ระหว่างบรรทัดกฎเกณฑ์รับสมัคร และกำกับดูแล Virtual Bank (3)

ระหว่างบรรทัดกฎเกณฑ์รับสมัคร และกำกับดูแล Virtual Bank (3)
คอลัมน์ : ชวนคิดชวนคุย
ผู้เขียน : ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย 
เจ้าของเพจ Narun on Fintech Law

ประเด็นที่ควรพิจารณาต่อเนื่องจากเรื่องการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน คือ การสร้างนวัตกรรมทางการเงินจากการให้บริการของ Virtual Bank หากวิเคราะห์จากทฤษฎีด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ซึ่งเสนอแนวคิดการกำเนิดของนวัตกรรมในระบบการเงินการธนาคารว่าอาจเกิดได้จากปัจจัยแวดล้อม 2 ปัจจัยเป็นหลัก ดังนี้

ปัจจัยแรก นวัตกรรมอาจเกิดจากความต้องการของตลาด (Demand-sided Innovation) กล่าวคือ “ผู้ใช้บริการ” ไม่ว่าจะเป็น ผู้ฝากเงิน ผู้ขอสินเชื่อ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ กับระบบการธนาคาร อาจกำลังประสบปัญหาหรือมีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งเป็นประเด็นที่ ธปท. ต้องการแก้ไขปัญหาตามที่ได้นำเสนอให้เห็นในประเด็นก่อนหน้า

ดังนั้น นวัตกรรมที่เกิดจากการผลักดันของอุปสงค์อาจจะสามารถเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของธนาคารพาณิชย์ที่ไม่สามารถคิดคำนวณความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อให้แก่บุคคลเพื่อการดำรงชีพ หรือเพื่อการประกอบอาชีพได้บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อได้อย่างครบถ้วน จึงจำเป็นต้องตั้งเงื่อนไขในการขอสินเชื่อให้ผู้ขอสินเชื่อมีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่มีมูลค่าสูงกว่าหรือผู้ค้ำประกันที่ยินยอมค้ำประกันมูลหนี้หรือกรอบวงเงินสินเชื่อที่จะขอ ซึ่งทำให้กลุ่มลูกค้าที่ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน หรือไม่มีบุคคลค้ำประกัน ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบการธนาคารได้ (กล่าวคือ เป็นการแก้ปัญหากลุ่ม Unserved)

นอกจากนั้น ความคาดหวังของการเปิดให้มีใบอนุญาตประเภท Virtual Bank เข้ามาอาจจะช่วยให้เกิดแนวทางในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มลูกค้าชายขอบประเภท Underserved ที่กำลังประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงบริการผ่านอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชั่นซึ่งในปัจจุบันสถาบันการเงินเกือบทุกแห่งมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงิน

ปัจจัยที่สอง นวัตกรรมทางการเงินอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากปัจจัยด้านอุปสงค์ในตลาด และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจออกแบบ นำเสนอ หรือกำหนดแนวทางการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน (Supply-sided Innovation)

Advertisment

การบังคับใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักประเภทนี้ที่ส่งผลต่อผู้เล่นในตลาดที่ต้องการลดต้นทุนด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance Costs) ให้ได้มากที่สุด บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายบริการในระบบการเงินที่พัฒนาแล้วมักเกิดจากแรงผลักดันด้านกฎหมาย

ตัวอย่างของการพัฒนาการเงินการธนาคารในต่างประเทศที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายกำกับดูแล ได้แก่ การพัฒนาของตลาดอนุพันธ์และตลาดสัญญาแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (International Derivatives and Swaps Market) มีที่มาจากการแก้ไขกฎหมายกำกับดูแลสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสหรัฐอเมริกา กำหนดให้ตราสารอนุพันธ์และสัญญาแลกเปลี่ยนบางประเภทไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับดูแลการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า (Commodity Futures Trading Commission-CFTC) ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งสมาคมตราสาร
อนุพันธ์และสัญญาแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (International Swaps and Derivatives Association-ISDA) เป็นองค์กรเอกชนทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและแบบสัญญากลางของตลาดดังกล่าวจนได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายทั่วโลก

หากพิจารณาร่างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลอาจมีข้อสังเกตว่า ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องการให้การพัฒนานวัตกรรมเป็นไปอย่าง “ค่อยเป็นค่อยไป” มากกว่าการกระตุ้นให้เกิดการอุบัติใหม่ของระบบการธนาคารของไทย ประการแรก Virtual Bank ยังอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดการกำกับดูแลเดียวกับการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน และยังต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเพิ่มเติมในด้านต่าง ๆ อีก เช่น การกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินและโครงสร้างการถือหุ้น การกำกับดูแลด้านช่องทางการให้บริการและการดูแลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่รองรับการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล

เนื่องจากการกำกับดูแลเพิ่มเติมต่าง ๆ ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้การประกอบธุรกิจของ Virtual Bank “ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน หรือสร้างความเสียหายอันจะมีผลกระทบกระเทือนต่อความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน ผู้ใช้บริการ และประชาชนที่มีต่อระบบสถาบันการเงิน”

Advertisment

ดังนั้น แนวทางในการพิจารณาว่า บริการ ผลิตภัณฑ์ หรือแนวทางการประกอบธุรกิจใหม่ที่ควรได้รับอนุมัติให้เสนอขายหรือปรับใช้เพื่อดำเนินการของ Virtual Bank ได้นั้น ต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็น บริการ ผลิตภัณฑ์ หรือแนวทางการประกอบธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินในระดับต่ำ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ต้องสามารถคำนวณความเสี่ยงที่อาจเกิดปัญหาหรือวิกฤตทางการเงินจากการเสนอขายหรือให้บริการดังกล่าวได้ (Known Risks)

แนวทางในการกำกับดูแลนี้ อาจจะทำให้ Virtual Bank ไม่สามารถนำนวัตกรรมทางการเงินในลักษณะอุบัติใหม่ (Disruptive Technology) ที่ยังไม่ทราบถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพทางการเงินและอาจส่งผลกระทบในเชิงโครงสร้างต่อระบบการธนาคารของไทยได้ (Uncertainty)

ประเด็นนี้จะเห็นได้จากการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการกำกับดูแล Virtual Bank เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ธปท.อาจยินยอมให้ Virtual Bank ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวเนื่องหรือจำเป็นต่อธุรกิจการธนาคาร และต้องเป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยเท่านั้น

และคาดว่าจะยังไม่เปิดโอกาสให้ Virtual Bank ให้บริการทางการเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลนอกกรอบที่กฎหมายดังกล่าว เช่น การให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลโดยให้ผลตอบแทน การให้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของเครือข่ายสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภท Staking) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสินทรัพย์อ้างอิง เป็นต้น

นอกจากนั้น ข้อ 6 (7) ของประกาศหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาตและการอนุญาตฯ ยังกำหนดเพิ่มเติมอีกว่า ผู้สมัครขอรับใบอนุญาตแสดงรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีนัยต่อความสำเร็จ รวมทั้งข้อมูลประกอบที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถือหุ้นแต่ละรายจะสนับสนุนการประกอบธุรกิจของ Virtual Bank ได้อย่างไร

และเมื่อผู้สมัครได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เริ่มดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อประกอบธุรกิจ Virtual Bank แล้ว หนึ่งในหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติตามก่อนเพื่อให้ผ่านการประเมินความพร้อมจาก ธปท. คือ ต้องดำรงทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท และแสดงให้เห็นถึงแนวทางในการจัดให้มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท เมื่อพ้นระยะแรกของการประกอบธุรกิจ (ข้อ 9 (5))