจะเจรจาจบในปี 2567 มี 2 ฉบับ ไทย-ศรีลังกา กับไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) ซึ่งกำลังจะมีการเจรจารอบ 6 ที่กรุงเทพฯ 12-15 กันยายน 2566 นี้

โดยมีคณะกรรมการเจรจาการค้า กำกับดูแลในภาพรวมและการประชุมกลุ่มย่อยของผู้เชี่ยวชาญ 11 คณะ ทั้งการค้าสินค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เดือน ต.ค. ประชุมกลุ่มย่อยอีก 2 คณะ ตั้งเป้าสรุปผลกลางปี 2567 ความตั้งใจภายในปีนี้ สำหรับ UAE มีความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดี หวังว่าสามารถปิดได้ตามเป้าหมาย โดยไทยจะได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาด ลดภาษีอย่างน้อย 90% และจะทยอยลดภาษีตามระยะเวลาที่ตกลงกันได้

ตั้งเป้าไทย-EU จบใน 2 ปี

นอกจากการเจรจา FTA สองฉบับแล้ว ยังมีการเจรจา FTA ไทย-อียู ซึ่งจะเริ่มการเจรจารอบแรกในวันที่ 18-22 กันยายนนี้ ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2 ปี ซึ่งไทย-อียูมีกำหนดเจรจาปีละ 3 รอบ เพราะอียูเป็นกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ 27 ประเทศ จะต้องมีการหารือกับสมาชิกในแต่ละประเทศก่อนก็จะใช้เวลา และอียูยังมีการเปิดเจรจากับหลายประเทศไม่ใช่แค่ไทยประเทศเดียวด้วย

ส่วนกรอบการเจรจาไทย-อียูจะมีประมาณ 19 กลุ่ม เราก็จะยกทีมไปหารือ แล้วก็แต่ละหน่วยงานก็จะมีการหารือแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะไม่เหมือนกัน บางกลุ่มอาจจะหารือการปฏิบัติ แต่ละฝ่ายที่ดำเนินการอยู่ว่ามีอะไรเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นการเจรจารอบแรกก็อาจจะมีการคุยว่ามีการครอบคลุมแค่ไหน ซึ่งจะได้เห็นภาพชัดขึ้น

สำหรับกลุ่มย่อย 19 คณะ ประกอบด้วย 1) การค้าสินค้า 2) กฎถิ่นกำเนิดสินค้า 3) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4) มาตรการเยียวยาทางการค้า 5) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) 6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) 7) การค้าบริการและการลงทุน 8) การค้าดิจิทัล 9) ทรัพย์สินทางปัญญา 10) การแข่งขันและการอุดหนุน

11) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 13) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 14) รัฐวิสาหกิจ 15) พลังงานและวัตถุดิบ 16) ระบบอาหารที่ยั่งยืน 17) ความโปร่งใสและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ 18) การระงับข้อพิพาท และ 19) บทบัญญัติเบื้องต้น บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติสุดท้าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน และข้อยกเว้น ซึ่งหากทำ FTA ไทย-อียูสำเร็จก็จะดัน GDP ไทย เพิ่ม 1.28% ต่อปี ส่งออกเพิ่ม 2.83% ดึงการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มจ้างงาน และสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในตลาดอียู

สนใจ FTA เกาหลี-Mercosur

ขณะเดียวกันประเทศไทยยังมีแผนเตรียมเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ โดยล่าสุดเพิ่งจะเดินทางไป เกาหลีใต้ ที่ให้ความสนใจที่จะทำ FTA ซึ่งกรมเจรจาฯได้เรียนให้กับรัฐมนตรีทราบว่า สามารถเปิดเจรจาได้ และก็ยังมีประเทศอื่นที่เปิดตลาดใหม่ เช่น ละตินอเมริกา ซึ่งศึกษาจะจบแล้วและมี กลุ่ม Mercosur หรือกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้ มีสมาชิก 4 ประเทศ คือ บราซิล, อาร์เจนตินา, อุรุกวัย และปารากวัย เป็นตลาดใหม่มาแทน นอกจากนี้ยังมี สหราชอาณาจักร (UK) หลังแยกตัวมาจากอียู ซึ่งทาง UK อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการเจรจากับประเทศที่เคยเปิด FTA ด้วยในสมัยอยู่ในอียู ซึ่งอาจใช้เวลาสักระยะหนึ่ง

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ทีมเจรจาสามารถเดินหน้าเจรจาได้เต็มที่ เจ้าหน้าที่ทำงานล้นมือพอสมควร เพราะนอกจากที่เจรจาค้างอยู่ในระดับทวิภาคีแล้วก็ยังมีความตกลงที่จะเปิดใหม่ในกลุ่มอาเซียนด้วย เช่น อาเซียน-อาเซียน รวมถึงการเจรจาอัพเกรดในกรอบอาเซียน-จีน อาเซียน-ออสเตรเลีย

ดันตั้งกองทุน FTA

ในอีกด้านหนึ่งไม่ใช่เพียงการขยายตลาดการค้าเสรีเท่านั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ยกร่างกองทุน FTA ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก ได้มีการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปแล้ว ตอนนี้ทำการบ้านยกร่างกฎหมายลูก ส่วนที่ยากคือเรื่องเงินสมทบกองทุน ซึ่งเท่าที่หารือกับผู้เกี่ยวข้องมีหลายแนวทาง โดยส่วนแรกจะมาจากงบประมาณ เบื้องต้นประมาณ 5,000 ล้านบาท และส่วนที่ 2 มาจากแหล่งอื่น ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการหาข้อสรุป

