ธรรมนัส รมว.เกษตรฯ ลุยพัฒนาบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เป็นแหล่งเก็บน้ำฤดูแล้ง 

ธรรมนัส รมว.เกษตรฯ ลุยขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เน้นย้ำต้องทำงานแบบบูรณาการ หวังเป็นแหล่งน้ำสำคัญในการเก็บกักน้ำในฤดูน้ำแล้ง และเป็นแหล่งหน่วงน้ำใช้ช่วงฤดูน้ำหลากก่อนไหลลงแม่น้ำสายหลัก 

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามแผนพัฒนาบึงบอระเพ็ดและการเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยแล้ง เอลนีโญ พร้อมพบปะราษฎรและรับฟังปัญหาด้านการเกษตร ณ บึงบอระเพ็ด ต.พระนอน อ.เมือง จ.นครสวรรค์

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

โดยให้แนวทางการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติมว่าต้องการพัฒนาให้บึงบอระเพ็ดสามารถเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยการเพิ่มพื้นที่ในการขุดลอกบึงบอระเพ็ดให้มากขึ้น รวมทั้งขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ ตามข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในฤดูน้ำแล้ง และเป็นแหล่งหน่วงน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากก่อนไหลลงแม่น้ำสายหลัก โดยได้มีการประสานกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน มีแผนพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 บริหารจัดการ/การเข้าใช้ประโยชน์ ด้านที่ 2 การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ด้านที่ 3 คุณภาพตะกอน และรักษาระบบนิเวศ และด้านที่ 4 การจัดการน้ำท่วม บรรเทาอุทกภัย

Advertisment

บึงบอระเพ็ด

“พื้นที่ดังกล่าวยังไม่เคยมีการพัฒนาอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ในการดูแลซ้ำซ้อนกัน ระหว่างจังหวัดนครสวรรค์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงต้องการลงมาขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวด้วยตัวเองอย่างจริงจัง โดยเน้นย้ำว่าทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรและประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์มากที่สุด” ร้อยเอกธรรมนัสกล่าว

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาตะเพียนทอง ขนาด 7 ชม. จำนวน 200,000 ตัว กุ้งก้ามกราม ขนาด 2-3 ซม. ขนาด 200,000 ตัว ปลาตะเพียนวัยอ่อน 2,000,000 ตัว (ปล่อยแบบ mobile hatcherry) และปลาชะโอนขนาด 5-10 ซม. จำนวน 500 ตัว พร้อมแจกเอกสารสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) จำนวน 20 รายด้วย

บึงบอระเพ็ด

Advertisment

ลุยต่อ จ.กำแพงเพชร ในวันเดียวกันนี้ ร้อยเอกธรรมนัสลงพื้นที่ติดตาม และตรวจดูสภาพความเสียหายของฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง (ฝายวังบัว) ณ ฝายวังบัว อ.เมือง จ.กำแพงเพชร

โดยในช่วงวันที่ 28-29 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา มีร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ
จากเหตุการณ์ข้างต้น

ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงเพิ่มสูงขึ้น โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำท่า P.7A ที่อำเภอเมืองกำแพงเพชร สูงสุดอยู่ที่ 589.2 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ปรากฏว่าฝ่ายชั่วคราววังบัวถูกกระแสน้ำกัดเซาะจากลาดด้านท้ายขึ้นมาถึงสันฝาย เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ได้รับความเสียหายไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลให้ฝายชั่วคราววังบัวขาด กว้างประมาณ 50 เมตร โดยปัจจุบันระดับน้ำหน้าฝายชั่วคราวได้ลดลงต่ำกว่าระดับสันฝาย ประมาณ 3.00 เมตร

จากการตรวจสอบในเบื้องต้นปรากฏว่าปริมาณน้ำที่ผ่านสถานีวัดน้ำท่า P.7A มีอัตราการไหลทรงตัวอยู่ที่ 575.40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่ตกท้ายเขื่อนภูมิพล และน้ำหลากจากแม่น้ำวังที่กำลังไหลลงมารวมกับแม่น้ำปิงที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก บริเวณท้ายเขื่อนภูมิพล

“ซึ่งผลกระทบจากฝายชั่วคราววังบัวที่ขาดในครั้งนี้ จะมีผลกระทบกับพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว ทั้งจังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดพิจิตร ได้แก่ พื้นที่เพาะปลูกข้าว ประมาณ 425,000 ไร่ อ้อยประมาณ 256,000 ไร่ และไม้ผลไม้ยืนต้นอื่น ๆ ประมาณ 40,000 ไร่”
ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า

จะมอบหมายให้สำนักงานชลประทานที่ 4 แก้ไขปัญหาแบบเร่งด่วนโดยการนำหินขนาดใหญ่มาซ่อมแซมทันที เพื่อให้ปริมาณในแม่น้ำปิงนั้นสูงขึ้น และดันน้ำไปยังลำน้ำสาขาให้หล่อเลี้ยงพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชร และให้ทางกรมชลประทานเร่งศึกษาแผนการทำอาคารบังคับน้ำฝายวังบัว เพื่อในอนาคตจะเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนในจังหวัดอีกด้วย

หารือชาวไร่อ้อยต่อ

พร้อมกับนี้ได้เดินทางลงพื้นที่ต่อเนื่องไปพบปะพี่น้องเกษตรกรสมาชิกสมาคมชาวไร่อ้อย เพื่อรับฟังข้อเสนอ ปัญหา อุปสรรค หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ณ สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 กำแพงเพชร ว่า จังหวัดกำแพงเพชร มีทําเลที่ตั้งที่มีศักยภาพเหมาะสมกับการเกษตร

โดยมีแม่น้ำต้นทุนสายหลักคือแม่น้ำปิง ไหลผ่านจังหวัด 104 กิโลเมตร มีพื้นที่ชลประทาน 1.45 ล้านไร่ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม รวมทั้งมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และมีกล้วยไข่ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดด้วย

นอกจากนี้ ในเรื่องปัญหาของพี่น้องเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแหล่งน้ำ ที่ดินทำกิน เรื่องราคาสินค้าเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น และปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อย ทางกระทรวงเกษตรฯได้รับทราบและพร้อมทำงาน จัดทำแผนการดำเนินงานอย่างเร่งด่วน เพื่อยกระดับภาคการเกษตรในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญที่ในการพัฒนาศักยภาพเกษตรปลอดภัย สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี

ในโอกาสนี้ รมว.เกษตรฯ ยังได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) เอกสารการทําประโยชน์ และการปรับปรุงบํารุงดิน ข้าวสาร ถุงยังชีพ พันธ์ุปลา และพันธ์ุพืชผักให้แก่พี่น้องเกษตรกร