ผู้เลี้ยงสุกรร้องหมูล้นตลาด กดดันราคาตลาดดิ่ง ชงพิกบอร์ดประชุม 20 ก.ย.นี้ เร่งแก้ปัญหาราคาหมูตกต่ำ จี้ต้องหาทางลดต้นทุนอาหารสัตว์ราคาแพง ส่งออก เสนอตัดวงจรลูกสุกรไปทำหมูหัน ขอความร่วมมือผู้เลี้ยงรายใหญ่ ปลดแม่พันธุ์หมู ช่วยรายย่อยเดี้ยง ขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มขายกัน 60 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 80 บาท ขายขาดทุนตัวละ 2,000-3,000 บาท
นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 20 กันยายน 2566 จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ซึ่งมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ทางสมาคมจะหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาราคาหมูตกต่ำ
เนื่องจากปริมาณหมูในประเทศไทยล้นตลาด มีจำนวนหมูมีมากกว่ากำลังการบริโภค ประกอบกับหมูเถื่อนที่ยังเข้ามาซ้ำเติมในระบบ โดยมีข้อเสนอ 1.ภาครัฐจะมีแนวทางอย่างไรที่จะช่วยให้ต้นทุนอาหารสัตว์ถูกลง โดยปัจจุบันหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มขายได้ราคา 60 บาท/กก. แต่ต้นทุนอยู่ที่ 80 บาท ซึ่งอาหารสัตว์ เป็นต้นทุนหลักของการเลี้ยง 2.เรื่องปริมาณหมูล้นตลาดต้องวางแนวทางแก้ไขระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งในทางปฏิบัติการแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการส่งออก
ส่วนแผนระยะกลาง เสนอให้ตัดวงจรลูกสุกร แบ่งเป็น 2 แนวทางระหว่าง 1) คลอดออกมาแล้วเชือดทันที 2) เลี้ยงลูกสุกรไป 10 สัปดาห์จนได้น้ำหนักประมาณ 7 กก. นำไปทำหมูหันซึ่งแผนระยะกลางจะเห็นผลภายในระยะเวลา 5-6 เดือนข้างหน้า และแผนระยะยาวเสนอขอความร่วมมือผู้เลี้ยงรายกลางและรายใหญ่ ที่มีแม่หมูตั้งแต่ 1,000 แม่ขึ้นไป ให้มีการปลดแม่พันธุ์หมู เนื่องจากราคาหมูมีชีวิตที่ขายในท้องตลาด ประมาณ 60-62 บาท/กก. ผู้เลี้ยงขาดทุนตัวละ 2,000-3,000 บาท
ทั้งนี้ ในส่วนของแผนระยะสั้นที่จะส่งออกในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เพราะราคาต้นทุนการเลี้ยงของไทยสูงกว่าประเทศใดในโลก ราคาอาหารสัตว์ของไทยแพงมาก ถือเป็นเรื่องใหญ่สุดตอนนี้ที่ภาครัฐต้องเข้ามาแก้ไข ส่วนแผนระยะกลางที่เสนอให้ตัดวงจรลูกหมูเข้าขุนใหม่ เพราะปัจจุบันคนเลี้ยงแม่พันธุ์หมู เพื่อขายลูกหมูก็ขาดทุน เพราะต้นทุนลูกหมูอยู่ที่ตัวละ 1,000 บาท แต่ขายได้เพียง 1,200 บาท/ตัว ขาดทุนตัวละ 600-700 บาท
ถ้าเลี้ยงเป็นหมูขุน ก็ขาดทุนตัวละ 2,000-3,000 บาท ส่วนประเด็นเรื่องการปลดแม่พันธุ์หมู ที่ผ่านมาได้มีการหารือในที่ประชุมสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยมีผู้เลี้ยง 20 รายใหญ่ของประเทศไทยเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ ซึ่งปัจจุบันทั้งระบบมีแม่หมูประมาณ 940,000 ตัว เบื้องต้นจะให้ผู้เลี้ยงที่มีแม่หมูตั้งแต่ 1,000 แม่ขึ้นไปปลดแม่หมูประมาณ 5-10% แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องรูปแบบการปลด
“วันนี้เกิดโอเวอร์ซัพพลาย หมูล้นตลาด ทั้งที่ก่อนเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ระบาด ประเทศไทยมีแม่พันธุ์หมู 1.2 ล้านแม่ แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีแม่พันธุ์หมูเพียงประมาณ 940,000 แม่ แม้ปริมาณการเลี้ยงหมูจะน้อยกว่าก่อนเกิด ASF
แต่ปัญหาล้นตลาดเพราะคนกินน้อยลง และหมูเถื่อนที่เพิ่มเข้ามา ทำให้ระบบตลาดป่วน และบีบให้หมูมีชีวิตที่เลี้ยงกันอยู่ ถูกกดราคา สมาคมผู้เลี้ยงฯจึงอยากให้พิกบอร์ดและรัฐบาลหาแนวทางที่จะช่วยผู้เลี้ยง ขณะเดียวกันก็เข้าใจว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นผู้เลี้ยงรายใหญ่ก็ต้องช่วยผู้เลี้ยงรายย่อยด้วย” นายพิพัฒน์กล่าวและว่า
ปัจจุบันหมูเถื่อนหรือหมูกล่องยังคงมีอยู่ในท้องตลาด และกดดันให้ราคาหมูต่ำลง เห็นได้จากการประกาศขายผ่านเพจต่าง ๆ กันอย่างไม่กลัวกฎหมาย โดยราคาหมูเนื้อแดงประกาศขายกัน 70 บาทต่อ กก. ขณะที่คนเลี้ยงหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มขายกัน 60 บาทต่อ กก. ยังต้องมีต้นทุนเข้าโรงเชือด ค่าขนส่งต่าง ๆ อีกมากมาย ทำให้สู้กันยาก แต่ก็ยอมรับว่า ช่วงที่่ผ่านมาการกดดันของผู้เลี้ยงหมูให้ภาครัฐดำเนินการเข้มงวดในการสกัดหมูเถื่อนก็มีผลให้การลักลอบนำเข้าลดลงบ้าง
รายงานข่าวจากกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สำหรับวาระการประชุมพิกบอร์ดจะมีการพิจารณา 1.สถานการณ์การผลิตการตลาดสุกรในปัจจุบัน 2.ต้นทุนการผลิตสุกร 3.การวิเคราะห์การตลาดและการผลิตสุกร 4.การรักษาเสถียรภาพราคาสุกร เช่น โครงการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้เลี้ยงสุกร, โครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร โดยการสนับสนุนค่าส่วนต่างในการส่งออกสุกรมีชีวิต, การต่อยอดระบบฐานข้อมูล big data และขยายขอบเขตการใช้งานสู่สาธารณะ เป็นต้น