โดยจะเป็นโมเดลที่มีการเสนอ ใครได้ประโยชน์จาก FTA ก็ให้เก็บจากคนนั้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการกำหนดกลไกที่มีความเหมาะสมกับทุกฝ่าย เช่น การเก็บจากค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตหรืออาจจะแนวทางอื่น เพราะหากอนาคตออกใบรับรองด้วยเอกสารในระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่จะต้องไม่เป็นแนวทางที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปเสนอกระทรวง เพื่อให้ความเห็นชอบเสนอคณะรัฐมนตรี และเข้าสู่กระบวนการยกร่างกฎหมายต่อไป

เราตั้งใจทำเรื่องนี้ มีผู้ที่เรียกร้องให้มีการเยียวยาช่วยเหลือกลไกยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ทุกคนอยากให้มีกองทุน FTA เข้ามาช่วยดูแลเรื่องผลกระทบ แต่ระหว่างที่ดำเนินการยกร่างกฎหมาย ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA สามารถขอใช้โครงการกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือกองทุน FTA โดยกรมการค้าต่างประเทศก่อน หากเป็นสินค้าเกษตรก็สามารถใช้ กองทุนกระทรวงเกษตรฯได้อีกทาง นอกจากนี้ยังมีกองทุนอื่น ๆ ที่มีอีกหลายกองทุน เช่น กองทุนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือของกองทุน FTA นี้สามารถช่วยเหลือด้านเม็ดเงิน หรือเรื่องการฝึกอบรม ไปสร้างโรงเรือนได้ ทำวิจัยได้ เป็นต้น

เทียบโมเดลเพื่อนบ้าน

จากการศึกษาโมเดลประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม ที่เราศึกษาหรืออีกหลาย ๆ ประเทศ แต่ละประเทศจะมีเรื่องกลไกในการช่วยเหลือ ตลอดจนมีงบประมาณ ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ฟันดิ้ง มีหลากหลายรูปแบบ บางประเทศมี การศึกษามีโมเดลจากเพื่อนบ้าน ซึ่งเราก็มีการศึกษาเหมือนกัน โดยกรมมีความตั้งใจในการยกร่างกฎหมายกองทุนและนำเสนอเพราะมีคนเรียกร้องว่า รัฐบาลควรมีเรื่องของการเยียวยาช่วยเหลือ เดิมมีโครงการช่วยเหลือ แต่ยังอาจจะไม่ยั่งยืน ต้องการให้มีกลไกที่มีความยั่งยืน จึงทำการบ้านเรื่องนี้ขึ้นมา การจัดตั้งเป็นกองทุนซึ่งจะมีความยั่งยืน ซึ่งต่อไปอาจต้องหารือกับท่านรัฐมนตรี ว่ากลไกที่เหมาะสมควรเป็นรูปแบบใด

เตรียมพร้อม CBAM

ส่วนประเด็นสำคัญอีกด้านหนึ่ง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมเรื่องมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) ของสหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดว่า ผู้ผลิตและส่งออกสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า, อะลูมิเนียม, ซีเมนต์, ปุ๋ย, ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ต้องแจ้งปริมาณสินค้าที่นำเข้ามาในอียู และปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้านั้น ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2566-31 ธ.ค. 2568

โดยเรื่องนี้เราเตรียมอยู่เพื่อจะดูว่า ตอนหารือกับอียูดูในรายละเอียดของการบังคับใช้ว่าเป็นอย่างไร ให้เห็นภาพมากขึ้นว่า วิธีการรายงานการปลดปล่อยคาร์บอนที่จะดำเนินการออกไปนั้น ถือความเข้าใจตรงกับอียูหรือไม่ และมีบางอย่างที่เราคิดว่าเราในฐานะประเทศกำลังพัฒนา ทางผู้ประกอบการมองว่า อียูมีการสนับสนุนหรือมีเครื่องมือช่วยเหลืออะไรประเทศที่กำลังพัฒนาได้บ้าง ซึ่งก็จะนำไปหารือกับอียูในลำดับต่อไป

เช่นเดียวกับเรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU) มีคณะกรรมการแห่งชาติ ซึ่งอาจจะต้องไปสอบถามทางฝั่งนั้น โดยที่ผ่านมาทางด้านกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ดำเนินการโดยตรง แต่ก็ไม่สนับสนุนให้จับปลาผิดกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้มีการดำเนินการแก้ไขมาตลอดทั้งใน ความตกลงองค์การการค้าโลก ( WTO) มีเรื่องสนับสนุนเรื่องการประมง ซึ่งกำหนดว่าจะไม่สนับสนุนการจับปลาที่ผิดกฎหมาย และไทยทำได้อยู่แล้วก็ไม่น่าเป็นห่วง ถ้าหากจะมีการเจรจาประเด็นนี้ หรือจะนำมาอยู่ในถ้อยคำ FTA ถ้ายึดตามถ้อยคำ WTO ก็ไม่น่ากังวล